สดร. เปิดโผ 10 เรื่องเด่นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2560 ชูไฮไลท์ดาวเคราะห์ใกล้โลก อุปราคาทั้งในและต่างประเทศ ดาวเคราะห์ชุมนุม พลาดไม่ได้กับฝนดาวตกเจมินิดส์ในคืนไร้แสงจันทร์รบกวน จับตาตอนอวสานยานอวกาศแคสสินีสำรวจดาวเสาร์ เกาะติดปฏิบัติการยานสำรวจดาวเคราะห์อื่นๆ อัพเดทความก้าวหน้าดาราศาสตร์ไทยกับโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่ปักหมุดไว้เกือบทั่วโลก เดินหน้าติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุใหญ่ที่สุดในอาเซียน เตรียมเชื่อมต่อเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก และพบกับการเปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก มุ่งเผยแพร่ดาราศาสตร์สู่ประเทศในภูมิภาค สะท้อนศักยภาพดาราศาสตร์ไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผย 10 เรื่องเด่นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2560 นำโดย รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ และ ดร.พฤทธิ์ เจริญจิตติชัย นักวิจัย สดร. ร่วมเผยหลากหลายประเด็นเด็ดดาราศาสตร์ชวนติดตามตลอดทั้งปี
“10 เรื่อง ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2560” มีดังนี้
1) ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก (7-8 เมษายน)
ดาวพฤหัสบดีมีความสุกสว่างมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็จะเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อย่างชัดเจน
2) ดาวเสาร์ใกล้โลก (15 มิถุนายน )
มองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมาก ปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน
3) จันทรุปราคาในไทย และสุริยุปราคาในต่างประเทศ
จันทรุปราคาเงามัว (11 กุมภาพันธ์) และ จันทรุปราคาบางส่วน (7-8 สิงหาคม) เห็นได้ในประเทศไทย สุริยุปราคา วงแหวน (26 กุมภาพันธ์) และ สุริยุปราคาเต็มดวงเต็มดวง (22 สิงหาคม) *ไม่เห็นในประเทศไทย
4) ฝนดาวตก
มีให้ชมอย่างต่อเนื่องเกือบทุกเดือน ที่น่าติดตามในปีนี้ ได้แก่ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” หรือฝนดาวตกวันแม่ (12-13 สิงหาคม) และ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” (13-14 ธันวาคม)
5) ดาวเคราะห์ชุมนุม
เป็นการกลับมาเคียงคู่กันอีกครั้งของดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 13 พฤศจิกายน
6) ปรากฏการณ์และกิจกรรมดาราศาสตร์อื่นๆ ที่น่าติดตาม
อาทิ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ฯลฯ
7) ความก้าวหน้ายานสำรวจอวกาศ
ชวนตามติดภารกิจสำรวจดาวเสาร์ของยานแคสสินี ใกล้จะสิ้นสุดและทำลายตัวเองในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ อัพเดทล่าสุดการสำรวจดาวพฤหัสบดีของยานสำรวจอวกาศจูโน การสำรวจดาวศุกร์ของยาน Akatsuki ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น และหลากหลายยานสำรวจอวกาศที่มุ่งสู่ดาวอังคาร ฯลฯ
8) การกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ และ Astro Corner in Schools
ส่งมอบกล้องโทรทรรศน์พร้อมสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ไปแล้วกว่า 160 โรงเรียน 61 จังหวัด ปีนี้ตั้งเป้ามอบ 100 โรงเรียน กระจายให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเพิ่ม “มุมดาราศาสตร์ในโรงเรียน (Astro Corner in School)” สนับสนุนชุดเรียนรู้ดาราศาสตร์พื้นฐานให้ห้องสมุดโรงเรียนทั่วประเทศ อีก 100 ชุด
9) โครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทย
อัพเดทความก้าวหน้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ในไทยและต่างประเทศ ขยายเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติให้ครอบคลุมซีดฟ้าเหนือและใต้ (ชิลี อเมริกา จีน ออสเตรเลีย) เดินหน้าติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตรในไทย มุ่งสู่การพัฒนาเป็นเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซีแห่งแรกในอาเซียน เตรียมพร้อมเชื่อมต่อกับเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก เพื่อพัฒนางานวิจัยดาราศาสตร์วิทยุและธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก
10) เปิดตัว “ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก”
เตรียมจัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์นานาชาติ เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงนักดาราศาสตร์ และผู้สนใจ ให้เข้ามามีบทบาทในการศึกษาวิจัยและสร้างความตระหนักทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน