เมื่อรัสเซียภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการ Stalin ประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1953 Andrei A. Sakharov ก็ได้รับการยกย่องในทันทีว่าเป็นบิดาของระเบิดไฮโดรเจน แต่เขาไม่รู้สึกภูมิใจหรือลิงโลดใจ เพราะในสมุดบันทึกที่เขาจดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น Sakharov ได้เขียนว่า เห็นฝูงนกจำนวนมากพยายามบินหนีไฟระเบิด แต่หนีไม่ทัน จึงตกลงมาตายสนิท ในสภาพตาบอดและขนตามลำตัวไหม้เกรียม
หลังจากนั้นแม้ Sakharov จะทุ่มเทพัฒนาระเบิดไฮเดรเจนที่สร้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่เหตุการณ์ฝูงนกเสียชีวิตเพราะถูกไฟประลัยกัลป์เผาทั้งเป็นในวันนั้นก็ยังตราตรึงในความทรงจำของเขาตลอดมา เมื่อ Sakharov ตระหนักว่า ตนไม่มีพลังหรืออำนาจใดๆ ที่จะหยุดยั้งรัสเซียไม่ให้สร้างอาวุธที่เขาเนรมิตขึ้นมาได้เลย นั่นคือเขาได้ปล่อยยักษ์ออกมาจากตะเกียงอะลาดินแล้ว เขาจึงเริ่มปรับเปลี่ยนตนเองไปเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน อีก 22 ปีต่อมา Sakharov ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1975 เหตุการณ์ทั้งสองนี้จึงดูเป็นเรื่องความขัดแย้งที่มีในบุคคลคนเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ
Sakharov เกิดเมื่อปี 1921 ที่กรุง Moscow ในรัสเซีย ปู่ Ivan Sakharov เป็นนักกฎหมาย ย่า Maria มีญาติที่เคยถวายงานในจักรพรรดิซาร์เมื่อปี 1655 และเป็นคนที่คอยช่วยสามีปกป้องนักการเมืองที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับ Stalin บิดาของ Sakharov ชื่อ Dmitri เป็นครูสอนฟิสิกส์ ผู้ชอบใช้เวลาว่างเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปอ่าน และเล่นดนตรี ส่วนมารดามีเชื้อสายสกุลผู้ดี เพราะพ่อแม่เป็นคนได้รับการศึกษา Sakharov จึงถูกอบรมให้เป็นคนรอบรู้ที่มีความสามารถทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวด้วย หลังจากที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาแล้ว Sakharov วัย 17 ปีได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Moscow สาขาฟิสิกส์
ในช่วงเวลานั้นนาซีซึ่งกำลังเรืองอำนาจในเยอรมนี ได้ส่งกำลังไปคุกคามนานาประเทศในยุโรป เมื่อกองทัพนาซีบุกรัสเซีย หนุ่มรัสเซียจึงถูกเกณฑ์เข้าประจำการ Sakharov ซึ่งเป็นโรคหัวใจระดับเริ่มต้นได้สมัครเป็นทหารด้วย เพราะมีความรู้สึกรักชาติที่รุนแรง แต่ถูกกองทัพปฏิเสธ ทำให้ต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจนสำเร็จปริญญาตรีในวัย 21 ปี และได้ประกาศเจตนาอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการเรียนต่อ เพราะต้องการรับใช้ชาติในยามสงครามมากกว่า จึงไปสมัครทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานสร้างอาวุธที่เมือง Ulyanovsk โดยมีหน้าที่ทดสอบความแข็งแกร่งของกระสุนปืน ด้วยวิธีที่ไม่ทำให้กระสุนแตก
ขณะปฏิบัติงานที่นี่ Sakharov ได้พบรักกับ Klava Vikhireva คนทั้งสองได้แต่งงานกัน ณ เวลานั้น Sakharov มีอายุ 22 ปี แต่ยังสนใจฟิสิกส์มากเหมือนเดิม จึงได้พยายามแก้โจทย์ฟิสิกส์ยากๆ ในยามว่างแล้วส่งคำตอบไปให้บิดาอ่านเพื่อใช้สอนพิเศษ
เมื่อบิดาอ่านโจทย์ และเห็นวิธีแก้ปัญหาของลูกชายก็รู้สึกประทับใจมาก จึงนำผลงานเขียนเหล่านั้นนั้นไปให้ Igor Tamm อ่าน (Tamm เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีเจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1958 ผู้มีส่วนในการอธิบายการเกิดรังสี Cerenkov ที่อนุภาคปล่อยออกมาเวลาคลื่อนที่ในตัวกลางด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วแสงในตัวกลางนั้น) Tamm ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่ P.N. Lebedev Physical Institute ในกรุง Moscow หลังจากที่ได้อ่าน และเห็นวิธีคิดของ Sakharov แล้วรู้สึกประทับใจในความสามารถของหนุ่ม Sakharov มาก จึงชวนให้มาเรียนต่อระดับปริญญาเอก โดยอาสาจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ให้
ถึงเดือนสิงหาคมปี 1945 Sakharov ได้ทราบข่าวสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง Hiroshima และ Nagasaki ในญี่ปุ่น Sakharov รู้สึกสนใจจะทำงานวิจัยเรื่อง fission (ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นิวเคลียสของธาตุหนัก เช่น uranium และ plutonium แบ่งตัวเวลาได้รับอนุภาคนิวตรอนเข้าไป แล้วปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา) เพื่อจะสร้างระเบิดปรมาณูให้รัสเซียบ้าง
ทั้งๆ ที่ขณะนั้น Sakharov กำลังวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีการค้นหาเรือดำน้ำ แต่เขาก็สามารถเปลี่ยนความสนใจจากเรือดำน้ำมาเป็นนิวเคลียร์ได้ในทันที เพื่อแสดงความรักชาติที่มี และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ระเบิดปรมาณูของรัสเซียมีพลังในการทำลายล้างมากกว่าระเบิดปรมาณูของอเมริกา และหนทางหนึ่งที่ Sakharov คิดว่าน่าจะทำได้คือ ด้วยการใช้ปฏิกิริยา fusion (ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการหลอมรวมนิวเคลียสของธาตุเบาสองนิวเคลียสให้เป็นนิวเคลียสเดียว) เพราะกระบวนการนี้สามารถปลดปล่อยพลังงานได้มากกว่า
Sakharov ได้ศึกษาเรื่องนี้จนพบว่า ถ้าใช้อะตอมไฮโดรเจน ซึ่งแต่ละอะตอมมีโปรตอน และอิเล็กตรอนอย่างละ 1 อนุภาค จำนวนสองอะตอมมาหลอมรวม ปฏิกิริยา fusion จะเกิดขึ้นได้ค่อนยาก แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้ อะตอมชนิดใหม่ที่มีโปรตอน 1 อนุภาค และใช้อนุภาค muon แทนอิเล็กตรอน เมื่อนำอะตอมชนิดใหม่มาหลอมรวม ปฏิกิริยา fusion จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะอะตอมชนิดใหม่มีขนาดเล็กกว่าอะตอมไฮโดรเจนเดิม
การค้นพบนี้ทำให้ Sakharov ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการผลิตระเบิดปรมาณูของรัสเซียทันที แต่เขาปฏิเสธ เพราะไม่ประสงค์จะให้นักวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการทำสงคราม
ลุถึงปี 1948เมื่อ Tamm ก็ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลรัสเซียให้เป็นผู้อำนวยการโครงการสร้างระเบิดไฮโดรเจน โดยการนำอะตอมของ deuterium มาหลอมรวมกับอะตอมของ trirum เขาก็เริ่มหาทีมทำงาน และพบว่า Yakov Zel’dovich เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีของรัสเซียที่เก่งมากอีกคนหนึ่ง จึงเชิญให้มาสร้างระเบิดไฮโดรเจนภายใต้การดูแลของ Tamm ร่วมกับ Sakharov และ Zel’Dovich ก็ได้นำแนวคิดใหม่มาเสนอว่า ถ้ามีการสร้างระเบิดปรมาณูขนาดเล็กก่อน แล้วให้ระเบิดปรมาณูนั้นระเบิด พลังงานมหาศาลที่เกิดจากการระเบิดจะบีบอัดนิวเคลียสของธาตุเบาสองนิวเคลียสให้รวมกันได้ เพราะแรงอัดจะชนะแรงผลักทางไฟฟ้าระหว่างประจุบวกของนิวเคลียสได้ และปฏิกิริยา fusion ก็จะเกิด นั่นคือรัสเซียจะมีระเบิดไฮโดรเจนในทันที
รูปแบบการทำระเบิดไฮโดรเจนที่ Zel’devich เสนอนี้ มีลักษณะคล้ายกับรูปแบบที่จารชนอเมริกันชื่อ Klaus Fuchs ได้ขโมยจากหน่วยราชการลับของอเมริกามาให้รัสเซีย
Sakharov เองไม่ศรัทธาในแนวคิดนี้มากนัก จึงพยายามเสนอรูปแบบใหม่ในการสร้างระเบิดไฮโดรเจนบ้าง โดยที่ให้แกนกลางของระเบิดใหม่เป็นระเบิดปรมาณูขนาดเล็ก และให้สร้างทรงกลมกลวงที่ทำด้วย deuterium และทรงกลมกลวงที่ทำด้วย uranium เรียงซ้อนกัน
เมื่อปฏิกิริยานิวเคลียร์เกิด พลังระเบิดที่ถูกปล่อยออกมาจะบีบอัด deuterium ในทรงกลมกลวงให้ปลดปล่อย neutron ออกมาไปทำปฏิกิริยา fission ใน uranium ซึ่งจะปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาล
แต่เมื่อ Vitaly Ginzburg (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2003 ) ได้อ่านโครงการระเบิดของ Sakharov เขาเสนอให้ใช้ lithium deuteride แทน deuterium เพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1950 Sakharov กับ Tamm ได้เดินทางไปเมือง Sarov ซึ่งเป็นเมืองวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย และอยู่ห่างจาก Moscow ประมาณ 500 กิโลเมตร โดยมีหน้าที่ร่วมกันสร้างระเบิด เพราะงานนี้เป็นราชการลับ ชื่อเมืองจึงไม่ปรากฏบนแผนที่ แต่มีชื่อรหัสว่า Arzamas-16 นักฟิสิกส์ทั้งสองได้ทุ่มเทเวลา และความสามารถในการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนของรัสเซียจนเป็นผลสำเร็จ
ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1952 เมื่อสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดไฮโดรเจน และอีก 3 ปีต่อมารัสเซียก็ได้แสดงให้โลกเห็นว่า นักฟิสิกส์รัสเซียก็เก่งเท่าเทียมกับนักฟิสิกส์อเมริกัน เพราะผลการทดลองที่ Semipalatinsk ใน Siberia ของรัสเซียแสดงให้เห็นว่าระเบิดไฮโดรเจนของรัสเซียมีความรุนแรงประมาณ 20 เท่าของระเบิดปรมาณูที่ Hiroshima และการทดลองนี้กระทำกันที่ Siberia เพราะนักอุตุนิยมวิทยารัสเซียได้พบว่า ฝุ่นกัมมันตรังสีที่เกิดหลังการระเบิดสามารถเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ ดังนั้น สถานที่ทดลองระเบิดจึงต้องอยู่ไกลจากพื้นที่อาศัยของผู้คน กระนั้น การทดสอบครั้งนั้นก็ได้ฆ่าทหาร 1 คน ทำลายตึก 1 หลัง และเด็กทารกอีก 1 คน Sakharov ผู้รู้สึกเศร้ามาก จึงประกาศว่าขอให้ทดสอบระเบิดไฮโดรเจนเฉพาะในสถานที่ๆ กำหนดเท่านั้น และจะต้องไม่ทำในเมือง ถ้อยแถลงนี้ได้รับการตอบโต้จากนายพล Mitrofan Nedelen ว่า หน้าที่นักวิทยาศาสตร์คือสร้างระเบิด ส่วนหน้าที่ใช้ระเบิดเป็นของทหาร
ตามปกติ Sakharov เป็นคนที่รักชาติมาก เขาเชื่อเรื่องสมดุลของอำนาจว่าถ้า ทุกชาติมีสงครามจะไม่เกิด นั่นคือถ้าอเมริกาและรัสเซียต่างก็มีอาวุธมหาประลัย สงครามนิวเคลียร์ก็จะไม่เกิด
ถึงจะรักชาติสักปานใด แต่ Sakharov ก็มิได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะรู้ดีว่าพรรคนี้ได้สังหารชาวรัสเซียที่บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน
