xs
xsm
sm
md
lg

4 สาขาเสี่ยงต้องมี "ใบอนุญาตวิชาชีพวิทยาศาสตร์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิรุจน์ อุทธา นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สชวท.เตรียมบังคับใช้ข้อบังคับวิชาชีพวิทยาศาสตร์ฯ เล็งนักวิทย์ 4 สาขา ควบคุม "นิวเคลียร์-วิเคราะห์สิ่งแวดล้อมควบคุมมลพิษ-จัดการเคมีอันตราย-เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ก่อโรค ต้องมีใบอนุญาตก่อนเข้าทำงาน ชี้เป็นวิชาชีพเสี่ยงต้องใช้ผู้รู้จริง หวังล้อมคอกก่อนเกิดอันตราย ยกระดับวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์

สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สชวท.) ทำความความเข้าใจ การประกาศใช้ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพและเทคโนโลยีควบคุม 4 สาขา เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจข้อบังคับวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 58

นายนิรุจน์ อุทธา นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้แทนคณะกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สชวท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551 มาตรา 3 ที่บัญญัติให้วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม หมายถึง วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขานิวเคลียร์, สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ, สาขาการผลิต ควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย และสาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรค

นายนิรุทน์ ระบุว่า ผู้ที่จะประกอบอาชีพในสาขาดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก สชวท.เสียก่อนจึงจะประกอบอาชีพดังกล่าวได้ เนื่องจากการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความเสียหายและอุบัติเหตุร้ายแรงที่จะเป็นอันตรายโดยตรงกับประชาชนและสังคมรวม จึงไม่สามารถปล่อยให้ผู้ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ คุณธรรมและจรรยาบรรยาบรรณเข้ามาดำเนินการได้โดยพลการ

"อีกทั้งมาตรา 41 ยังระบุไว้ด้วยว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม ที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะประกอบวิชาชีพโดยมิได้รับใบอนุญาตจาก สทวช. เว้นแต่เป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ในฐานะข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สทวช.จึงออกข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมแต่ละสาขา ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 57 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ต.ค. 58 ให้มีความเข้มงวดกว่าที่ผ่านมา" นายก สชวท.กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้านนายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สชวท. กล่าวว่า ข้อบังคับสภาวิชาชีพที่จัดทำขึ้น ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สชวท. และผ่านเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการก่อนออกประกาศตามราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลาถึง 3 ปี กว่าจะผ่านร่างข้อบังคับมายังรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อช่วงปี'57 ที่ผ่านมา จึงมั่นใจได้ว่าข้อบังคับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และไม่มีใครการคัดค้านจากภาคส่วนใด ต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพทั้ง 4 สาขา ที่ควรรีบสร้างความเข้าใจ ศึกษาข้อบังคับฯ เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่วิชาชีพควบคุมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นที่ยอมรับแก่สังคมทั่วไป

"สชวท. ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะเอกชนให้เข้ามาลงทะเบียนกับสชวท. เพื่อเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพตามสาขาบังคับให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในวันที่ 3 ต.ค. ที่จะถึงนี้ โดยแต่ละสาขาจะมีการส่งข้อมูลกลับไปยังผู้สมัครอีกครั้งว่าจะมีการจัดอบรม และจัดสอบ ณ สถานที่ใด เพื่อยกระดับให้วงการวิทยาศาสตร์ของเราได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล อีกทั้งยังเป็นการป้อมปรามให้ผู้ประกอบการกระทำการด้วยความระมัดระวัง รู้เท่าทันอันตรายจากความผิดพลาดในการทำงาน และมีการพัฒนาความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบวิชาชีพมาร่วมลงทะเบียนสอบใบประกอบวิชาชีพบังคับกว่า 4,000 คน" นายกฤษณ์ธวัช เผย

ในส่วนของ รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการ สชวท. กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมี ข้อบังคับจากสภาวิชาชีพฯ สถานประกอบการทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนจะมีมาตรการควบคุมการทำงานของผู้ประกอบการในแต่ละหน่วยอยู่แล้ว ซึ่งงานด้านการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษที่เธอทำอยู่ จะมีข้อกำหนดในส่วนของโรงงานและการกำหนดปริมาณสารเคมีในครอบครองแทนตัวบุคคล ซึ่งช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีได้ในระดับหนึ่ง แต่การมีข้อบังคับจาก สชวท.ให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีใบอนุญาตจะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับคนในสังคมมากขึ้น ว่าการดำเนินงานด้านสารเคมีอันตรายมีการควบคุมที่ได้มาตรฐาน และมีหลักประกันความเชื่อมั่นเช่นเกียวกับวิชาชีพอื่นๆ

ท้ายสุด นายสีหราช ลาภเกิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ ผู้มาเข้าร่วมการสัมนาเตรียมพร้อมการบังคับใช้ข้อบังคับฯ เผยว่า หลังทราบข่าวว่าจะมีการใช้ข้อบังคับสภาวิชาชีพกับผู้ประกอบวิชาชีพทั้ง 4 ด้านก็รู้สึกยินดีและไม่คิดว่าจะเป็นการเพิ่มความยากลำบากให้กับการทำงาน เพราะส่วนตัวอยากเห็นนักวิทยาศาสตร์มีใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ พยาบาล ครู ที่มีมานานแล้ว

"ผมรู้สึกว่าการมีข้อบังคับใช้ใบอนุญาตฯ จะช่วยยกระดับวงการวิชาชีพวิทยาศาสตร์ของไทยให้มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ในส่วนของผมทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการ ทำให้ไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตตามที่ข้อบังคับได้บัญญัติไว้ แต่ถ้าให้สอบผมก็ไม่ขัดข้อง เพราะข้อบังคับนี้จะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับหน่วยงานเอกชนมากกว่าเพราะไม่ได้อยู่ในระบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานราชการจะถูกละเว้น เพราะปกติจะมีการสอบและการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าหลังจากนี้ไปก็คงจะเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ" นายสีหราช เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ผู้ประกอบวิชาชีพทั้ง 4 ด้าน หรือ ผู้สนใจสามารสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สชวท. โทร 02-3333700 ในวันและเวลาราชการ หรือ www.cstp.or.th
พ.ร.บ. ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่มปัจจุบัน

การสัมนาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบวิชาชีพกว่า 500 คน
นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สชวท.
รศ.ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการ สชวท.
นายสีหราช ลาภเกิน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ





กำลังโหลดความคิดเห็น