สวทช.โชว์ความพร้อมจัดสัมมนาและนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณที่ทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรผู้ด้อยโอกาส โดยนำเสนอเสวนาวิชาการ และกิจกรรมเสวนาตามแนวพระราชดำริฯ พร้อมโซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้านไอที 30 มี.ค. - 2 เม.ย.นี้
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมจัดงานสัมมนาและนิทรรศการ “60 พรรษา รัตนราชสุดาวิทยาปริทรรศน์” เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชาสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา 2 เม.ย. 2558 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 58
ดร.พิเชฐกล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการพัฒนาประเทศมาตลอดกว่า 30 ปี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และส่งเสริมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ผ่านพระกรณียกิจต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริของพระองค์ที่ สวทช.เป็นเลขานุการ และในโอกาสอันเป็นมหามงคลที่จะถึงนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช.จึงจัดโครงการ “60 พรรษา รัตนราชสุดา วิทยาปริทรรศน์” ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณที่ทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ราษฎรผู้ด้อยโอกาสในสังคม 4 กลุ่มหลัก คือ นักเรียนในชนบทห่างไกล, ผู้พิการ, เด็กป่วยในโรงพยาบาล และผู้ต้องขัง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศในการพัฒนาเยาวชนและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป
“ประเทศไทยโชคดีที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ทรงสนพระทัยในวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 ปีแห่งเทคโนโลยีและสารสนเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดงานเกี่ยวกับนวัตกรรมไอทีอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น ณ อาคารองค์การสหประชาชาติ ถ.พระราชดำเนิน ครั้งนั้นสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับไอทีนาน 4 ชั่วโมง พร้อมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทำให้ประชาชนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไอทีเริ่มหันมาให้ความสนใจ และหลังจากนั้นได้เกิดโครงการตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับไอทีของพระองค์อีกมากมายตามมา จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้บุกเบิกวงการไอที และเป็นผู้ที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยก้าวหน้าได้จนถึงปัจจุบัน” ดร.พิเชฐกล่าว
ด้าน ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยว่า โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพของเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนผู้พิการให้มีทักษะการใช้เครื่องมือและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาและเตรียมความพร้อมไปสู่การต่อยอดเป็นอาชีพให้แก่กลุ่มผู้ยากไร้ดังกล่าว
“ในโอกาสครบรอบ 60 พรรษาของพระองค์ที่กำลังจะมาถึง คณะกรรมการโครงการฯ จึงเห็นชอบให้นำความสำเร็จของโครงการที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริกว่า 161 โครงการมาร่วมจัดแสดงภายในนิทรรศการ “60 พรรษา รัตนราชสุดา วิทยาปริทรรศน์” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มี.ค. - 2 เม.ย. 2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงผลงานต่อเบื้องพระพักตร์สมเด็จพระเทพฯ ที่จะเสด็จทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานด้วยพระองค์เองในวันที่ 30 มี.ค.” ดร.ไพรัชกล่าว
ด้าน น.ส.ธวัลรัตน์ เรือนเงิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านนานายกวิทากร จ.นครนายก หนึ่งในนักเรียนที่จะนำสิ่งประดิษฐ์จากโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวพระราชดำริมาร่วมจัดแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า ผลงานที่เธอทำขึ้นชื่อว่า ประตูอัจฉริยะที่สามารถบันทึกจดจำหน้าตาของคนในบ้านเพื่อประเมินการ เปิดประตูเข้าออกได้อย่างแม่นยำ ผ่านการประมวลภาพจากกล้องจับใบหน้าเข้าไปประมวลผลเปรียบเทียบกับภาพใบหน้า ของบุคคลในบ้านตามฐานข้อมูล
