xs
xsm
sm
md
lg

Frank Fennerผู้ช่วยคนสำคัญของผู้ได้รับรางวัลมหิดลปี 2014

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Frank Fenner
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1980 Frank Fenner นักไวรัสวิทยาชาวออสเตรเลีย ได้กล่าวปาฐกถานำในการประชุมขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization WHO) ที่กรุงเจนีวา ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์เกี่ยวกับการกำจัดโรคฝีดาษ (smallpox) ซึ่งได้คร่าชีวิตมนุษย์หลายร้อยล้านคนตลอดเวลานานร่วม 12,000 ปีว่า โรคร้ายนี้ได้ถูกแพทย์ นักสาธารณสุข และประชาชนช่วยกันกำจัดจนหมดโลกแล้ว หลังจากที่ได้คร่าชีวิตกษัตริย์และจักรพรรดิในอียิปต์ อเมริกาทั้งเหนือและใต้ จีน ญี่ปุ่น แอฟริกา ไทย และยุโรป รวมถึงพลโลกหลายพันล้านคน

การต่อสู้โรคอย่างได้ผลเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1798 เมื่อแพทย์ชื่อ Edward Jenner ได้พบว่า วัคซีนที่ทำจากไวรัสฝีดาษวัวสามารถป้องกันฝีดาษได้ ตั้งแต่นั้นมาวัคซีนของ Jenner ก็ได้ทำให้การระบาดในยุโรปลดลงๆ แต่ในบริเวณอื่นๆ ของโลกความร้ายกาจของฝีดาษก็ยังรุนแรงตลอดมา ความสำเร็จในการกำจัดโรคร้ายนี้จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ได้ทำให้โลกปลอดจากโรคชนิดหนึ่ง

Fenner เกิดเมื่อปี 1914 ที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Ballarat ใกล้กรุง Melbourne ในออสเตรเลีย บิดาเป็นนักเขียนและครูสอนหนังสือในโรงเรียน ซึ่งสนใจในวิทยาการหลายสาขา เช่น ภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา ธรณีวิทยา และประวัติศาสตร์ ฯลฯ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดเวลานี้ได้ถูกถ่ายทอดสู่ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกคนที่มีชื่อต้นว่า Frank

เมื่อ Frank ได้รับการชี้แนะจากบิดาให้เรียนแพทย์ จึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Adelaide และสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตในปี 1939 เมื่ออายุได้ 25 ปี ขณะนั้นเป็นเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้อุบัติ

หลังจากที่ได้เข้าเรียนแพทย์ Fenner ก็ตัดสินใจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อน ด้วยความคาดหวังว่าจะถูกส่งไปประจำการในย่านเอเชีย เพื่อวิจัยและหาวิธีป้องกันโรคที่ระบาดในเขตร้อน แล้วความฝันของ Fenner ก็เป็นจริง เมื่อถูกหัวหน้าส่งไปทำงานประจำที่ New Guinea เพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรียที่ได้คร่าชีวิตของทหารออสเตรเลียไปเป็นจำนวนมาก

หลังฝึกงานที่ New Guinea เป็นเวลา 5 ปี ผลงานของ Fenner ก็เริ่มเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของชาวโลก เมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียที่นั่นในแต่ละปีได้ลดลงมาก

ในขณะที่ชีวิตการงานดำเนินไปได้ด้วยดี ชีวิตรักของ Fenner ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะ Fenner ได้เข้าพิธีสมรสกับ Ellen Roberts ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการใกล้ๆ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติในปี 1945 Fenner วัย 30 ปี ก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภายใต้ทุนสนับสนุนของสถาบัน Walter and Eliza Hall Institute of Medical Research ที่ Melbourne และมี Macfarlane Burnet ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ประจำปี 1980 จากผลงานเรื่องภูมิคุ้มกันวิทยา (immunology) เป็นผู้อำนวยการ

วิถีชีวิตของ Fenner เริ่มหักเหเมื่อ Burnet ได้ขอให้ Fenner ศึกษาไวรัสฝีดาษหนู (mouse pox virus) ว่าสามารถทำให้คนเป็นโรค ectromelia อย่างไร และโรคมีกระบวนการระบาดอย่างไร เพราะก่อนนั้นหนึ่งเดือนคณะวิจัยอีกคณะหนึ่งภายใต้การนำของ Burnet ได้พบว่า ไวรัสชนิดนี้อยู่ในวงศ์ (family) เดียวกับฝีดาษคน ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้ในการวิจัยทดแทนฝีดาษคนได้

