ทุกคนน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า “ดาวเทียม” เป็นอย่างดี แต่เคยรู้หรือไม่ว่า ดาวเทียมแต่ละดวงที่โคจรอยู่ในอวกาศนั้นสามารถทำงานได้อย่างไร และมีการสื่อสารข้อมูลกับมนุษย์ในรูปแบบไหน และกว่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมสักภาพให้ได้เห็นกันต้องผ่านขั้นตอนการทำงานอะไรบ้าง ที่นี่มีคำตอบ
SuperSci สัปดาห์นี้พามารู้จักการทำงานของดาวเทียม กับบรรดาวิศวกรดาวเทียมระดับหัวกะทิของประเทศ ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สถานที่ทำงานด้านภูมิสารสนเทศโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
ภูมิ โพธิ์พัฒนาชัย วิศวกรดาวเทียมประจำห้องปฏิบัติการการรับสัญญาณและผลิตข้อมูลดาวเทียม กล่าวว่า อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ เป็นสถานที่ทำการรับส่งข้อมูลและสื่อสารกับดาวเทียมต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมในหลายๆ มิติ ซึ่งมีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2555 โดยสามารถแบ่งส่วนอาคารได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนของศูนย์รับสัญญาณและผลิตข้อมูลดาวเทียม กับศูนย์ควบคุมดาวเทียม
ส่วนแรก คือ ห้องปฏิบัติการการรับสัญญาณและผลิตข้อมูลดาวเทียม (Gistda ground receiving station) ห้องปฏิบัติการนี้จะมีวิศวกรดาวเทียมประจำการอยู่ เพื่อคอยรับสัญญาณจากดาวเทียมที่ส่งลงมายังจานรับสัญญาณขนาดใหญ่ที่มีการติดตั้งไว้ภายนอกอาคารแล้วมาผลิตเป็นข้อมูลดาวเทียมเพื่อส่งให้กับลูกค้า ซึ่งข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมจะตรงกับความต้องการของลูกค้า เพราะก่อนการสั่งงานลูกค้าจะต้องประสานความต้องการไปยังศูนย์วางแผนถ่ายภาพก่อน ซึ่งศูนย์นี้จะมีทำหน้าที่วิเคราะห์วงโคจรและวางแผนการถ่ายภาพให้เป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ ก่อนจะส่งแผนไปยังศูนย์ควบคุมดาวเทียมเพื่อสั่งการถ่ายภาพ ทั้งดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียมเรดาห์แซต ดาวเทียมคอสโมสกายเมต และดาวเทียมแลนเซท ที่มักจะนำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ทางด้านการวิเคราะห์ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร การทำผังเมือง ความมั่นคงระดับประเทศ การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ภูมิ กล่าวอธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ด้าน วสันชัย วงศ์สันติวณิช วิศวกรดาวเทียมประจำอาคารควบคุมดาวเทียมธีออส (Theos control building) อธิบายว่า ห้องควบคุมดาวเทียมที่เขาทำงานอยู่ เป็นห้องที่ใช้ควบคุมติดต่อกับดาวเทียมไทยโชตและดาวเทียมดวงอื่นๆ เพื่อส่งคำสั่งขึ้นไปให้ดาวเทียมถ่ายภาพตามเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่ฝ่ายออกแบบถ่ายภาพได้กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เพราะดาวเทียมไทยโชตเป็นดาวเทียมแบบออพติคอลที่ไม่สามารถถ่ายภาพทะลุชั้นเมฆลงมาได้และมีการโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบจากการโคจรรอบโลกถึงวันละ 14 รอบเท่านั้นในเวลาช่วง เวลา 9.00 น., 11.00 น., 19.00 น. และ 22.00 น. ดังนั้นการจะถ่ายภาพจากดาวเทียมจึงจำเป็นต้องอาศัยการออกแบบถ่ายภาพและการส่งสัญญาณที่เป็นระบบเพื่อให้สัญญาณภาพที่ส่งลงมาจากดาวเทียมมีความถูกต้อง โดยวิศวกรดาวเทียมจะมาประจำที่ห้องควบคุมดาวเทียมเพื่อติดต่อกับดาวเทียมในช่วงเวลาดังกล่าว ผ่านระบบปฏิบัติคอมพิวเตอร์แบบจำเพาะที่จะส่งสัญญาณผ่านจานเอสแบนด์ (S-band) ไปยังดาวเทียม
*******************************