2 นักวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ คว้าทุนวิจัยแกนนำ 40 ล้านบาท หวังวิจัยต่อยอดความสำเร็จกระแสการเกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ และการพัฒนาป้องกันโรคหัวใจและอัลไซเมอร์แบบองค์รวมตั้งแต่ระดับเซลล์ถึงผู้ป่วยจากโรคอ้วนลงพุง
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการมอบทุนวิจัยแกนนำแก่ 2 นักวิจัยไทยด้านการแพทย์ ซึ่งได้รับทุนวิจัยรายละ 20 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 5 ปีจากโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ (NSTDA Chair Professor) ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 19 ก.พ.58 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ได้รับทุนดังกล่าวประจำปีนี้ ได้แก่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากงานวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง “โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคทางไวรัสที่สำคัญในประเทศไทย” และ ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาตั้งแต่ระดับเซลล์ถึงผู้ป่วยเพื่อค้นหาแนวทางการรักษาและตัวชี้วัดชนิดใหม่ ในภาวะเมตาบอลิคซินโดรมและภาวะเหล็กเกิน เพื่อการป้องกันการสูญเสียการทำงานของหัวใจและสมอง”
ศ.นพ.ยงระบุถึงงานวิจัยที่ทำว่าเป็นการศึกษาวิจัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ซึ่งช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคทางไวรัสที่สำคัญ โดยมีตัวอย่างผลงานที่ช่วยควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ อาทิ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส การพบการระบาดของไข้หวัดนกสู่เสือ การหาภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และยังมีงานวิจัยพบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ของปีที่ผ่านมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำเพียง 10-20% จึงแนะนำว่าไม่ควรสั่งวัคซีนเข้ามาในช่วงนี้ แต่ให้รอวัคซีนใหม่หลัง เม.ย.เป็นต้นไป
ส่วน ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ระบุถึงงานวิจัยในโครงการที่รับผิดชอบว่าเป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับเซลล์ถึงระดับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการสูญเสียหัวใจและสมอง ซึ่งแม้ไม่ใช่โรคติดต่อเป็นโรคที่คุกคามมนุษย์โลก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าภาวะเมตาบอลิคซินโดรมหรือโรคอ้วนลงพุงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อหัวใจแต่ยังส่งผลให้สมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ ซึ่งเมื่อปี 2551 มีคนทั่วโลกอ้วนลงพุง 940 ล้านคน คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 400% เมื่อเทียบกับปี 2543 ส่วนคนไทยคาดว่าในปี 2558 จะมีคนอ้วนลงพุง 24 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นปีละ 4 ล้านคน และมีการคาดการณ์ประชากรโลกอาจอ้วนลงพุงถึง 100% ในอนาคต จากปัจจับด้านอาหารและพฤติกรรมการกิน
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากที่ผ่านมา ปี 2557 มีผู้ยื่นข้อเสนอโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ จากนักวิจัยชั้นนำ จำนวน 14 โครงการ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการ และศักยภาพที่จะนำทีมวิจัยให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ทั้งในด้านการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มวิจัย การพัฒนากำลังคน รวมไปถึงมีศักยภาพเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิชาการ เข้ากับภาคการผลิตและบริการ โดยสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่นำไปพัฒนาต่อยอดจนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณประโยชน์หรือเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้ สวทช.ได้มอบทุนวิจัยแกนนำมาตั้งแต่ปี 2552
*******************************