xs
xsm
sm
md
lg

พบ “ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร” ผีเสื้อสกุลใหม่ในป่าชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว และภาพรายละเอียดผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร
ในป่าชุมชนที่ดูเหมือนจะมีความหลากหลายไม่มาก แต่นักวิจัยได้ค้นพบผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ที่สีสันปีกสวยงามในป่าฟื้นฟูที่ได้รับการดูแลจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ และชื่อสกุลใหม่ของผีเสื้อยังได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพฯ ในปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว จากภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกาตรศาสตร์ เผยว่าได้ค้นพบผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ คือ “สกุลผีเสื้อกลางคืนสิรินธร” (Sirindhornia) ซึ่งเป็นชื่อสกุลใหม่ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.57 โดยหลังได้รับพระราชทานนามแล้วได้เสนอบทความตีพิมพ์และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารซูแทกซา (Zootaxa) เมื่อ 29 ก.ย.57

ผีเสื้อสกุลใหม่นี้เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กที่มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร จัดอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ (Family Tortricidae) และอยู่ในวงศ์ย่อยโอเลธรูติเน (Olethreutinae) ซึ่ง รศ.ดร.นันทศักดิ์ได้ศึกษาผีเสื้อในวงศ์ย่อยนี้ในหลายพื้นที่ของไทยมาตั้งแต่ปี 2544 และพบว่าในไทยมีผีเสื้อในวงศ์ย่อยนี้มากกว่า 150 ชนิด

สำหรับผีเสื้อกลางคืนสิรินธรที่เพิ่งค้นพบนี้ รศ.ดร.นันทศักดิ์และทีมวิจัยได้เริ่มเก็บตัวอย่างมาตั้งแต่ปี 2550 ใน 3 พื้นที่คือ ป่าดิบชื้นของอุทยานแห่งชาติเขานัน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช, ป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด อ.ขลุง จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สวนยางเก่าอายุมากกว่า 50 ปีที่ฟื้นสภาพเป็นป่าธรรมชาติในโครงการพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนา และพื้นที่ป่าดิบชิ้นในสถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด อ.เมือง จ.ตราด

รศ.ดร.นันทศักดิ์อธิบายว่าการจำแนกว่าเป็นสกุลใหม่ได้ต้องค้นพบตัวอย่างน้อย 2 ชนิด ซึ่งจากการศึกษาทีมวิจัยรวบรวมตัวอย่างของผีเสื้อนี้ได้ 4 ชนิดและเป็นสปีชีส์ใหม่ของโลกทั้งหมด โดยพบที่เขานัน 1 ชนิด ที่ป่าชุมชนอ่างเอ็ด 2 ชนิด และที่สถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราดอีก 1 ชนิด โดยได้ส่งตัวอย่างไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์แมลงแห่งชาติของออสเตรเลีย (Australian National Insect Collection) จนได้รับการยืนยันว่าเป็นผีเสื้สกุลใหม่

ลักษณะเด่นของผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ที่แตกต่างจากผีเสื้อกลางคืนสกุลอื่นคือ มีสีสันและลวดลายของปีที่โดดเด่น โดนปีกคู่หน้ามีโคนปีกสีขาว และปลายปีกสีแดง มีจุดแต้มและลวดลายบนปีกสีดำ และปีกคู่หลังมีแต้มสีเหลืองบริเวณกึ่งกลาง และมีรยางค์ปากที่เรียวยาว นอกจากนี้ยังรูปร่างของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่โดดเด่นและแตกต่างจากผีเสื้อสกุลอื่นชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่พบว่าผีเสื้อชนิดนี้เป็นศัตรูพืช แต่ทีมวิจัยยังไม่ได้ศึกษาลงถึงระยะตัวหนอน โดยเพิ่งศึกษาในระดับงานวิจัยพื้นฐานคือตั้งชื่อสิ่งชีวิต

“การศึกษาครั้งนี้พบว่าป่าชุมชนก็ยังมีความสมบูรณ์ นอกจากนี้ในแง่อนุรักษ์พบว่าพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากชุมชน คนอาจจะมองว่าป่าไม่มีอะไร แต่เรายังขาดการศึกษาอีกเยอะ ถ้าเราศึกษาจะได้อะไรอีกมาก และค่อยๆ ดึงไปต่อยอดได้” รศ.ดร.นันทศักดิ์

ทั้งนี้ ผลงานเรื่องการค้นพบผีเสื้อสกลุใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2558 (NSTDA Annual Conference: NAC2015) ของสำนักงานพัมนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-2 เม.ย.58 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี    
 
 






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น