xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมดาราศาสตร์แจงไม่เคยแจ้งแสงวาบเหนือกรุงเป็น "อิริเดียมแฟลร์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักดาราศาสตร์ช่วยตอบ วัตถุประหลาดที่ว่าน่าจะเป็นอิริเดียมแฟลร์

"ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา" ชี้น่าจะเป็นแสงวาบอิริเดียม เพราะเกิดขึ้นตรงช่วงเวลาที่มีคนทำนายไว้ วันที่ 8 มี.ค. ก็จะมีให้เห็นอีก


ค่ำวันที่ 2 มี.ค.58 ที่ผ่านมา กระแสในโลกออนไลน์พูดถึงแสงประหลาดเหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งที่ออกมาร่วมยืนยันว่า พวกเขาได้เห็นวัตถุนั้นด้วยตาตัวเอง และแสงประหลาดที่ว่ายังถูกบันทึกไว้ได้โดยบังเอิญขณะเจ้าของคลิปกำลังหวดวงสวิงอย่างสวยงาม ซึ่งภาพที่ปรากฏในช่วงท้ายคลิป เผยให้เห็นแสงวาบสีส้มขนาดใหญ่กลางท้องฟ้าที่พุ่งลงมายังพื้นโลกนานราว 3 วินาทีก่อนจะแสงจะมืดไป ยิ่งทำให้ชาวสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากต่างร่วมกันวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่าลำแสงนั้นคืออะไร?



ไม่เพียงคนกรุงเทพฯ เท่านั้นที่จะได้เห็น เพราะในเวลาเดียวกันผู้ใช้เฟซบุ๊กในต่างจังหวัดก็ออกมาบอกด้วยว่า พวกเขาก็เห็นเช่นกันแต่เปลวไฟดังกล่าวเป็นสีเขียว อีกทั้งยังมีผู้คัดลอกข้อความประกาศจากหน้าเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ระบุว่าในเวลาดังกล่าว คนบนโลกอาจเห็นแสงสว่างวาบของดาวเทียมอิริเดียม 30 ที่สะท้อนทำมุมกับดวงอาทิตย์ ที่ยิ่งทำให้คนสงสัยกันเข้าไปอีกว่าที่แท้จริงวัตถุแสงวาบที่เห็นคืออะไร?

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งให้ความเห็นว่า แสงสว่างวาบที่เห็นน่าจะเป็นแสงสะท้อนจากดาวเทียมอิริเดียม เพราะเวลาที่เกิดเป็นไปตามช่วงเวลาที่มีหน่วยงานทางดาราศาสตร์ทำนายไว้ คือในช่วงของหัวค่ำและรุ่งเช้า แสงวาบอิริเดียมเกิดจากการสะท้อนของแผ่นโซลาร์เซลล์ ที่ประกอบอยู่โดยรอบดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารสำหรับการถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์มือถือของสหรัฐฯ ที่มีอยู่มากกว่า 66 ดวง

“แสงวาบอิริเดียมเห็นได้บ่อยแทบทุกวันในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะดาวเทียม ประเภทนี้จัดอยู่ในวงโคจรที่ไม่สูงมาก โดยอยู่สูงจากพื้นดินหลายร้อยกิโลเมตร และสว่างได้เป็นหลายสิบเท่าของดาวศุกร์เมื่อได้รับแสงจากดวงอาทิตย์” ดร.ศรัณย์ ระบุเพิ่มเติม

นอกจากแสงวาบอิริเดียมที่มีให้เห็นจนชินตาแล้ว ดร.ศรัณย์กล่าวด้วยว่า เรายังสามารถสังเกตแสงวาบในลักษณะคล้ายๆ กันจากสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ได้อีกด้วย แต่จะมีวงโคจรที่แตกต่างกัน เพราะสถานีอวกาศนานาชาติจะโคจรจากแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ดาวเทียมอิริเดียมจะโคจรในแนวขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ และลักษณะของแสบจะวาบเป็นเวลานานสลับกับหรี่แล้ววาบใหม่ ไม่หายไปเหมือนแสงวาบของอิริเดียม รวมไปถึงสถานีอวกาศเทียนกงของประเทศจีนของประเทศจีนด้วย

