xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ถกเกาหลีตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุเชื่อมเครือข่ายโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อินวู ฮาน ผอ. สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมผู้บริหารและนักวิจัย สดร.
ก.วิทย์ถกสถาบันดาราศาสตร์เกาหลีเตรียมร่วมมือตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งแรกในไทยเชื่อมเครือข่ายใหญ่ที่สุดของโลก  

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำผู้บริหารสถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี เข้าพบ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเตรียมร่วมมือตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุในไทย หวังเชื่อมเครือข่ายกับเอเชียตะวันออกเพื่อร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลก

เมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สดร. ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.58 ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. และนักวิจัย สดร. มีโอกาสต้อนรับและหารือกับผู้บริหาร สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (Korean Astronomy and Space Science : KASI) นำโดย ดร. อินวู ฮาน ผู้อำนวยการ และ ดร. ยัง โชล มีนผู้เขี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์วิทยุ ในประเด็นความร่วมมือจัดตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุในประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุของสาธารณรัฐเกาหลี (Korean VLBI Network: KVN) และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งภาคพื้นเอเชียตะวันออก (East Asia VLBI Network)

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พยายามที่จะประชาสัมพันธ์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นหน่ออ่อนไปสู่นักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ในส่วนของ สดร. เองก็ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านดาราศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายความร่วมมือและสนับสนุนด้านดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ตลอดจนการพัฒนากำลังคนทางด้านดาราศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม

“ความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์วิทยุกับสาธารณรัฐเกาหลี ที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ จึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน หากแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั้งในแภบภูมิภาคเอเชียตะวันออก และทวีปออสเตรเลีย กลายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” ดร.พิเชฐ กล่าว

ด้าน รศ. บุญรักษา กล่าวว่า ไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี มีความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์มากว่า 7 ปีแล้ว โดย สดร.ได้ลงนามความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ กับ KASI มาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 หลังจากนั้นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของทั้ง 2 องค์กร มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ ทั้งการวิจัยร่วมกัน
จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการให้ทุนนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่KASI และการศึกษาดูงานด้านดาราศาสตร์ที่เกาหลีของเยาวชนไทยอีกด้วย

“สดร.มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักทางด้านดาราศาสตร์วิทยุได้แก่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาจากวัตถุท้องฟ้าชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญสนับสนุนข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ของ สดร. ด้วย “การพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุในประเทศไทยมีความสำคัญมาก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาด้านดาราศาสตร์จนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุเป็นจำนวนมาก และใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุเหล่านั้นร่วมกัน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ เท่ากับพื้นที่ของหลาย ๆ ประเทศรวมกัน ทำให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงคลื่นวิทยุ” รศ.บุญรักษากล่าว
เครือข่าย VLBI (Cr.Tae-Hyun, Jung /MPIfR, 2004)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น