หลังจากนั้นไม่นาน Sakharov ก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Soviet Academy of Sciences ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของรัสเซียที่มีเกียรติทัดเทียม Royal Society ของอังกฤษ ขณะนั้น Sakharov มีอายุเพียง 32 ปี เขาจึงเป็นนักฟิสิกส์ที่มีอายุน้อยที่สุดของสถาบัน และยังได้รับรางวัล Stalin ด้วยในฐานะวีรบุรุษของชาติ เมื่อ Sakharov ไม่มีสัญชาติหรือเชื้อชาติยิว และไม่เล่นการเมืองเลย เขาจึงเป็นคนที่ชาวรัสเซียทุกคนรัก
Sakharov ยังกังวลเรื่องภัยกัมมันตรังสีต่อไป เพราะเขาคิดว่า รังสีสามารถทำให้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า คนมีโอกาสจะเป็นมะเร็ง แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็รู้ดีว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่า การตายของคนเกิดจากการได้รับกัมมันตรังสีเพียงสถานเดียว
ส่วน Edward Teller ซึ่งเป็นบิดาระเบิดไฮโดรเจนของอเมริกากลับไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ Sakharov เพราะได้เขียนบทความเรื่อง Our Nuclear Future เพื่อเผยแพร่ว่า ปริมาณของรังสีคิดเป็น 1% ของรังสีจากนอกโลก และจากรังสีเอ็กซ์เท่านั้นเอง ซึ่งผลรวมจะทำให้อายุคนลดลงเพียง 2 วัน ในขณะที่บุหรี่ทำให้คนตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่าประมาณ 1,000 เท่า ดังนั้น อเมริกาและอังกฤษจึงสามารถทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้ต่อไป
อีก 6 เดือนต่อมานายกรัฐมนตรี Khruschev ก็ได้สั่งให้รัสเซียทำการทดลองต่อบ้าง โลกจึงก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น
Sakharov จึงขอร้องให้ Igor Kurchatov ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยนิวเคลียร์ของรัสเซียเข้าพบ Khruschev เพื่อแจ้งให้ทราบว่านักฟิสิกส์รัสเซียสามารถสร้างสถานการณ์จำลองของการระเบิดนิวเคลียร์แล้วได้ด้วยคอมพิวเตอร์ ดังนั้น รัสเซียจึงไม่จำเป็นต้องทดลองระเบิดจริงอีกต่อไป แต่ Khruschev ไม่รับข้อเสนอ และได้แจ้งให้ Sakharov ทราบว่า อย่าเข้ามายุ่งกับการเมือง ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมชาติของการเมือง
ในปี 1962 รัสเซียจึงเดินหน้าทดลองระเบิดนิวเคลียร์อีก 2 ลูก ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ Sakharov ด้วยน้ำตา
อีกหนึ่งปีต่อมา Sakharov ก็รู้สึกประหลาดใจมาก เมื่อรู้ว่าข่าวว่าบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลกได้ลงนามในสนธิสัญญาจำกัดการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในบรรยากาศ
หลังจากนั้น Sakharov ก็กลับไปสนใจฟิสิกส์ของอนุภาคต่อ เรื่อง ความไม่สมดุลระหว่างปริมาณสสารกับปฏิสสารในเอกภพ แต่เขาก็ยังอดสนใจเรื่องการเมืองไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีการจับกุมคนที่ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย Sakharov จึงได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ทางการปล่อยนักโทษเหล่านั้น โดยอ้างสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ผลที่ตามมาคือรัฐบาลรัสเซียประกาศตัดเงินเดือนของ Sakharov และถอดตำแหน่งงานบริหารของ Sakharov ในทุกองค์การ
