xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเตรียมพร้อม "หอดูดาวระวังภัยวัตถุใกล้โลก" แห่งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอดูดาวเฝ้าระวังภัยจากวัตถุใกล้โลกแห่งใหม่ พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการ
โลกกำลังเข้าขั้นเสี่ยงจากการโจมตีของวัตถุอวกาศ หลังขยะอวกาศฟุ้งเต็มวงโคจรดาวเทียม ด้านวิศวกรอวกาศญี่ปุ่นชี้ทุกประเทศควรเฝ้าระวังจัดตั้ง “รปภ.อวกาศ” ส่วนไทยกำลังจะมีหอดูดาวแห่งใหม่สำหรับเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลก คาดแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้

"ต้องให้มันตกลงมาใส่หัวก่อนมั้ง ถึงจะเห็นความสำคัญของวัตถุอวกาศ" คำปรารภขบขันสั้นๆ ของ น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว เลขานุการคณะอนุกรรมการประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศของกองทัพอากาศ ขณะมาร่วมประชุมกาแล็กซีฟอรัมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพฯ ประจำปี 2558 ที่แฝงไปด้วยความจริงถึงอันตรายจากอวกาศใกล้ตัวเช่น “วัตถุใกล้โลก” (Near Earth Objec) หรือนีโอ (NEO) และ "ขยะอวกาศ" (Space Debris)

น.อ.ฐากูรกล่าวว่า “นีโอ” กำลังเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากระบบสุริยะเต็มไปด้วยวัตถุขนาดเล็ก ซึ่งอาจเข้าใกล้โลกมากกว่าดวงจันทร์ จนอยู่ในอัตราที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง หากโคจรเข้ามาใกล้และถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดลงมาให้ตกสู่พื้นโลก

“นอกจากนี้ดาวเทียมที่หมดอายุขัยและชิ้นส่วนจรวดที่เลิกใช้กลายเป็นขยะอวกาศจำนวนมหาศาล ล่องลอยตามวงโคจรรอบโลกอย่างอิสระ เปะปะไร้การควบคุม วัตถุเหล่านี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงหลายหมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง หากพุ่งชนดาวเทียมที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ก็จะเกิดแรงปะทะมหาศาล ทำให้ดาวเทียมชำรุด หรือต้องปลดประจำการก่อนเวลาอันควร” น.อ.ฐากูรกล่าว

ด้าน ดร.ชินอิจิ นากามูระ (Dr.Shinichi Nakamura) วิศวกรอวกาศชำนาญการจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) หรือ แจกซา (JAXA) ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์พิเศษที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) เสริมขึ้นว่า วัตถุใกล้โลกเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกในยุคนี้ควรให้ความสำคัญก่อนที่ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติจะล่มสลาย เหมือนกับอดีตของไดโนเสาร์ที่ต้องสูญพันธุ์ไปด้วยเหตุไม่คาดคิดที่เกิดจากนอกโลก

ดร.ชินอิจิ เผยว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มีสถิติการพบขยะอวกาศทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับจำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้นของขยะอวกาศที่ตกลงสู่พื้น และจำนวนดาวเทียมที่เสียหายหรือชำรุด เป็นเหตุให้นักวิทยาศาสตร์และนักโทรคมนาคมเริ่มวิตกกังวล เพราะปัญหาจากขยะอวกาศมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

ขยะอวกาศส่วนใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับดาวเทียม คือ สิ่งแตกหักของดาวเทียมปลดประจำการ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนและฟุ้งกระจายไปในอวกาศเป็นวงกว้างจากการชนกัน การเพิ่มจำนวนดาวเทียมที่แต่ละประเทศแข่งขันกันส่งขึ้นบนท้องฟ้า ก็ทวีจำนวนของขยะอวกาศให้มากขึ้นไปด้วย และจนถึงตอนนี้ ดร.ชินอิจิบุว่า มนุษย์ยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะรับมือกับขยะอวกาศ นอกจากการเฝ้าระวังเพื่อให้การเตือนภัยเป็นไปได้อย่างทันท่วงที

"ขยะอวกาศน่ากลัวเพราะอะไรรู้ไหม? น่ากลัวเพราะมันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ตามหลักจลนศาสตร์พลังงานในอวกาศ วัตถุชิ้นเล็กมีมวล 1 กิโลกรัม เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 7.5 กิโลเมตรต่อวินาที จะทำให้วัตถุชิ้นนั้นมีพลังงานเพิ่มขึ้นเหมือนรถบรรทุกคันใหญ่ ที่มีอำนาจทำลายล้างสูง จนอาจทำให้ดาวเทียมเสียหายหรือใช้การไม่ได้อีกต่อไป และวัสดุที่ใช้ทำดาวเทียมในปัจจุบันนี้ทำมาจากไททาเนียมทนความร้อน ทำให้ไม่เผาไหม้ หรือเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศไม่หมด หากเป็นวัตถุชิ้นใหญ่ตกลงมาก็จะสร้างความเสียหายให้บ้านเรือน ความเสียหายเหล่านี้เราจะไม่รู้ล่วงหน้าเลยถ้าไม่มีการเฝ้าระวัง เราจึงต้องมีหน่วยงานที่เฝ้าระวังและตรวจตรา ก่อนที่มันจะเข้าใกล้ดาวเทียมหรือตกลงมาสร้างความเสียหายบนพื้นโลก” ดร.ชินอิจิกล่าว