จากนั้น Fenner ก็ได้ศึกษาฝีดาษกระต่าย (rabbit pox) ที่เกิดจากไวรัส myxoma ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรค myxomatosis เพราะในปี 1948 โรคร้ายนี้ได้ระบาดหนักในออสเตรเลีย ทำให้กระต่ายจำนวนหลายล้านตัวตาย สาเหตุการระบาดเกิดจากการที่เชื้อไวรัสถูกนำไปทดลองเพื่อประเมินผลว่า สามารถใช้ควบคุมจำนวนประชากรของกระต่ายได้หรือไม่ และขณะทดลองได้เกิดอุบัติเหตุทำให้ไวรัสหลุดเล็ดรอดจากหลอดทดลองออกไปอาละวาดระบาดทั่วประเทศในปี 1948

ในปีเดียวกันองค์การอนามัยโลกก็ได้จัดตั้งหน่วยวิจัยศึกษาวิธีกำจัดฝีดาษให้หมด และผลิตวัคซีนฝีดาษป้องกันให้พอเพียง

ในปี 1952 Fenner ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัย Australian National University ที่ Canberra และได้ทำงานวิจัยโรค myxomatosis ต่อ เพราะโรคนี้กำลังระบาดอย่างรุนแรง ทำให้คนหลายคนป่วยเป็นโรคสมองอักเสบ (encephalitis) และบรรดาหนังสือพิมพ์สื่อต่างๆ ได้กล่าวหาว่า ห้องปฏิบัติการของ Fenner คือต้นเหตุของการระบาด

เพื่อสยบข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐานและเหตุผล Fenner กับเพื่อนร่วมงานอีกสองคนได้ฉีดไวรัสโรคดังกล่าวเข้าร่างกายตนเอง และพบว่า ทั้งสามมิได้ป่วยเป็นอะไรเลย การกระทำเยี่ยงนี้แสดงให้ทุกคนประจักษ์ในความเชื่อมั่นเชิงวิชาการของ Fenner ซึ่งมีผลทำให้ข้อใส่ไคล้สลายไปในทันที

ลุถึงปี 1965 ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศแถลงการณ์ว่าการกำจัดฝีดาษให้สิ้นโลกเป็นวาระของทุกประเทศในโลก

ในช่วงเวลาปี 1967-1977 องค์การอนามัยโลกได้เริ่มดำเนินการกำจัดฝีดาษโดยมี Donald A. Henderson (ผู้พิชิตรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2557) เป็นผู้อำนวยการของโครงการ เพราะในปีนั้นมีคนเป็นโรคฝีดาษจำนวนกว่า 10 ล้านคน และจำนวนผู้เสียชีวิตใน 42 ประเทศมีกว่า 2 ล้านคน Henderson ได้ชักนำ Fenner ให้เข้ามาร่วมโครงการในฐานะนักรณรงค์หลัก และย้ายศูนย์กำจัดไปประจำที่เจนีวา โดย Henderson ทำงานบริหารด้วยหลักการว่าทหารกองหน้าทุกคนในกองทัพมีความสำคัญในสงครามยิ่งกว่าแม่ทัพใหญ่ที่นั่งอยู่ที่ศูนย์บังคับการ

โครงการกำจัดฝีดาษได้เริ่มดำเนินการด้วยการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษในคนทั่วโลกประมาณปีละ 300 ล้านคน และทันทีที่ศูนย์ ได้รับข่าวการระบาด ณ บริเวณใดในโลก ศูนย์ก็จะจัดส่งแพทย์และวัคซีนไปฉีดให้ผู้คนนับแสนในบริเวณนั้นโดยไม่รอช้า
Donald A. Henderson
ในสมัยนั้นวงการแพทย์เชื่อว่าไวรัสฝีดาษจะระบาดเฉพาะจากคนสู่คนเท่านั้น และเพื่อความมั่นใจ ว่าไวรัสจะไม่ระบาดจากคนสู่สัตว์ เพราะถ้าสัตว์สามารถเป็นแหล่งอาศัยของไวรัสฝีดาษได้ การกำจัดให้สิ้นโลกก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แพทย์หลายคนจึงตั้งประเด็นสงสัยว่าสัตว์ประเภทลิงอาจรับเชื้อไวรัสฝีดาษได้ แต่ในปี 1958 นั่นเองแพทย์ก็ได้พบว่า มีไวรัสชนิดใหม่ที่ทำคนเป็นโรคฝีดาษลิง ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงจัดให้มีการประชุมเพื่อศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของไวรัสชนิดใหม่นี้ และได้เชิญ Fenner มาเป็นกรรมการท่านหนึ่งในโครงการวิจัยนี้

