xs
xsm
sm
md
lg

กระเทาะกะลา “แมคคาเดเมีย” แบบบ้านๆ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิธีแคะกะลาแมคคาเดเมียของผู้บริโภค



นอกจากเปลือกหนาๆ แล้ว “แมคคาเดเมีย” ยังมีเปลือกที่แข็งมาก จนชาวบ้านใน “บ้านห้วยน้ำผัก” และ “บ้านบ่อเหมืองน้อย” สองหมู่บ้านจัดตั้งใหม่ใน อ.นาแห้ว จ.เลย ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้ปลูกแมคคาเดเมียเพื่อสร้างรายได้ จนปัญญาที่จะหาวิธีเอาถั่วออกจากกะลา แต่ชาวบ้านก็ได้วิธีกระเทาะกะลาแมคคาเดเมียอย่างบังเอิญ

นายปิยทัศน์ ทองไตรภพ ผู้ช่วยนักวิจัย ในฐานะผู้จัดการพื้นที่ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งช่วยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือบ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน ระบุว่า วิธีกระเทาะกะลาแมคคาเดเมียมีอยู่แล้วแต่เป็นความรู้ที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง จึงต้องหาวิธีลองผิดลองถูกกันเอง

“หลายปีมาแล้วในช่วงที่ผมขึ้นมาในพื้นที่ขณะศึกษาระดับปริญญาโท ระหว่างลงพื้นที่กับชาวบ้าน พี่คนขับรถตู้เขาว่าง เลยหยิบเม็ดแมคคาเดเมียที่ตกหล่นมากระเทาะเล่น แต่พยายามอยู่หลายวิธีก็กระเทาะเม็ดไม่แตก จนสุดท้ายพี่เขาเอาค้อนมาทุบ แล้วลองกินเนื้อในกะลาก็ติดใจในรสชาติ จึงกลายเป็นวิธีที่ชาวบ้านนำมาใช้กระเทาะแมคคาเดเมียเพื่อแปรรูปในปัจจุบัน” ปิยทัศน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของวิธีกระเทาะกะลาแมคคาเดเมียของชาวบ้านนาแห้ว

แม้จะเป็นวิธีที่แสนธรรมดาและใช้เวลานาน แต่ปิยทัศน์ระบุว่า เป็นวิธีที่สร้างงานให้แก่คนในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำไร่ทำนำเหมือนคนหนุ่มสาว อีกทั้งยังควบคุมคุณภาพให้ได้ถั่วแมคคาเดเมียเต็มเมล็ด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท นอกจากนี้ชาวบ้านยังมี “เครื่องขัดสี” ซึ่งทำงานได้เร็วกว่า แต่ถั่วแมคคาเดเมียแตกหักมากกว่า เพราะขนาดเม็ดแมคคาเดเมียที่ไม่เท่ากัน บางเม็ดจึงถูกขัดสีแรงจนแตกหัก

บ้านห้วยน้ำผักและบ้านบ่อเหมืองน้อยเป็นหมู่บ้านใหม่ใน อ.นาแห้ว จ.เลย ที่เพิ่งถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 หลังสิ้นสุดสงครามร่มเกล้า ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นประชาชนที่อาสามาอยู่ในพื้นที่เพื่อความมั่นคง และได้รับการส่งเสริมอาชีพ ส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมการปลูกแมคคาเดเมีย แต่ด้วยเป็นต้นไม้ชนิดใหม่จากต่างแดนที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย อีกทั้งต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าต้นไม้จะให้ผล แม้ว่าหลังจากได้ผลผลิตแล้ว 3 ปีจะช่วงเก็บเกี่ยวกำไรจากการเพาะปลูก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่อดทนรอและโค่นต้นแมคคาเดเมียทิ้ง

เหลือเพียงแมคคาเดเมียในพื้นที่ทดสอบพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้ปลูกแมคคาเดเมีย 5 สายพันธุ์คละกันในพื้นที่ 20 ไร่ไว้จำนวน 500 ต้น และในรุ่นที่ 1 และ 2 มาตั้งแต่ปี 2534 และ 2536 ตามลำดับ โดยผลผลิตที่ได้ถูกนำไปแปรรูปโดยกลุ่มแปรรูปบ้านบ่อเหมืองน้อยเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ถั่วตัดแมคคาเดเมีย แมคคาเดเมียเคลือบชอคโกแลต แมคคาเดเมียปรุงรส และภายหลังยังได้นำเข้าแมคคาเดเมียจากพื้นที่อื่นๆ ใน จ.เลย เพื่อให้เพียงพอแก่การจำหน่าย 

วิธีกระเทาะกะลาเพื่อแปรรูปแบบชาวบ้าน


ปิยทัศน์ ทองไตรภพ


ดอกแมคคาเดเมีย


ผลแมคคาเดเมียที่กำลังโต


ผลิตภัณฑ์แมคคาเดเมียแปรรูปของกลุ่มแปรรูปบ้านบ่อเหมืองน้อย


ถั่วตัดแมคคาเดเมีย


เมนูแปลกยำถั่วแมคคาเดเมีย






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น