“ข้อแตกต่างระหว่างดาวตก และแสงวาบอิริเดียม อยู่ที่บริเวณการเกิด ถ้าหากเป็นดาวตกลูกใหญ่ ที่เรียกกันว่า “ไฟร์บอล” จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ จากการการเผาไหม้ของสะเก็ดดาว เกิดเป็นความร้อนจัด ทำให้สิ่งที่สังเกตได้ตามมาคือ ควันที่เป็นทางยาวไปตามแนวของดาวตก เราเรียกว่าพลาสมา ส่วนแสงวาบอิริเดียม เป็นสิ่งที่เรามองเห็นนอกชั้นบรรยากาศ จะไม่มีฝุ่นหรือควันใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ผมไม่ทราบว่าคลิปที่ถ่ายจากสนามกอล์ฟอยู่ในทิศทางใด ผู้ตีหันหน้าไปทางทิศไหน จึงยังไม่อยากฟันธงเต็ม 100% แต่จากวันเวลาที่เกิดและลักษณะจากคลิปเท่าที่เห็น ผมคิดว่าเป็นแสงวาบอิริเดียมอย่างแน่นอน” ดร.ศรัณย์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ท้ายสุด ดร.ศรัณย์ ระบุว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเพราะเป็นเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้น อยู่เป็นประจำในทุกๆ วัน ซึ่งมีการทำนายไว้ในเว็บไซต์ดาราศาสตร์อย่างเป็นกิจจะลักษณะสามารถค้นคว้า ข้อมูลเพื่อติดตามดูโดยเฉพาะเลยก็ได้ และถ้าหากอยากพิสูจน์กันอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 8 มี.ค.58 ในเวลา 17.25 น. ก็จะเกิดปรากฏการณ์แสงวาบอิริเดียมครั้งใหญ่ให้ได้รอชมอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สมาคมดาราศาสตร์ได้ชี้แจงมาว่า สมาคมไม่ได้ชี้แจงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดการดาวเทียมอิริเดียมตามที่มีรายงานในสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งจากการพิจารณาคลิปคาดว่าแสงวาบที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นดาวตกลูกไฟหรือดาวตกชนิดระเบิด ทั้งนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทยชี้แจงว่า ไม่ได้รับการติดต่อจากสื่อมวลชน และก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ชี้แจงใดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในวันและเวลาใกล้เคียงกัน เกิดปรากฏการณ์การสว่างวาบของดาวเทียมอิริเดียมดังที่ได้เสนอข้อมูลให้ทราบล่วงหน้าเป็นประจำทุกสัปดาห์บนเว็บไซต์ และอาจมีการโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของสมาคม

"ปรากฏการณ์ทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกัน แต่บังเอิญว่าวันนั้นเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน รวมถึงอาจเกิดในทิศทางใกล้เคียงกันด้วยเมื่อมองจากบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กเกิดความสงสัยและสับสนว่า เป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่าตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ สมาคมดาราศาสตร์ไทยขอชี้แจงว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่การสว่างวาบของดาวเทียมอิริเดียม ซึ่งเกิดนานกว่านี้ เคลื่อนที่ช้ากว่านี้ และลักษณะที่ปรากฏแตกต่างกันมาก แต่เป็นลูกไฟ (fireball) หรือดาวตกชนิดระเบิด (bolide) ซึ่งเกิดจากสะเก็ดดาวเคลื่อนจากอวกาศเข้าสู่โลก แบบเดียวกับดาวตก แต่มีขนาดใหญ่ ทำให้สว่างกว่าดาวตกทั่วไปหลายเท่า ทั้งนี้ บางครั้งซากดาวเทียมหรือจรวดที่ตกเข้าสู่บรรยากาศโลกก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์คล้ายกัน"

อ่านเพิ่มเติม

"อิริเดียมแฟลร์" แสงฟ้าสว่างวาบจากดาวเทียม

ชมคลิปแสงวาบประหลาด คลิก >>
กระทู้พันทิป: เมื่อประมาณ 30 นาทีที่แล้ว คน กทม.เห็นวัตถุประหลาดตกลงมาจากท้องฟ้าไหมคะ

ชมคลิปแสงวาบอิริเดียมแบบชัดๆ


ชมคลิปดาวตกขนาดใหญ่ในประเทศรัสเซีย

ประกาศจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยเรื่องแสงวาบจากดาวเทียม
แสงประหลาดสีส้มปรากฏให้เห็นทางด้านบนซ้ายของภาพ
ภาพถ่ายฝนดาวตกพร้อมดาวตกขนาดใหญ่ โดยศุภฤกษ์ คฤหานนท์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น