xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.นาซาไม่อยากจ่ายเช็คจ้างรัสเซียขนส่งมนุษย์อวกาศอีกต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพระหว่าง แรนดี เบรสนิก (Randy Bresnik) มนุษยิอวกาศของนาซาเตรียมเข้าตรวจสอบภายในแคปซูล ซีเอสที-100 ของโบอิง (REUTERS/NASA/Handout via Reuters )
ผอ.นาซาเผยหลังปี 2017เป็นต้นไปไม่อยากจ่ายเช็คราคาแพงจ้างรัสเซียขนส่งมนุษย์อวกาศแล้ว หลังต้องพึ่งพา “โซยุซ” นับแต่ปลดระวางฝูงกระสวยอวกาศ พร้อมส่งต่อความเชี่ยวชาญการขนส่งสู่วงโคจรต่ำให้แก่ภาคเอกชนที่คาดว่าจะได้ใช้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อองค์การอวกาศจะได้มุ่งเป้าพัฒนาการขนส่งมนุษย์ไปดาวอังคารอย่างเต็มที่

เอเอฟพีเผยโบอิง (Boeing) จะเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่นำส่งมนุษย์องกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) สู่วงโคจรในเดือน ก.ค.2017 ภายใต้สัญญากับนาซา ตามหลังด้วย “สเปซเอกซ์” (SpaceX) บริษัทคู่แข่งที่ได้ทำสัญญาร่วมกับนาซาเช่นกัน

ทั้งโบอิงและสเปซเอกซ์ต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทดสอบเที่ยวบินขนส่งมนุษย์อวกาศ 1 คนให้สำเร็จ ก่อนขยับสู่เที่ยวบินรับ-ส่งมนุษย์อวกาศไปกลับสถานีอวกาศอีก 2 เที่ยวบิน และ 6 เที่ยวบินตามสัญญาร่วมกับนาซา โดยยานอวกาศจะถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยจรวดที่เคปคานาเวอรัลในฟลอริดา  

ในส่วนของโบอิงนั้นใช้แคปซูลรูปลูกโอ๊คที่ชื่อครูวสเปซทรานสปอร์เทชัน-100 (Crew Space Transportation-100:  CST-100) สำหรับขนส่งมนุษย์อวกาศ โดยออกแบบให้สามารถใช้งานใช้ซ้ำได้ 10 ครั้ง ส่วนสเปซเอกซ์ใช้แคปซูลดรากอนเวอร์ชันทู (Dragon Version Two) หรือดรากอนวีทู (Dragon V2) ซึ่งเป็นแคปซูลที่ใช้งานซ้ำได้เช่นกัน โดยแคปซูลของทั้งสองบริษัทสามารถบรรทุกลูกเรือได้ถึง 7 คนขึ้นไปยังสถานีอวกาศ  

สำหรับโบอิงจะได้เริ่มทดสอบเที่ยวบินขนส่งลูกเรือก่อน โดย จอห์น เอลบอน (John Elbon) รองประธานโบอิง และผู้จัดการทั่วไปฝ่ายสำรวจอวกาศ เผยว่าเที่ยวบินทดสอบจะเริ่มในเดือน ก.ค.2017 จากนั้นเที่ยวบินบริการเที่ยวแรกในการขนส่งลูกเรือสู่สถานีอวกาศจะเริ่มในเดือน ธ.ค.ของปีเดียวกัน
 
ขณะที่สเปซเอกซ์คู่แข่งจะทดสอบแคปซูลดรากอนรุ่นปรับปรุงในเที่ยวปลอดนักบินในปี 2016 แล้วตามมาด้วยการทดสอบเที่ยวบินบรรทุกลูกเรือในต้นปี 2017 เอเอฟพีรายงานโดยอ้างคำกล่าวของ กวินน์ ชอตเวลล์ (Gwynne Shotwell) รองประธานสเปซเอกซ์ ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนถึงวันที่ทดสอบ
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 สเปซเอกซ์ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ขนส่งเสบียงสู่สถานีอวกาศนานาชาติด้วยแคปซูลดรากอน ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงเพื่อใช้เป็นแคปซูลขนส่งลูกเรือ  
 

นาซาจะให้เงินแก่ทั้ง 2 บริษัทเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อให้บริษัทเอกชนทั้งสองพัฒนาเทคโนโลยีส่งชาวอเมริกันขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้ หลังจากที่องค์การอวกาศปลดระวางฝูงกระสวยอวกาศเมื่อปี 2011 และต้องหันไปพึ่งแคปซูลโซยุซขององค์การอวกาศรัสเซียหรือรอสคอสมอส (Roscosmos) แทน โดยต้องจ่ายค่าบริการในการขนส่งมนุษย์อวกาศกว่า 470 ล้านบาทต่อที่นั่ง

ชาร์ลส โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการนาซาเผยว่า การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเอกชนเข้าถึงวงโคจรขั้นต่ำ จะทำให้องค์การอวกาศสหรัฐฯ สามารถทุ่มเทในการส่งมนุษย์ไปดาวอังคารให้ได้ในปี 2024 ซึ่งการตัดสินเดินหน้าสู่ห้วงอวกาศที่ไกลออกไป จำเป็นต้องส่งต่อสิ่งที่นาซาค่อนข้างมั่นใจว่าทำได้ดีนั่นคือการเข้าถึงวงโคจรขั้นต่ำไปยังอุตสาหกรรมของชาวอเมริกัน นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐในการยุติการพึ่งพาองค์การอวกาศรัสเซียที่มีค่าใช้จ่ายสูง   

“ผมไม่อยากเขียนเช็คให้รอสคอสมอสอีกต่อไปหลังปี 2017 และหวังว่าจะทำได้จริงๆ” โบลเดนกล่าว   







*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น