xs
xsm
sm
md
lg

7 ผลไม้ไทยอาบรังสีพร้อมวางตลาดครั้งแรกในนิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
7 ผลไม้ไทยอาบรังสีพร้อมตีตลาดในนิวซีแลนด์-ออสเตรเลียครั้งแรก หลัง สทน.ใช้รังสีอาบผลไม้กำจัดเชื้อโรคและแมลงได้ตามมาตรฐาน ตีตลาดผลไม้ส่งออกทะลุด่านกีดกันทางการค้า คาดการณ์สร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มอีก 2,300 ล้านบาท  

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมชมความสำเร็จของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ที่ประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียอนุมัตินำเข้าผลไม้อาบรังสี 7 ชนิดเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา โดยมีการจัดแสดงผลงานเมื่อวันที่ 17 กงพ.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ระบุว่า สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น ล้วนเป็นลูกค้าสำคัญที่นำเข้าผลไม้จากไทยจำนวนมาก แต่ประเทศเหล่านี้กลับมีมาตรการกีดกันการนำเข้าผลไม้อย่างเข้มงวด เนื่องจากไม่มั่นใจในการควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลงศัตรูพืชที่อาจปะปนไปกับผลไม้จากประเทศไทย จึงได้ออกข้อกำหนด APHIS2 และ USDA3 ที่เป็นมาตรการการบังคับการควบคุมการขนส่งผักผลไม้และเนื้อสัตว์ที่ต้องผ่านการประเมินมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เสียก่อน

“หน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดย สทน. จึงได้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาการกีดกันการนำเข้าอาหารและผลไม้ส่งออกของไทย โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านนิวเคลียร์ด้านการฉายรังสี เพื่อฆ่าเชื้อโรค และไข่แมลงที่เป็นปัญหา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วภายในประเทศ เพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรปให้มากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าว
    
ดร.พิเชฐระบุเพิ่มเติมว่า การอาบรังสีผลไม้ส่งออกอยู่ในระดับที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ และสากล ทำให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยอมรับการนำเข้าผลไม้ไทยตั้งแต่ปี 2551 อีกทั้งเป็นผลให้ประเทศทางแถบยุโรปกว่าอีก 27 ประเทศยอมรับผลไม้นำเข้าของประเทศไทย รวมถึงประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียที่เพิ่งมีการอนุมัติรับผลไม้อาบรังสี 7 ชนิดจากประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ด้าน นางอรรจยา มาลากรอง ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สทน. กล่าวว่า การส่งผลไม้ไทยออกไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปในอดีตเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะกลุ่มประเทศเหล่ามองปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชจากต่างประเทศที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องใช้วิธีการลำเลียงผลไม้หลายทอด โดยส่งออกครั้งแรกไปยังประเทศคู่ค้าที่ได้รับอนุญาตการส่งผลไม้เข้าสหรัฐฯ เพื่อนำไปเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นของประเทศอื่น จากนั้นจึงค่อยส่งไปยังสหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการส่งออก แต่เมื่อมีการบริการอาบรังสีผลไม้โดย สทน.การส่งผลไม้ออกด้วยวิธีการนี้จึงลดลง

“กว่าที่สหรัฐฯ จะรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทยได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องส่งนักวิชาการจากกระทรวงเกษตรของเขามาทำวิจัยร่วมกับเราเป็นเวลากว่า 5 ปี เพื่อมาศึกษาว่าประเทศไทยมีแมลงชนิดใดบ้าง ที่อาจปะปนไปกับผลไม้ที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาดในประเทศของเขา แต่เมื่อเขาได้ทำวิจัยและเห็นกรรมวิธี ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการฉายรังสีของประเทศไทยก็เกิดความพึงพอใจ และยินยอมให้ผลไม้ไทยสามารถส่งออกไปขายยังสหรัฐฯ ได้โดยมีการประทับตรารับรองของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล ซึ่งตราประทับนี้ทำให้ประเทศทางแถบยุโรป และประเทศที่เข้มงวดมากอย่างประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียได้อนุมัติให้นำเข้าผลไม้ไทยได้เป็นครั้งแรกด้วย คาดว่าจะช่วยให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 2,300 ล้านบาท” นางอรรจยาระบุ

ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สทน. อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลไม้ที่ได้รับการอนุญาตให้ส่งออกมีทั้งสิ้น 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด สับปะรด เงาะ และแก้วมังกร ซึ่งเป็นผลไม้ที่ผ่านการทำวิจัยทางการตลาดแล้วว่าเป็นที่ต้องการของคนไทยและชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเหล่านั้น โดยผลไม้ที่จะส่งออกต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของ สทน. และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จากนั้นนำเข้าไปฉายด้วยรังสีแกมมาเป็นเช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลง ทั้งหีบห่อบรรจุเพื่อป้องกันการสัมผัสผลไม้ โดยผลไม้ฉายรังสีทุกรุ่นการผลิตจะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สังเกตการณ์จากสหรัฐฯ ทุกครั้ง

“การใช้รังสีกับอาหารไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มนุษย์เราใช้วิธีนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว เหมือนกับการเอาปลาไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ ผลไม้ที่นำมาอาบรังสีจะมีรสชาติเหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งแตกต่างจากการอบไอน้ำที่รสชาติของผลไม้จะเปลี่ยนไปเล็กน้อย และการอาบรังสีเป็นวิธีขั้นสุดท้ายที่จะกำจัดพวกเชื้อโรคและแมลงได้ 100% ซึ่งแมลงที่มีมักพบและมีปัญหากับผลไม้ทั้ง 7 ชนิด ส่วนมากจะเป็นพวกเพลี้ยอ่อน, เพลี้ยแป้ง, ไข่ของแมลงวันทอง, ไข่หนอนเจาะขั้วลำไย และไข่ด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง”  เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ปัจจุบัน สทน.ได้ให้บริการผู้ประกอบการผลไม้ส่งออกเป็นจำนวนกว่า 100 ราย โดยมีกำลังการผลิตผลไม้อาบรังสีวันละประมาณ 20 ตัน ซึ่ง ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สทน.ระบุว่าในอนาคตจะขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้นเป็นวันละ 100 ตัน และอาจมีการไปตั้งศูนย์ที่ภูมิภาค แต่ยังติดที่ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านรังสี  

นอกจากนี้  สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ยังได้นำอุปกรณ์ตรวจวัดรังสี ระบบเตือนภัยกรณีเหตุฉุกเฉินทางรังสี และหน่วยปฏิบัติการวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ มาร่วมจัดแสดงบริเวณด้านหน้าอาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างการแถลงข่าวความสำเร็จของผลไม้อาบรังสีไทยด้วย  
ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด สับปะรด เงาะ และแก้วมังกร ไดรับอนุญาตให้เป็นผลไม้อาบรังสีส่งออก
มะม่วง และสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงมากในต่างประเทศ
นาง อรรจยา มาลากรอง ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรน์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และ ดร.สมพร จองคำ ผอ.สทน.ร่วมแถลงความสำเร็จบนเวที
ดร.พิเชฐ เยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติการวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่
ระบบเตือนภัยกรณีเหตุฉุกเฉินทางรังสี โดย ปส.
รมว.วิทยาศาสตร์ ขึ้นรถหน่วยปฏิบัติการวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ชมการสาธิตจากเจ้าหน้าที่






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น