xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...“อิริเดียมแฟลร์-ดาวตก” ต่างกันอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรชัย รังษีธนะไพศาล และภาพปรากฏการ์ณอิริเดียมแฟลร์เมื่อวันที่ 15 มี.ค.58 ซึ่งบันทึกภาพนิ่งได้เป็นขีดสว่าง แต่ภาพที่เห็นด้วยตาจะเป็นจุดขาวที่ค่อยๆ สว่างจนสุดแล้วจางลงและลับหายไป
เมื่อเดือน มี.ค.มีปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ นั่นคือ แสงประหลาดที่ปรากฏในคลิปขณะชายคนหนึ่งกำลังฝึกตีกอล์ฟ มีหลากหลายคำอธิบาย บ้างว่าเป็นแสงจากการวาบของเทียมสหรัฐฯ ที่ชื่อ “อิริเดียม” แต่อีกคำอธิบายระบุว่า ลักษณะที่เห็นน่าจะเป็นดาวตกที่มีการระเบิดเป็นลูกไฟ แล้วปรากฏการณ์ทั้งสองแตกต่างกันอย่างไร

พรชัย รังษีธนะไพศาล จากสมาคมดาราศาสตร์ไทยอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “อิริเดียมแฟลร์” (Iridium Flare) หรือแสงวาบอิริเดียม และไฟร์บอล (fireball) หรือดาวลูกไฟ มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับอิริเดียมแฟลร์นั้นจะเห็นเป็นแสงสีขาวค่อยๆ สว่าง และสว่างที่สุด ก่อนค่อยๆ จางจนหายไป แต่แสงจากดาวตกลูกไฟจะสว่างวาบแล้วหายไปทันที และยังมีสีสันที่หลากหลายไปตามธาตุซึ่งเป็นองค์ประกอบของดาวตกนั้น และหากดาวตกเผาไหม้ไม่หมดแล้วตกสู่พื้นโลกจะกลายเป็นอุกกาบาต

“ในคลิปที่ฮือฮาเมื่อวันที่ 2 มี.ค.58 ที่ผ่านมานั้น น่าจะเป็นแสงของดาวตกลูกไฟที่บังเอิญเกิดในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์อิริเดียมแฟลร์พอดี โดยสังเกตเห็นได้ว่าแสงประหลาดดังกล่าวมีการระเบิดถึง 2 ครั้งก่อนวูบหายไป” พรชัยสันนิษฐาน

สำหรับปรากฏการณ์อิริเดียมแฟลร์นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสะท้อนของเสาอากาศของดาวเทียมสื่อสารชื่อ “อิริเดียม” ของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีดาวเทียมอยู่วงโคจรที่ความสูง 800 กิโลเมตรเมตร ประมาณ 66 ดวง โดยทุกดวงมีชื่ออิรเดียมและต่อท้ายด้วยตัวเลข แต่ละดวงที่ถูกส่งขึ้นไปมีอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วจะถูกปล่อยให้ตกและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เพื่อไม่ให้เหลือเป็น “ขยะอวกาศ”  

เจ้าหน้าที่จากสมาคมดาราศาสตร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสะท้อนของดาวเทียมอิริเดียมนั้นเป็นจังหวะที่เสาอากาศซึ่งมีลักษณะเป็นแผงติดถาวรและขยับไม่ได้นั้น ทำมุมสะท้อนกับแสงดวงอาทิตย์กลับลงมาบนโลก ทำให้เกิดแสงค่อยๆ สว่างๆ แล้วสว่างมากสุดจากนั้นค่อยๆ จางลงจนหายลับไป ซึ่งในจำนวนดาวเทียมกว่า 60 ดวงนั้นมีดาวเทียมอิริเดียม30, อิริเดียม 59 และอิริเดียม 60 ที่โคจรผ่านไทย ลักษณะการโคจรของดาวเทียมอิริเดียมจะโคจรจากเหนือลงใต้และโคจรจากใต้ขึ้นเหนือ

“แสงวาบอิริเดียมมีความสว่างได้มากถึง -8 ซึ่งสว่างมากกว่า ดาวที่สว่างที่สุดในท้องฟ้าอย่างดาวซิริอุสหรือดาวโจรที่มีความสว่าง -1.42 รวมถึงสว่างกว่าดาวศุกร์ เราตรวจสอบตารางการเกิดปรากฏการณ์อิริเดียมได้จากทางเว็บไซต์ www.heavens-above.com ซึ่งการติดตามปรากฏการณ์นี้จะต้องตรงต่อเวลา และรู้จักทิศและมุมเงยที่จะเกิดปรากฏการณ์ เพราะปรากฏการณ์เกิดขึ้นเพียงเสี้ยวเดียวในเวลาไม่กี่วินาที ถ้าพลาดแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปดูได้อีก” พรชัยระบุ

นอกจากนี้ยังอีกปรากฏการณ์ที่คล้ายปรากฏการณ์อิริเดียมแฟลร์คือแสงสะท้อนจากสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station:ISS) แต่พรชัยอธิบายว่าสำหรับแสงสะท้อนจากสถานีอวกาศนานาชาตินั้นจะคล้ายดาวกำลังวิ่ง และความสว่างไม่เปลี่ยนแปลง ลักษณะเป็นแสงสว่างนิ่งๆ เนื่องจากเป็นแสงสะท้อนจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่สามารถปรับมุมเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้สูงสุด โดยผู้สนใจรอชมสถานีอวกาศผ่านท้องฟ้าก็ติดตามได้จากเว็บไซต์สำหรับตรวจสอบตารางเกิดอิริเดียมแฟลร์ได้เช่นกัน






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น