แคปซูล "โอไรออน" ยานขนส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ตีเที่ยวเปล่าทะยานฟ้าทดสอบสมรรถนะครั้งแรกแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้กระแสลมแรงทำให้ต้องเลื่อนทดสอบยานขนส่งมนุษย์โดยยังไม่มีมนุษย์โดยสารไป 24 ชั่วโมง
การทดลองส่ง “โอไรออน” (Orion) แคปซูลขนส่งมนุษย์ท่องอวกาศระยะไกลแบบไร้ผู้โดยสาร เป็นเที่ยวบินนานกว่า 4 ชั่วโมง โดยองค์การบริการหารการบินอวกาสสหรัฐ (นาซา) ต้องการทดสอบระบบสำคัญอย่างฉนวนกันความร้อน และร่มชูชีพระหว่างดิ่งตัวลงมหาสมุทรของยานอวกาศ โดยในอนาคตยานอวกาศรุ่นนี้จะทำหน้าที่ขนส่งมนุษย์ไปยังดาวเคราะห์น้อย ดาวจันทร์ และดาวอังคาร
หน้าต่างการบิน (window) หรือโอกาสในการทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าของจรวดเดลตา 4 (Delta IV) ที่ทำหน้าที่ลำเลียงแคปซูลโอไรออนจากแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา สหรัฐฯ ในวันที่ 5 ธ.ค.2014 นี้ เริ่มเปิดตั้งแต่เวลา 19.05 น.ไปจนถึงเวลาหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง 44 นาที และพยากรณ์อากาศระบุว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวย 60% แต่คาดว่ากระแสจะเบาบางกว่าความพยายามในการทดสอบยานครั้งแรกที่มีกระแสลมแรงจนต้องเลื่อนการทดสอบยานออกไป อีกทั้งยังมีปัญญาทางด้านเทคนิคกับจรวดจึงต้องระงับส่ง
อย่างไรก็ดี หลังจากเลื่อนปล่อยจรวดนำส่งแคปซูลออกมา 24 ชั่วโมง จรวดเดลตาก็ทะยานตามเวลาที่กำหนดขึ้นใหม่ในครั้งที่ 2 นี้ และนาซาเผยว่าแคปซูลได้โคจรรอบโลก โดยจะใช้เวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนตกกลับสู่พื้นมหาสมุทร และนาซาได้ยืนยันว่าแคปซูลตกสู่มหาสมุทรแล้ว
ภาพร่มชูชีพกางขณะแคปซูลโอไรออนตกกลับสู่มหาสมุทร (นาซา)
การยิงจรวดเพื่อส่งแคปซูลอวกาศขึ้นไปทดสอบนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีของสหรัฐฯ ที่พยายามส่งมนุษย์ไปให้ไกลกว่าดวงจันทร์ และเป็นการหยัดยืนอีกครั้งสำหรับโครงการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ของสหรัฐ ซึ่งชะงักมานานกว่า 3 ปี นับแต่กระสวยอวกาศสหรัฐลำสุดท้ายนำมนุษย์อวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station)
เมื่อปล่อยจรวดขึ้นแคปซูลโอไรออนจะถูกขับเคลื่อนให้โคจรรอบโลก 2 รอบ โดยรอบแรกจะโคจรที่ความสูงระดับสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ความสูง 430 กิโลเมตร แต่ในรอบสองจะโคจรขึ้นไปสูงอีก 15 เท่าที่ความสูง 5,800 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก จากนั้นยานอวกาศอวกาศจะถูกบังคับให้ตกสู่พื้นน้ำทางชายฝั่งซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย และถูกเก็บกู้โดยกองทัพเรือสหรัฐ
หลังจากทำการวิเคราะห์เซนเซอร์ที่สลับซับซ้อนของแคปซูลแล้ว นาซาจะทราบได้ว่าอุณหภูมิภายในห้องโดยสารนั้นอยู่ในระดับที่ลูกเรือจะมีชีวิตรอดหรือไม่ แม้ว่าตัวยานจะได้รับอุณหภูมิสูงถึง 2,200 องศาเซลเซียส ระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยควาเร็ว 32,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับการทดสอบแคปซูลโดยไม่มีมนุษย์โดยสารอีกครั้งถูกกำหนดไว้ในปี 2018 ส่วนเที่ยวบินทดสอบที่จะส่งคนขึ้นไปด้วยถูกกำหนดไว้ในปี 2021 และเมื่อยานมีความพร้อมจะสามารถส่งลูกเรือ 4 คนให้เดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย รวมถึงมุ่งหน้าไปยังดาวอังคารได้ในช่วงปี 2030
ตอนนี้นาซาใช้งบสำหรับแคปซูลโอไรออนและจรวดกำลังสูงแล้วกว่า 2.73 แสนล้านบาท และคาดว่างบโครงการทั้งหมดจะพุ่งถึง 5.7-6.6 แสนล้านบาท ส่วนค่าเครื่องไม้เครื่องมือในการทดสอบส่งยานแบบไร้คนขับครั้งแรกนี้หมดไปแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท.
*******************************