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1967 Sakharov ได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลรัสเซียว่า การส่งเสริมการสร้างจรวดต่อต้านจรวดจะทำให้โอกาสการเกิดสงครามนิวเคลียร์มีความเป็นไปได้มาก และได้เขียนเรื่อง Reflections on Progress, Peaceful Coexistence and Intellectual Freedom เพื่อส่งให้ผู้อำนวยการกองสอบสวนลับของรัสเซีย (KGB) อ่าน โดยได้ชี้ให้เห็นภัยที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ ในบทความนั้น Sakharov ยังได้กล่าวถึง เสรีภาพทางความคิดว่าจะทำให้ชาติมั่นคง และได้ขอร้องให้ประเทศทุนนิยมกับประเทศสังคมนิยมทำงานร่วมกัน แทนที่จะทำลายกันและกัน โลกจึงจะมีสันติภาพ
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1968 Sakharov ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพของโลกมาเขียนเป็นบทความมอบให้นายกรัฐมนตรีรัสเซีย Leonid Brezhnev อ่าน และนำเผยแพร่ใน BBC รวมถึงลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ New York Times ด้วย
ผลที่ตามมาคือ Sakharov ถูกสั่งให้อยู่เฉพาะที่ Moscow และห้ามไม่ให้ไปเยือนเมือง Sarov อีก เพราะ Sakharov รู้เรื่องระเบิดที่เป็นความลับสุดยอดของชาติ
เมื่อภรรยาเสียชีวิต Sakharov ได้แต่งงานใหม่กับ Elena Bonner และมอบเงินที่สะสมทุกบาททุกสตางค์ให้แก่องค์การกาชาดของรัสเซียกับโรงพยาบาลมะเร็ง
ถึงปี 1975 Sakharov ได้รับการประกาศให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ทางการรัสเซียไม่อนุญาตให้ Sakharov เดินทางไป Oslo ในนอร์เวย์ ดังนั้น Bonner ผู้เป็นภรรยาจึงอ่านคำปราศรัยของ Sakharov ในพิธีรับรางวัลแทน
อีก 5 ปีต่อมา Sakharov ถูกจับในข้อหาต่อต้านการที่รัสเซียส่งกองทัพเข้าแทรกแซงในอาฟกานิสถาน และถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมือง Gorky (ปัจจุบันคือ Nizhny Novgorod) ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติไปเยือน
ในปี 1984 เมื่อภรรยาป่วยเป็นโรคหัวใจ และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรับการผ่าตัดที่อเมริกา Sakharov ได้ประท้วงโดยการอดอาหาร จนตนเองต้องเข้าโรงพยาบาล และถูกบังคับให้กินอาหาร อีกหนึ่งปีต่อมาภรรยาก็ได้รับอนุญาตให้ไปอเมริกาเพื่อเข้ารับการรักษาตัว และเดินทางกลับในปี 1986
เมื่อถึงเดือนธันวาคม 1986 นายกรัฐมนตรี Mikhail Gorbachev ได้อนุญาตให้ Sakharov และครอบครัวกลับ Moscow และอีก 3 ปีต่อมาเขาก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของรัสเซียเป็นครั้งแรก
อีก 7 เดือนต่อมา คือ ในวันที่ 14 ธันวาคม ปี 1989 ขณะเวลา 3 ทุ่ม Sakharov ได้เริ่มเตรียมบทความที่จะบรรยายในที่ประชุมสภา อีก 2 ชั่วโมงต่อมา ภรรยาได้พบว่า เขานอนสิ้นใจอยู่บนพื้น สิริอายุ 68 ปี ศพถูกนำไปฝังที่สุสานใน Moscow
ทุกวันนี้ที่รัสเซียมีถนน Sakharov Avenue, พิพิธภัณฑ์ Sakharov Museum และที่ Jerusalem ใน Israel มีจัตุรัส Sakharov ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมจาก Andrei Sakharov: Memoirs ซึ่งแปลโดย Richard Lourie และจัดพิมพ์โดย Alfred A. Knorf ในปี 1990
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์