xs
xsm
sm
md
lg

เป้าใหม่ของมาเลเซียหลังส่ง “มนุษย์อวกาศ” คนแรกเมื่อ 8 ปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาย มูฮัมหมัด ไฟรอส อะซิลแลม หัวหน้าหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ ของอังคาซา มาเลเซีย
ในขณะที่วงการดาราศาสตร์และอวกาศในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่งเริ่มต้น มาเลเซียก้าวไปไกลกว่าด้วยการส่ง “มนุษย์อวกาศ” คนแรกไปพร้อมยานอวกาศรัสเซียเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และได้กลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนหันมาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ส่วนเป้าหมายใหม่ไม่ใช่ส่งมนุษย์อวกาศคนที่ 2 แต่เป็นการวิจัยในอวกาศและการนำกล้องโทรทรรศน์วิทยุมาใช้ หวังสร้างรายได้ให้ประเทศจากการวิจัยยาและนาโนเทค

"ถ้ายังจำได้เมื่อประมาณปี 2550 มาเลเซียเคยส่งมนุษย์อวกาศรูปหล่อคนหนึ่ง ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศด้วยยานของรัสเซีย คราวนั้นเราได้เปิดโอกาสพิเศษให้คนมาเลเซียทั่วประเทศสมัครเข้าชิงโอกาสการเป็นมุสลิมคนแรกของโลกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ นั่นคือจุดเปลี่ยนของมาเลเซีย ทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่หันมาสนใจดาราศาสตร์อวกาศมากขึ้น ทุกคนอยากรู้ว่าอวกาศเป็นอย่างไร ทำให้การศึกษาวิทยาศาสตร์เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง”

ส่วนหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์ของ นายมูฮัมหมัด ไฟรอส อะซิลแลม (Mhd Fairos Asillam) หัวหน้าหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศ ของสำนักงานอวกาศมาเลเซีย (Malaysian National Space Agency) หรือ อังคาซา (ANGKASA) เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างมาร่วมประชุมกาแล็กซีฟอรัมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพฯ (Southeast Asia Galaxy Forum in Thailand) ประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 24 ก.พ.58 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ

“จนถึงตอนนี้หลังจากกลับมามนุษย์อวกาศของเราก็ยังใช้ชีวิตเป็นศัลยแพทย์ตามปกติ แต่ที่เปลี่ยนไปคือเขายังมีหน้าที่เดินสายพบปะนักศึกษารุ่นใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยและเป็นอาจารย์พิเศษ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ จนทำให้ขณะนี้มาเลเซียมีผู้สนใจเข้าเรียนวิทยาสาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก” นายไฟรอส กล่าว

ระหว่างการบรรยายพิเศษในเรื่องวิทยาการและเทคโนโลยีของมาเลเซีย นายไฟรอสระบุว่ามาเลเซียให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศมาเป็นเวลานาน โดยอังคาซาซึ่งเป็นองค์การอวกาศแห่งชาติของมาเลเซียจึงได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537 และมีหน้าที่ดำเนินงานวิจัยด้านอวกาศดาราศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดโปรแกรมการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรและนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์อวกาศที่ถูกบรรจุลงในตารางเรียนของเยาวชนชาวมาเลเซีย

ทว่า นายไฟรอส เผยว่าเป้าหมายที่อังคาซาพุ่งเป้ามากที่สุดในตอนนี้ไม่ใช่การส่งมนุษย์อวกาศคนที่ 2 แต่เป็นการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศอย่างเข้มข้น โดยส่งเสริมให้มีองค์กรด้านสภาพอวกาศ (Space Weather) การนำกล้องโทรทรรศน์วิทยุมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดมิติใหม่ต่องานวิจัยดาราศาสตร์ของมาเลเซีย รวมถึงการวิจัยในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำหรือในอวกาศ อย่างการพัฒนายาและนาโนเทคโนเทคโนโลยีซึ่งนอกจากจะเป็นงานวิจัยและพัฒนาแล้ว เชื่อว่าจะเป็นช่องทางที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่มาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการอบรมด้านดาราศาสตร์แก่ครูในมาเลเซียทั้งประเทศ เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ อีกทั้งจะผลักดันให้เกิดการทำวิจัยดาราศาสตร์ระหว่างมาเลเซียและไทยให้มากขึ้น เพราะมองเห็นศักยภาพและความพร้อมด้านดาราศาสตร์ของไทย

"สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราคือครูและนักเรียน เพราะคนกลุ่มนี้คือคนรุ่นต่อไปที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ ความรู้ครูต้องทันสมัย แม้กระทั่งแบบจำลองดาราศาสตร์ที่ครูใช้สอนต้องเป็นของใหม่ที่ใช้อธิบายได้ง่ายและถูกต้อง ซึ่งอังคาซาเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดให้แก่ทุกโรงเรียนในมาเลเซีย เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงอย่างไม่เหลื่อมล้ำ เรามีพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ของคนตาบอด เพื่อให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างเท่าเทียม และเข้าไปมีบทบาทสำคัญระดับชาติในส่วนของการริเริ่มพัฒนานวัตกรรมชนิดใหม่ๆ และการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดให้กับรัฐบาลด้วย" หัวหน้าหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศของอังคาซา ให้รายละเอียด

ทางด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์หลังรับฟังการบรรยายของนายไฟรอสว่า มาเลเซียมีความก้าวหน้าทางด้านอวกาศค่อนข้างล้ำหน้ากว่าไทย ทั้งในเรื่องของบุคลากร การเรียนการสอน เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงเงินทุน และอีกไม่นานมาเลเซียก็กำลังจะมีกล้องโทรทรรศน์ดาราศาสตร์แบบคลื่นวิทยุ ซึ่งจะทำให้การวิจัยหรือข้อมูลต่างๆ พัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งด้วย เพราะภาพและข้อมูลที่บันทึกได้จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ จะให้ข้อมูลแบบใหม่ที่เติมเต็มงานวิจัยดาราศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"ดาราศาสตร์อวกาศของมาเลเซียโดดเด่นจริงในอาเซียน เพราะเขามีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2537 ในขณะที่ สดร.ของไทยเพิ่งจัดตั้งอย่างเป็นทางการได้เพียง 5 ปี แต่เราก็เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลค่อนข้างมาก และมีพัฒนาการที่ค่อนข้างก้าวกระโดด จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นสู่กลุ่มผู้นำด้านดาราศาสตร์ของอาเซียนได้เช่นเดียวกับมาเลเซีย ด้วยกิจกรรม องค์ความรู้ งานวิจัยและบุคลากรที่ สดร.มี โดยจะเริ่มต้นจากการปลูกฝังความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่ในสังคมก่อน เพื่อกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่สนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้นซึ่งงานกาแล็กซีฟอรั่มที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ก็ถือเป็นจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนดาราศาสตร์สำหรับประเทศไทย” ผู้อำนวยการ สดร.ระบุ

สำหรับงานกาแล็กซีฟอรัมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งล่าสุดนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดยการประสานงานระหว่าง สดร.และสมาคมหอสังเกตดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Observatory Association: ILOA) ซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐฯ พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก), อังคาซา มาเลเซีย, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.), ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา, กองทัพอากาศ, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
นายไฟรอสแสดงภาพโมเดลดาราศาสตร์ที่นำไปใช้กับโรงเรียนทั่วมาเลเซีย






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น