นับเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับนาซาในเป้าหมายส่งคนไปดาวอังคาร โดยมีกำหนดทดสอบยาน “โอไรออน” ครั้งแรก โดยยานดังกล่าวออกแบบมาเพื่อขนส่งมนุษย์ไปเยือนดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) มีกำหนดทดสอบ “โอไรออน” (Orion) แคปซูลขนส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคารเวลา 19.05 น.ของวันที่ 4 ธ.ค.2014 ตามเวลาประเทศ โดยมีจรวดเดลตา (Delta) ทำหน้าที่นำส่งจากแหลมคานาเวอรัล ในฟลอริดา สหรัฐฯ แต่เนื่องจากลมแรงนาซาจึงเลื่อนกำหนดส่งออกไป 24 ชั่วโมงจากกำหนดการเดิม
การทดสอบดังกล่าวเป็นการเดินทางเพียงระยะทางสั้นเหนือพื้นโลกเพื่อทดสอบเทคโนโลยีหลักๆ ซึ่งจากอินโฟกราฟิกของบีบีซีเผยให้เห็นว่า เมื่อยานอวกาศทะยานจากฐานปล่อยจะวนรอบโลกแล้วขึ้นอยู่เหนือพื้นโลก 5,800 กิโลเมตร จากนั้นจะวนรอบโลกแล้วกลับลงยังมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งแคลิฟอร์เนีย รวมระยะเวลาเที่ยวบิน 4 ชั่วโมง 24 นาที
ยานจะตกกลับลงมาด้วยความเร็วเกือบ 30,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วใกล้เคียงแคปซูลที่เดินทางกลับจากดวงจันทร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้วิสวกรได้ทดสอบสมรรถภาพของจรวดกันความร้อนของตัวยาน ที่คาดว่าอุณหภูมิจะน่าสูงเกิน 2,000 องศาเซลเซียส
นาซาระบุว่าการทดสอบดังกล่าวเป็นเที่ยวบินทดสอบแรกของยานโอไรออนและยังไม่มีมนุษย์เดินทางไปพร้อมกับยาน เนื่องจากการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารครั้งแรกนั้นมีความเสี่ยงมาก และต้องอาศัยทั้งสติปัญญาและการอุทิศตนของคนทุกรุ่น และการทดสอบดังกล่าวก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการส่งคนไปดาวอังคารในอนาคต
บริเวณทดสอบที่ไม่ไกลกว่าดวงจันทร์ซึ่งเรียกว่า “ซิส-ลูนาร์สเปซ” (Cis-lunar space) มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการทดสอบเที่ยวบินที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์ อาทิ การทดสอบชุดเดินอวกาศ การทดสอบการนำร่องด้วยแรงโน้มถ่วง และการทดสอบการปกป้องมนุษย์อวกาศจากรังสีและอุณหภูมิจัดๆ
ทั้งนี้ แคปซูลโอไรออนถือเป็นยานอวกาศลำแรกที่สร้างให้มนุษย์ท่องไปในอวกาศ นับจากจากปฏิบัติอพอลโล (Apollo) ในยุค 1960 และ 1970 โดยแคปซูลดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์ท่องอวกาศออกไปไกลกว่าที่เคย ไกลกว่าการเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ และจะเปิดการสำรวจอวกาศระหว่างโลกและดาวอังคารโดยมนุษย์อวกาศ
สำหรับภารกิจสำรวจอวกาศของยานโอไรออนอันใกล้นี้ในช่วงปี 2020 คือการส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย ซึ่งจะถูกจับวางในวงโคจรค้างฟ้าของดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศอัตโนมัติ
*******************************