นักวิจัย สกว.ชี้ 10 พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ระบุเหตุวันที่ 25 เม.ษ.ในเมืองเนปาลซ้ำรอยเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 182 ปีก่อน และอยู่ในย่านแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่ค่อนข้างจะแอคทีฟเหมือนที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย พร้อมแนะไทยเองควรรับมือแผ่นดินไหววงกว้าง
กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยในชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในทางวิชาการแล้วแผ่นดินไหวที่เนปาลไม่เกี่ยวข้องกันกับประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอีกที่ซึ่งห่างไกลกันนับพันกิโลเมตรได้ แต่ยังพอเป็นไปได้สำหรับแผ่นดินไหวมากกว่า 7.0 ที่จะส่งผลต่อพื้นที่ระยะใกล้ระดับ 100 กิโลเมตร
ทั้งนี้ แผ่นดินไหวในโซนเทือกเขาหิมาลัยนั้นมีการคาดการณ์ล่วงหน้ามานานแล้วว่าน่าจะเกิดขึ้น โดยจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในผลงานตีพิมพ์ของ Bilham พบว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ษ.ที่ผ่านมานั้นมีขนาดและตำแหน่งตรงกันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดเมื่อ ค.ศ.1833 ขนาด 7.4 แมกนิจูด จึงอาจจะเหมือนกับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำรอยเดิมเมื่อ 182 ปีที่แล้ว
"แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 25 เม.ษ.ที่ผ่านมานั้นน่าจะเกิดคนละโซนกับเมื่อปี ค.ศ. 1934 เมื่อ 81 ปีที่แล้ว สิ่งที่บ่งชี้ว่าเมื่อปี ค.ศ. 1833 นั้นเคยเกิดแผ่นดินไหวก็คือ หอคอยธาราฮารา ซึ่งเป็นหอคอยขนาดใหญ่ใจกลางเมืองกาฐมาณฑุที่พังถล่มมาจากทั้งสามเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1833, 1934 และ 2015" ดร.ธีรพันธ์ระบุ
กรณีแผ่นดินไหวของเนปาล ดร.ธีรพันธ์ระบุว่าน่าจะเป็นกรณีบ่งชี้ถึง แนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกในย่านนี้ที่ค่อนข้างจะแอคทีฟ คือมีการสะสมพลังงานและปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องนับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในย่านนี้โดยเรียงตามปีที่เกิด คือ
1.เกาะสุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย ค.ศ.2004 (9.2 แมกนิจูด)
2.เกาะนีอาส อินโดนีเซีย ค.ศ.2005 และ 2007 (8.7 และ 8.5 แมกนิจูด)
3.เมืองเหวินฉวน จีน ค.ศ.2008 (7.9 แมกนิจูด)
4.หมู่เกาะอันดามัน อินเดีย ค.ศ.2009 (7.5 แมกนิจูด)
5.มัณฑะเลย์ เมียนมาร์ ค.ศ.2011 (6.8 แมกนิจูด)
6.เมืองชเวโบ เมียนมาร์ ค.ศ.2012 (6.8 แมกนิจูด)
7.มหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย ค.ศ.2012 (8.2 และ 8.6 แมกนิจูด)
8.มณฑลเสฉวน จีน ค.ศ.2013 ( 6.6 แมกนิจูด)
9.แม่ลาว จ.เชียงราย ค.ศ.2014 (6.1 แมกนิจูด)
10.เนปาล ค.ศ.2015 (7.9 แมกนิจูด)
“เราไม่สามารถหนีแผ่นดินไหวได้ แต่เราสามารถสร้างอาคารให้มั่นคงขึ้นได้ โดยอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจะคิด คือ เราจะทำการรับมือกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อย่างไร ถ้ารอยเลื่อนแม่จันเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากกว่า 7.0 แมกนิจูด เพราะความเสียหายจะกระจายเป็นวงกว้างเหมือนกับที่ประเทศเนปาลกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีมากกว่า 10 เมืองของเนปาลที่น่าจะประสบความเสียหายรุนแรงและมีประชากรมากกว่า 1 แสนคนเกือบทุกเมือง” ดร.ธีรพันธ์กล่าว
*******************************