นักวิจัย มช.ชี้ปัญหา “อ้วนลงพุง” เป็นโรคไม่ติดต่อที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ อนาคตประชากรโลกอาจอ้วน 100% จากปัจจัยด้านอาหารและพฤติกรรม และไม่เพียงส่งผลต่อหัวใจ ยังพบทำให้สมองเสื่อมเป็นอัลไซเมอร์ ตั้งเป้าวิจัยตั้งแต่ระดับเซลล์หาตัวชี้วัดการเป็นโรคแต่เนิ่นๆ และหาทางรักษาด้วยสารออกฤทธิ์ประสิทธิภาพสูงแต่ให้ผลข้างเคียงต่ำ
ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยข้อมูลว่า โรคสำคัญในปัจจุบันมี 2 อย่างคือโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดต่อ ในขณะที่โรคติดเชื้อจะระบาดและเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในระยะหนึ่งก่อนจะค่อยๆ ลดลงนั้น โรคไม่ติดต่อกลับมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคไม่ติดต่อที่กำลังคุกคามมนุษย์โลกคือโรคหัวใจและโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์
“หลายคนไม่ทราบว่า นอกจากโรคอ้วนลงพุงจะส่งผลต่อหัวใจแล้วยังส่งผลให้สมองเสื่อมด้วย และเป็นตัวหการหลักที่ทำให้เสียชีวิต โดยโรคอ้วนลงพุงทำให้การเรียนรู้และความจำเสื่อมถอยอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อหัวใจทำให้หัวใจโตและหัวใจล้มเหลว เพิ่มอัราการเสียชีวิตอีกเยอะมหาศาล อนคตต่อไปเราจะมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสื่อมเรื่องหัวใจและสมองเป็นทุนอยู่แล้ว ถ้ายิ่งเป็นโรคอ้วนลงพุงยิ่งเสริมให้แย่เข้าไปอีก” ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ระบุ
ข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ระบุว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากดรคหัวใจ 17 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของอัตราตายทั่วโลก และโรคอัลไซเมอร์อีก 7.7 ล้านคน ซึ่งถือเป็นภาระหนักของประเทศไนเรื่องค่าใช้จ่าย นอกจากนี้จากปี 2543-2551 มีประชากรโลกอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นถึง 400% และมีแนวโน้มว่าประชากรโลกอาจอ้วนลงพุงทั้ง 100% จากปัจจัยเรื่องอาหารและพฤติกรรมการกิน โดยในยุโรปและสหรัฐฯ มีคนอ้วนลงพุง 30-50% ส่วนในเอเชียมีคนอ้วนลงพุง 31% ขณะที่ประเทศไทยมีคาดการณ์ว่าในปี 2558 จะมีคนไทยอ้วนลงพุง 24 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 4 ล้านคน คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษากลุ่มเหล่านี้นับแสนล้านบาท
ล่าสุด ศ.ดร.นพ.นิพนธ์และทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนวิจัย 20 ล้านบาทในโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ (NSTDA Chair Professor) ประจำปี 2557 จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อศึกษาวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาตั้งแต่ระดับเซลล์ถึงผู้ป่วยเพื่อค้นหา แนวทางการรักษาและตัวชี้วัดชนิดใหม่ ในภาวะเมตาบอลิคซินโดรมและภาวะเหล็กเกิน เพื่อการป้องกันการสูญเสียการทำงานของหัวใจและสมอง”
“ทุนวิจัยที่ได้รับจะนำไปศึกษาตั้งแต่ระดับเซลล์จนถึงระดับผู้ป่วย โดยจะใช้วิจัยเพื่อหาทางรักษาแบบเน้นใช้ธรรมชาติรักษาและไม่ใช้ยา ซึ่งวิธีที่ได้ผลตอนนี้คือการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทเพื่อช่วยกรุ้จนการทำงานของหัวใจและสมอง อีกเป้าหมายคือการหาตัวชี้วัดในเลือดที่บ่งชี้อาการเกิดโรคตั้งแต่แรกเริ่ม ตอนจนการดำเนินของโรคและการพยากรณ์โรคเพื่อหาทางรักษา และค้นหาสารที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงน้อย ผลลัพธ์คาดว่าจะได้วิธีการรักษาแบบไม่ใช้ยา ได้ตัวบ่งชี้การเกิดโรค ได้สารหรือยาที่นำมาใช้ นอกจากนี้ยังได้ผลิตบัณฑิตระกับปริญญาโทและเอก มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ สุดท้ายหวังว่าจะไปถึงการจดสิทธิบัตร” นักวิจัย มช.ระบุ
นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ยังมีความหวังในการผลิต “เครื่องช็อตหัวใจ” ที่มีราคาถูก เพื่อให้ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยโรคหัวใจจัดหาเครื่องมาใช้งานที่บ้านได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจะมีเวลารักษาด้วยการช็อตให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติในเวลาไม่กี่นาที หากพลาดช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งในต่างประเทศจะมีเครื่องช็อตหัวใจเตรียมพร้อมใช้งานตามจุดต่างๆ ขณะที่เมืองไทยยังขาดแคลนเนื่องจากเป็นเครื่องที่มีราคาแพงหลักแสนบาท
*******************************