ภายในเวลาเพียงสิบปี คณะวิจัยก็ได้พบว่า ถ้าฝีดาษลิงเข้าสู่ร่างกายคน คนที่ได้รับฝีดาษลิงจะไม่สามารถแพร่กระจายโรคได้เร็วหรือง่าย หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือคนป่าหรือชาวบ้านที่กินลิงเป็นอาหารไม่ได้แพร่ระบาดโรค

เมื่อเป็นเช่นนี้แพทย์ทุกคนจึงรู้ในทันทีว่า โอกาสที่โลกจะปลอดโรคฝีดาษมีความเป็นไปได้สูงมาก

การกวาดล้างกำจัดโรคฝีดาษจึงได้เดินหน้าต่อไป โดยความพยายามให้ทุกประเทศมั่นใจว่า แม้แต่ละประเทศจะไม่มีใครป่วยเป็นฝีดาษเป็นเวลานาน ทุกประเทศก็ต้องรายงานข่าวการระบาดทันที เพื่อให้แพทย์ของประเทศนั้น และแพทย์นานาชาติสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ทันการ นอกจากนี้การปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษในคนทั้งประเทศก็ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบอาการของคนที่กำลังจะเป็นก็ต้องทำในทันที นอกจากปัญหาไวรัสแล้ว ปัญหาคนก็มีมากเช่นกัน เพราะแพทย์ในบางประเทศปฏิเสธไม่ยอมรับวัคซีนที่ WHO กำหนดให้ใช้ โดยยืนยันจะใช้วัคซีนที่ผลิตเอง ความขัดแย้งในการทำงานจึงเกิดขึ้นเนืองๆ

หลังจากที่ได้ติดตามศึกษาและวิเคราะห์ รายงานในประเทศต่างๆ เกี่ยวกับคนไข้ฝีดาษคนสุดท้ายในทุกประเทศแล้ว องค์กรได้ติดตามการระบาดของฝีดาษในอีก 2 ปีต่อมา และหากไม่พบการระบาดอีกเลย Henderson ก็จะลงตราประทับว่า ประเทศนั้นปลอดฝีดาษ 100% จากนั้นคณะกรรมการก็จะให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่า ฝีดาษจะไม่หวนกลับมาอีก

ลุถึงเดือนธันวาคมปี 1979 คณะกรรมการได้ยื่นรายงานต่อผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกว่า ฝีดาษได้ถูกกำจัดจนสิ้นโลกแล้ว

เมื่อถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 1980 ที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศยอมรับผลการกำจัดฝีดาษของ Henderson ผู้มี Fenner เป็นกำลังสำคัญ หลังจากที่ได้ทำงานหนักนานถึง 35 ปี และนั่นหมายความว่า ต่อแต่นี้คนทั้งโลกไม่จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนฝีดาษอีกต่อไป

หลังจากที่โครงการสิ้นสุด Henderson ได้กลับไปทำงานต่อที่มหาวิทยาลัย Pittsburgh กับ John Hopkins ในอเมริกา และเขาได้กล่าวถึงประสบการณ์กำจัดฝีดาษของเขาว่า อะไรก็ตามที่ใครคนหนึ่งทำสำเร็จแล้ว ผู้คนมักคิดว่าเป็นเรื่อง “ง่าย” เช่นเดียวกับเวลาตัดถนน เมื่อสร้างถนนเสร็จ หลายคนมักลืมนึกไปว่า ก่อนนั้นบริเวณนั้นเคยเป็นป่าทึบ มีหุบเหว สัตว์ร้าย และโรคภัยไข้เจ็บมากมาย

ในกรณีของโครงการกำจัดฝีดาษก็เช่นกัน ก่อนทำใครๆ ก็ดูเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อลุล่วง ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2010 Fenner ได้ถึงแก่กรรมที่บ้านในกรุง Canberrra สิริอายุ 96 ปี

อ่านเพิ่มเติมจาก Smallpox: The Death of a Disease โดย D.A. Henderson จัดพิมพ์โดย Prometheus Books ปี 2009

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์










กำลังโหลดความคิดเห็น