xs
xsm
sm
md
lg

พบโครงสร้างโมเลกุลอินทรีย์คล้ายบนโลกที่ใจกลาง “ทางช้างเผือก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดจำลอง “โพรไพรีนออกไซด์” โมเลกุลอินทรีย์อันซับซ้อน ใกล้ใจกลางทางช้างเผือก บนภาพถ่ายจากหอดูดาววิทยุ  (B. Saxton, NRAO/AUI/NSF from data provided by N.E. Kassim, Naval Research Laboratory, Sloan Digital Sky Survey/Handout via Reuters)
เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบโมเลกุลอินทรีย์อันซับซ้อน ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายโมเลกุลที่เป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยพบโมเลกุลดังกล่าวในเมฆยักษ์ของก๊าซและฝุ่นใกล้ใจกลางทางช้างเผือก

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบโมเลกุลอินทรีย์อันซับซ้อนที่เรียกว่า “โพรไพรีนออกไซด์” (propylene oxide) ในเมฆยักษ์ของก๊าซและฝุ่น ที่อยู่ใกล้ใจกลางทางช้างเผือก

โมเลกุลอินทรีย์ที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงโพรไพรีนออกไซด์นั้นก็เหมือนคู่มือซ้าย-ขวาของมนุษย์ ที่ต่างมีคู่เป็นเวอร์ชันภาพสะท้อนกระจกของตัวเอง แต่ไม่สมมาตรกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางเคมีที่เรียกว่า “ไคราลิตี” (chirality)

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ครุ่นคิดมาเป็นเวลานานว่า ทำไมสิ่งมีชีวิตจึงใช้เพียงโมเลกุลเวอร์ชันของโมเลกุลที่มี อย่างเช่นการใช้รูปแบบ “มือขวา” ของน้ำตาลไรโบส (ribose) ซึ่งเปรียบเสมือนไขสันหลังของดีเอ็นเอ

การค้นพบโพรไพรีนออกไซด์ในอวกาศ กระตุ้นทฤษฎีที่ว่าโมเลกุลไคราลิตีนั้นมีกำเนิดจากในเอกภพ

“นี่คือการบุกเบิกแบบก้าวกระโดดไปสู่ความเข้าใจว่าโมเลกุลพรีไบโอติคนั้นเกิดขึ้นในเอกภพอย่างไร และส่งผลกระทบต่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตหรือไม่” เบรตท์แมคไกวร์ (Brett McGuire) จากหอดูดาวดาราศาสตร์วิทยุสหรัฐฯ (National Radio Astronomy Observatory) ในชาร์ลอตต์สวิลล์ เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ กล่าว

โมเลกุลเหล่านี้มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตในทางชีววิทยา ซึ่งก่อนหน้านี้โมเลกุลดังกล่าวได้ถูกค้นพบในอุกกาบาตบนโลกและในดาวหางภายในระบบสุริยะของเรา แต่ไม่เคยมีการค้นพบไกลออกไปยังอวกาศระหว่างดวงดาว
การค้นพบนี้ยังเสริมแนวคิดว่า โครงสร้างทางเคมีเพื่อให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตนั้น ถูกส่งมายังโลกในช่วงยุคต้นๆ ด้วยวัตถุอย่างอุกกาบาตและดาวหาง ซึ่งเก็บรวบรวมโมเลกุลเหล่านั้นมาจากอวกาศ

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค.2016 ที่ผ่านมา นักวิจัยได้ค้นพบกรดอะมิโนไกลซีน (amino acid glycine) เป็นครั้งแรกในดาวหาง ซึ่งสิ่งมีชีวิตใช้โมเลกุลดังกล่าวเพื่อผลิตโปรตีน

ส่วนการค้นพบโมเลกุลอินทรีย์ล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์อาศัยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เพื่อค้นเจอรายละเอียดทางเคมีของโมเลกุลที่อยู่ในเมฆก๊าซและฝุ่นไกลๆ ซึ่งกำลังก่อกำเนิดดาวฤกษ์ เมื่อโมเลกลุหมุนไปรอบๆ ในอวกาศที่เป็นสุญญากาศนั้น จะปลดปล่อยการสั่นสะเทือนที่มีอยู่จริง ซึ่งปราฏเป็นคลื่นวิทยุที่ไม่ต่อเนื่อง

สัญญาณอันซับซ้อนที่สัมพันธ์ถึงโพรไพรีนออกไซด์นั้น ไม่แม่นยำพอที่จะให้นักวิจัยประเมินได้ว่า โมเลกุลนั้นหมุนไปทางซ้ายหรือหมุนไปทางขวา ซึ่ง แบรนดอน คาร์รลล์ (Brandon Carroll) นักศึกษาบัณฑิตศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกได้ว่า เงาที่เห็นนั้นเป็นของมือซ้ายหรือมือขวา

รอยเตอร์ระบุว่า การศึกษาต่อไปในอนาคตว่า แสงโพลาไรซ์นั้นทำอันตรกริยากับโมเลกุลอย่างไร ซึ่งจะเผยว่าอีกเวอร์ชันของโพรไพรีนออกไซด์นั้นปกคลุมไปทั่วอวกาศหรือไม่ โดยงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร “ไซน์” และได้เผยในงานประชุมวิชาการสังคมดาราศาสตร์อเมริกันในซานดิเอโกที่ผ่านมา









กำลังโหลดความคิดเห็น