ดร.ชินอิจิ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าญี่ปุ่นมีหน่วยติดตามเฝ้าระวังขยะอวกาศและวัตถุใกล้โลกมาสิบปีแล้ว เพราะญี่ปุ่นมีดาวเทียมมากกว่า 20 ดวง และเป็นสมบัติของชาติที่ต้องรักษา ซึ่งประเทศอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของดาวเทียมอีกนับสิบประเทศ ก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อป้องกันภัยจากวัตถุนอกโลก โดยทำหน้าที่เป็น "รปภ.อวกาศ" (Space Guard) ให้กับประชานและทรัพยากรในประเทศของเขา และช่วยกันดูแลความปลอดภัยให้แก่โลก

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือในการจัดตั้งหอดูดาวแห่งใหม่ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังภัยจากวัตถุใกล้โลก ด้วยความร่วมมือของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพอากาศ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การเอกชน) และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานกิจการอวกาศแห่งชาติ ซึ่ง น.อ.ฐากูร ระบุว่า ใกล้เสร็จสิ้นและพร้อมเปิดดำเนินการในช่วงเดือน มี.ค.นี้ โดยกำลังอยู่ในขั้นตอนขอพระราชทานชื่อหอดูดาวอย่างเป็นทางการ

น.อ.ฐากูร ให้ข้อมูลว่า หอดูดาวแห่งใหม่ตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสังเกตท้องฟ้าที่ดีที่สุดของประเทศ เนื่องจากมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,500 เมตร อยู่เหนือละอองอากาศ (Aerosols)ห่างจากมลภาวะทางแสง อากาศบางและอุณหภูมิต่ำ ทำให้มีทัศนวิสัยดีเยี่ยม โดยหอดูดาวขนาดเล็กมีขนาดพื้นที่เพียง 25 ตารางเมตร เนื่องจากเป็นกล้องอัตโนมัติควบคุมจากระยะไกล ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำการ

อย่างไรก็ตามกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งอยู่ภายในมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร นับเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองลงมาจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ซึ่งติดตั้งภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งจัดว่าเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

"การเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกกำลังเป็นเทรนด์ของโลกพอดี โครงการนี้เกิดขึ้นสอดคล้องกับหน้าที่ของ 3 กระทรวง
ในส่วนของ สดร. กระทรวงวิทย์ฯ มีหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังภัยพิบัติจากวัตถุอวกาศ เช่น นีโอ, สำนักงานกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงไอซีที ต้องการข้อมูลตำแหน่งดาวเทียมและขยะอวกาศเพื่อแชร์ให้ประชาคมโลก ส่วนกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพอากาศ จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจป้องกันน่านฟ้า ให้สามารถตรวจจับวัตถุบินที่มีระยะสูงกว่าอากาศยานทั่วไป เช่น อากาศยานกึ่งยานอวกาศและดาวเทียมทางทหาร, เฝ้าดูแลทรัพย์สินในอวกาศ ได้แก่ ดาวเทียม, พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ ไม่ให้ใครย่องเอาดาวเทียมมาวางในพื้นที่สิทธิวงโคจรค้างฟ้าของไทย" น.อ.ฐากูร กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

น.อ.ฐากูร เพิ่มเติมว่า “ภารกิจการเฝ้าตรวจอวกาศ” (Space Surveillance) ต้องร่วมมือเป็นเครือข่ายร่วมกับนานาชาติ เนื่องจาก NEO และขยะอวกาศมีจำนวนมากกว่าหอดูดาวหลายหมื่นเท่า อีกทั้งโลกหมุนรอบตัวเองทำให้แต่ละประเทศผลัดกันเป็นกลางวันกลางคืน แต่นีโอเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ในขณะเดียวกันขยะอวกาศก็โคจรรอบโลกวันละหลายรอบ จึงต้องติดตามวัตถุเหล่านั้นตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้น เมื่อหอดูดาวสำเร็จพร้อมใช้งานแล้ว ไทยจะเข้าร่วมเครือข่ายสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Asteroid Observation Network: APAON) ซึ่งมีประเทศสมาชิกได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน มองโกเลีย ไต้หวัน มาเก๊า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย

นอกจากการติดตามวัตถุอวกาศแล้ว น.อ.ฐากูร เผยว่ากองทัพอากาศจะใช้หอดูดาวแห่งนี้ในการส่งเสริมความรู้ด้านดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศให้แก่เยาวชนในเครือข่าย ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือ ลีซา (LESA) ซึ่งย่อมาจาก Learning center for Earth Science and Astronomy โดยผู้สนใจสามารถติดตามดูกิจกรรมและดาวน์โหลดสื่อความรู้ได้ที่เว็บไซต์ www.lesa.biz
แนวโน้มปริมาณวัตถุอวกาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นาวาอากาศเอก ฐากูร เกิดแก้ว และ ดร.ชินอิจิ นาคามุระ (Dr.Shinichi Nakamura)
บรรยากาศขณะการบรรยาย
ภาพจำลองชั้นหมอกขยะอวกาศที่กำลังปกคลุมโลก ภาพจากนาซา






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น