xs
xsm
sm
md
lg

เรือนกระจกพิทักษ์ “ช็อคโกแลต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฮีเตอร์ เลก เจ้าหน้าที่เทคนิคขณะตรวจสอบใบโกโก้เพื่อหาแมลงศัตรูพืชภายในศูนย์ควบคุมโกโก้นานาชาติที่อยู่ในอังกฤษ (AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS)
ขณะที่ความต้องการ “ช็อคโกแลต” ของโลกเพิ่มสูงขึ้น นักวิจัยภายในเรือนกระจกของศูนย์ศึกษาโกโก้ที่อังกฤษก็ทำงานหนัก เพื่อทำให้เรามั่นใจว่า โลกจะยังคงมีต้นโกโก้ที่แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง สำหรับเป็นวัตถุดิบผลิตขนมหวานอันเป็นที่ต้องการมากขึ้น

จากรายงานของเอเอฟพีระบุว่า ความต้องการช็อคโกแลตของโลกเพิ่มมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตของจีนและอินเดีย ในขณะที่ประเทศผู้ปลูกรายใหญ่ซึ่งอยู่แอฟริกาตะวันตกเผชิญกับโรคและศัตรูพืชที่อาจทำให้สูญเสียผลผลิตทั้งปีไปถึง 30% นอกจากนี้ความกังวลจากการระบาดของไวรัสอีโบลายังกระทบต่ออุตสาหกรรมช็อกโกแลตโดยทำให้ต้นทุนของโกโก้ในปี 2014 สูงขึ้นจากปกติ 15%

ทว่า โรงเรือนกระจกของศูนย์ควบคุมโกโก้นานาชาติ (International Cocoa Quarantine Centre ICQC) ซึ่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านของอาร์บอร์ฟิล์ด (Arborfield) ทางตะวันตกของลอนดอน ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยรีดดิง (University of Reading) อังกฤษ เป็นความหวังของอุตสาหกรรมช็อคโกแลตที่จะควบคุมและแจกจ่ายกิ่งพันธุ์โกโก้ที่ต้านทานโรคและให้ผลผลิตสูงขึ้นไปยังประเทศผู้เพาะปลูกโกโก้ได้อย่างปลอดภัย  

ภายในโรงเรือนพื้นที่รวม 1,000 ตารางเมตรของศูนย์ ได้เก็บโกโก้ 400 สายพันธุ์ จากการเก็บรวบรวมเมล็ดและกิ่งพันธุ์ปลอดโรคระหว่างการออกสำรวจในพื้นที่เขตร้อนของนักวิจัย และจำลองสภาพอากาศในแถบเส้นศูนย์สูตร โดยภายในโรงเรือนมีสภาพร้อนชื้นและมีอุณหภูมิสูงถึง 28 องศาเซลเซียส แม้อากาศภายนอกในช่วงฤดูหนาวของอังกฤษจะมีอุณหภูมิเพียง 8 องศาเซลเซียส

ฮีเตอร์ เลก (Heather Lake) เจ้าหน้าที่เทคนิคของศูนย์ควบคุมโกโก้ดังกล่าวเผยแก่ทางเอเอฟพีว่า โกโก้เป็นพืชที่ค่อนข้างโตยาก อีกทั้งยังไม่ชอบแดดจัดและไม่ชอบร่มเงามากเกินไป นอกจากนี้ยังยากที่จะจัดสภาพอากาศให้ตรงกับความต้องการของต้นโกโก้

ศูนย์ควบคุมโกโก้นี้ได้เพิ่งรับการปรับปรุงใหม่ โดยมีอุตสาหกรรมช็อกโกแลตและรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมลงทุน เป้าหมายของศูนย์คือลดปริมาณโรคที่ส่งผลกระทบต่อต้นโกโก้ โดยเพาะพันธุ์ต้นโกโก้ใหม่ให้มีความหลากหลายในการต้านทานโรคมากขึ้น

“นั่นคือบทบาทของเรา เราเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนย้ายต้นโกโก้ระดับนานาชาติ” แอนดรูว์ เดย์มอนด์ (Andrew Daymond) ผู้จัดการศูนย์ควบคุมโกโก้นานาชาติซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อ 30 ปีก่อนระบุ

แม้ต้นโกโก้นั้นมีกำเนิดจากอเมริกาใต้ แต่จากข้อมูลขององค์การโกโก้นานาชาติ (International Cocoa Organization) เอเอฟพีระบุว่า 73% ของผลผลิตโกโก้ทั่วโลกมาจากแอฟริกาตะวันตก โดยในจำนวนนั้น 60% มาจากไอวอรีโคสต์หรือสาธารณรัฐโกตดิวัวร์และกานา และจากความวิตกว่าการระบาดของอีโบลาจะส่งผลต่อกำลังผลิตโกโก้ได้ทำให้เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมาราคาของโกโก้ในนิวยอร์กทะยานขึ้นไปเป็นตันละ 3,400 เหรียญสหรัฐ แม้ว่าทั้งสองประเทศห่างไกลผลกระทบจากไวรัสอีโบลา

นอกจากนี้โรคพืชยังคุกคามอุตสาหกรรมช็อคโกแลต โดยในแอฟริกาตะวันตกแหล่งผลิตโกโก้ที่สำคัญอาจสูญเสียผลผลิตได้สูงถึง 30% ของการเก็บเกี่ยวทั้งปี ซึ่งเดย์มอนด์ระบุว่า ประเทศผู้ปลูกต้นโกโก้เหล่านั้นเผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูพืช โรคระบาด ผลผลิตต่ำ และสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง แต่โครงการของศูนย์ควบคุมโกโก้จะช่วยให้การเคลื่อนโกโก้จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งเป็นไปอย่างปลอดภัย และในอังกฤษยังไม่มีแมลงศัตรูพืชและโรคประจำถิ่น ทำให้ศูนย์ดังกล่าวปลูกโกโก้ที่ต้านทานโรคได้หลากหลายสายพันธุ์ก่อนกระจายไปทั่วโลก

“เมื่อเราส่งออก เราส่งแค่กิ่งก้านเล็กๆ ของต้นโกโก้ โดยเด็กใบออกหมดแล้วส่งไปแค่กิ่ง” เลกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของศูนย์อธิบาย โดยเดย์มอนด์เสริมด้วยว่าประเทศผู้เพาะปลูกโกโก้ยังตรวจสอบกิ่งตอนซึ่งได้รับการจำแนกพันธุกรรมได้

นอกจากนี้เอเอฟพีระบุว่าศูนย์ควบคุมโกโก้ดังกล่าวยังวิจัยเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อการปลูกโกโก้ อีกทั้งยังกำลังพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะทนต่อภัยแล้งหรือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นได้มากขึ้น เพื่อให้เรายังคงผลิตช็อคโกแลตต่อไปได้

ดูภาพเพิ่มเติม
- สำรวจโรงเรือนพิทักษ์ “ช็อคโกแลต” (ชมภาพ)
ฮีเตอร์ เลก เจ้าหน้าที่เทคนิคขณะปลิดผลโกโก้ออกจากต้นภายในโรงเรือนของศูนย์ควบคุมโกโก้ (AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS)
โรงเรือนกระจกภายในศูนย์ควบคุมโกโก้นานาชาติที่อยู่ในอังกฤษ (AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS)






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น