xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “ศูนย์ชีววัสดุ” กระตุ้นใช้จุลินทรีย์ในอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร
ไบโอเทคเปิด “ศูนย์ชีววัสดุ” สนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในภาคอุตสาหกรรม หลังเก็บรวบรวมจุลินทรีย์มายาวนาน 20 ปี พร้อมให้บริการทั้งจัดเก็บรักษาวัสดุมีชีวิตทั้งจุลินทรีย์ เซลล์พืช เซลล์สัตว์ และให้บริการเข้าถึงฐานข้อมูลของสมาชิกในเครือข่าย พร้อมคำปรึกษาในด้านกฎหมายในการเข้าถึงฐานทรัพยากร ตั้งเป้าปีแรกมีเอกชนเข้าใช้บริการ 20 ราย

ศูนย์พันธุวิสวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource  Reserch Center: TBRC) ณ อาคารทาวเวอร์ C อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ก.พ.58 โดย ดร.ฟิลลิปเป เดสเมธ (Dr.Phillippe Desmeth) ประธานสหพันธ์ศูนย์จุลินทรีย์โลก (World Federation for Culture Collection: WFCC) และ มร.ยาซูชิ โนโตะ (Mr.Yasushi Noto) ผู้อำนวยการศูนย์บริการชีววัสดุชั้นนำของญี่ปุ่นร่วมแสดงความยินดี

ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการไบโอเทค ระบุว่าไบโอเทคได้เก็บรวมรวมจุลินทรีย์ เซลล์พืช เซลล์สัตว์และดีเอ็นเอมาป็นเวลา 20 ปี โดยจุลินทรีย์ที่เก็บรวบรวมนั้นผ่านการคัดเลือกแล้วว่านำไปใช้ประโยน์ได้ และชีววัสดุที่เก็บรวบรวมไว้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและสร้างมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้ได้เล็งเห็นว่าหากเก็บจุลินทรีย์และชีววัสดุที่นักวิจัยของไบโอเทครวบรวมไว้เฉยๆ นั้นไม่มีประโยชน์ จึงได้เปิดศูนย์ชีววัสดุขึ้นเพื่อให้เอกชนนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม และมีการบริหารจัดการรองรับ

ด้าน ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รองผู้อำนวยการไบโอเทค และผู้อำนวยการศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย เพิ่มเติมว่า ไบโอเทคได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ (BIOTEC Culture Collection: BCC) มาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งนอกจากทำวิจัยแล้วยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน และเมื่อมีความต้องการใช้ประโยชน์ชีววัสดุมากขึ้นจึงต้องบริหารจัดการ และได้ใช้พื้นที่ของอาคารนวัตกรรม 2 ของอุทยานวิทยาศาสตร์ที่รองรับการทำวิจัยของภาคเอกชน ซึ่งจะมีเข้ามามากขึ้น

“เนื่องจากความหลากหลายจองจุลินทรีย์มีสูงมาก จึงไม่มีศูนย์ใดที่รองรับการจัดเก็บรักษาจุลินทรีย์ได้ทุกชนิด และพบว่าจุลินทรีย์และชีววัสดุที่มีการวิจัยในสถาบันการศึกษาหรือตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการนั้นอาจเก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสมหรือนำไปฝากที่ศูนย์จุลินทรีย์มาตรฐานในจำนวนน้อย ทำให้เข้าถึงจุลินทรีย์และชีววัสดุในสถาบันการศึกษาได้ยาก จุลินทรีย์และชีววัสดุที่มีประโยชน์จำนวนมากจึงไม่เคยถูกนำไปวิจัยต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม  จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย” ดร.ลิลี่ระบุ  

สำหรับศูนย์ชีววัสดุของไบโอเทคนั้นได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์แห่งประเทศไทย (Thailand Network on Culture Collection : TNCC) ประกอบด้วยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และห้องปฏิบัติการเก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ของไบโอเทค รวมถึงเครือข่ายศูนย์จุลินทรีย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และเครือข่ายศูนย์จุลินทรีย์ในอาเซียน ซึ่ง ดร.ลิลี่ระบุว่า ศูนย์ชีววัสดุจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงข้อมูลจุลินทรีย์ของเครือข่ายเหล่านี้ได้

สำหรับบริการภายในศูนย์ชีววัสดุนั้น ดร.ลิลี่แจกแจงว่าทางศูนย์ มีบริการรับฝากจุลินทรีย์เพื่อจัดเก็บในระยะยาว บริการให้นำชีววัสดุไปใช้ในอุตสาหกรรม บริการคัดแยกจุลินทรีย์ที่ลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอ พร้อมทั้งจัดอบรมและให้บริการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย เนื่องจากประเทศที่เข้าไปเอาทรัพยากรจากประเทศอื่นต้องแบ่งปันผลประโยชน์แก่ประเทศเจ้าของทรัพยากรตามพิธีสารนาโกยา (Nagoya Protocol)   

“ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย พร้อมทำเอกสารให้ครบถ้วน ส่วนการจัดเก็บตัวอย่างชีววัสดุของเรานั้นเป็นไปตามมาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งศูนย์เราไม่เน้นเก็บตัวอย่างเยอะ แต่เน้นตัวอย่างที่สามารถนำไปต่อยอดภาคอุตสาหกรรมได้ โดยศูนย์เราจะทำให้การนำจุลินทรีย์ไปใช้ในอุตสาหกรรมสะดวกมากขึ้น” ดร.ลิลี่ระบุ

ทางด้าน ดร.กัญญวิมว์ เสริมว่าที่ผ่านมีหลายบริษัทที่นำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น บางบริษัทนำไปใช้กำจัดคราบน้ำมันในทะเล บางบริษัทนำไปผลิตอาหารสัตว์ และจากการเปิดศูนย์ชีววัสดุนี้ตั้งเป้ามีบริษัทเอกชนนำจุลินทรียืและชีววัสดุไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม 20 รายสำหรับปีแรก โดยเน้นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการผลิตสารตั้งต้น  
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร
พิธีเปิดศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น