“วิธีนี้มีความแม่นยำและปลอดภัยกว่าวิธีสแกนลายนิ้วมือ และการแสกนรูม่านตา เพราะไม่สามารถหลอกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตั้งค่าไว้อย่างเฉพาะเจาะจงได้ การเขียนโปรแกรมและวิธีการประดิษฐ์ล้วนได้รับการฝึกฝนจากโครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งสิ้น ทำให้หนูรู้สึกภูมิใจและมีความตั้งใจต่อการพัฒนาตัวเองต่อไปอีกในอนาคต” น.ส.ธวัลรัตน์กล่าว
เช่นเดียวกับเยาวชนจากสถานพินิจที่ได้เดินทางมาร่วมจัดแสดงผลงานด้านกราฟิกดีไซน์คอมพิวเตอร์ เผยต่อ “ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์” ว่า ผลงานที่นำมาแสดงเป็นผลงานการทำสต็อปโมชัน (Stop Motion) หรือการถ่ายทำภาพนิ่งทีละภาพ แล้วนำมาเรียงต่อกันจนเป็นเรื่องราวเคลื่อนไหวแบบวิดีโอ ซึ่งเขาได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่และวิทยากรของโครงการพัฒนาเทคโนโลยีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มาสอนความรู้ให้แก่เขาและเพื่อนๆ ถึงในสถานพินิจ
นอกจากการทำสต็อปโมชันที่ตัวแทนเยาวชนจากสถานพินิจชื่นชอบและจะนำไปจัดแสดงเพื่อให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรแล้ว เขายังได้ฝึกการใช้โปรแกรมตัดต่อต่างๆ รวมไปถึงโปรแกรมทางกราฟิกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำนามบัตรหรือการนำเสนอแบบมืออาชีพได้ ซึ่งเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายหลังจากที่พ้นโทษออกจากสถานพินิจ จะนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพที่สุจริตเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไป
“วิทยากรจากโครงการเข้ามาสอนผมถึงในศูนย์ฯ เลยครับ เท่าที่เห็นก็สอนมาหลายรุ่นหลายปีติดต่อกันมา สอนทุกอย่างแบบมืออาชีพทางคอมพิวเตอร์ที่ควรจะทำได้ เช่น พวกกราฟิกดีไซน์ อิลลัสสเตเตอร์ โฟโต้ชอป การตัดต่อภาพวิดีโอ ซี่งเป็นสิ่งที่ผมชอบและมีความถนัดมาก่อนอยู่แล้ว ผมซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระเมตตาเด็กที่เคยเกเรแบบพวกผม ซึ่งผมจะนำความรู้ที่มีติดตัวเหล่านี้ไปประกอบอาชีพที่สุจริตเวลาพ้นโทษครับ” เยาวชนจากสถานพินิจ กล่าวทิ้งท้ายต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ www.nstda.or.th/nac2015 หรืออีเมล nac2015@nstda.or.th หรือโทร. 0-2564-8000 (ในวันและเวลาราชการ)
*********************
ทั้งนี้ ภายในงาน “60 พรรษา รัตนราชสุดา วิทยาปริทรรศน์” จะประกอบไปด้วย
1.การเสวนาพิเศษเรื่อง “แนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเยาวชนและผู้ด้อยโอกาส” จากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
2. งานเสวนาวิชาการ ที่จะเป็นการเชิญนักวิจัยและนักวิทยษศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันถกประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ อาทิ ทำไมต้องไปทำวิจัยที่ขั้วโลกเหนือ แกะรอยอนุภาค คนกับไก่สอนอะไรให้เรา วิทยาศาสตร์ก้าวไกลร่วมวิจัยไทย-จีน กิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนพิการ บทเรียนและก้าวต่อไปของไอทีเพื่อการรศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ห้องเรียนเพื่อเด็กป่วย สร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาอาชีพไอทีแก่ผู้ต้องขัง
3. ส่วนของการแสดงนิทรรศการที่เป็นการนำผลการดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการไอทีตามพระราชดำริฯ กว่าร้อยโครงการมาจัดแสดงตามวัตถุประสงค์โครงการทั้งสิ้น 8 โซน คือ
- โซนเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- การพัฒนาการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท
- โซนการพัฒนาการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท
- โซนการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของผู้พิการ
- โซนการพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมนันทนาการแก่เด็กป่วยในโรงพยาบาล
- โซนการพัฒนาการศึกษาวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ
- โซนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี