xs
xsm
sm
md
lg

จับมือญี่ปุ่นพัฒนาเครื่องรับสัญญาณวิทยุพัฒนาดาราศาสตร์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ นายคัตสึยะ วาตานาเบ ผู้อำนวยการแผนกวิทยุสื่อสาร สำนักงานสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น
สดร. ลงนามความร่วมมือญี่ปุ่น พัฒนาชุดอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นวิทยุ หนุนดาราศาสตร์วิทยุไทย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น โดย นายคัตสึยะ วาตานาเบ ผู้อำนวยการแผนกวิทยุสื่อสาร สำนักงานสื่อสารโทรคมนาคม กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 4 พ.ค.60 โดยมีเป้าหมายมุ่งร่วมพัฒนาชุดอุปกรณ์รับสัญญานคลื่นวิทยุความถี่ต่ำ กรองสัญญานรบกวนจากโทรศัพท์มือถือ ขนาดเล็กกว่าทั่วไปถึง 50 เท่า เพื่อใช้กับกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติของไทย

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ สดร. กำลังดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ และสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศไทย นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ กล้องโทรทรรศน์วิทยุดังกล่าว สามารถรับสัญญานคลื่นวิทยุได้ถึงความถี่ 100 กิกะเฮิร์ตซ์ และจำเป็นต้องมีอุปกรณ์รับสัญญานในช่วงคลื่นต่างๆ กัน การลงนามความร่วมมือฯ

ในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาชุดอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่ 1.4 และ 1.6 กิกะเฮิร์ตซ์ และสามารถกรองสัญญานรบกวน จากโทรศัพท์มือถือที่ใช้ความถี่ประมาณ 0.7-2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ที่อาจรบกวนการรับสัญญานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุอีกด้วย ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวนับเป็นเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์วิทยุที่ทันสมัยที่ใช้วัสดุตัวนำยิ่งยวดและมีระบบควบคุมอุณหภูมิต่ำมาก ประมาณ -190 องศา จุดเด่นคือมีขนาดเล็กกว่าชุดอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นวิทยุที่ใช้ทั่วไปถึงประมาณ 50 เท่า นอกจากนี้ยังจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยี ด้านดาราศาสตร์วิทยุระหว่างกัน สามารถนำมาใช้ต่อยอด ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดาราศาสตร์วิทยุของไทยต่อไปในอนาคต


ต้นแบบชุดอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นวิทยุ







กำลังโหลดความคิดเห็น