Johann Heinrich Wilhelm Tischbein เกิดที่เมือง Haida ในเขต Hesse ของเยอรมนีเมื่อ ค.ศ.1751 (รัชสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์) บรรพบุรุษมีอาชีพเป็นศิลปินมา 3 ชั่วอายุคนแล้ว ในวัยเด็ก Tischbein ได้ไปฝึกงานศิลปะกับลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจศิลปะที่เมือง Hamburg เมื่อได้เห็นภาพวาดมากมายที่ล้วนสวยงามในร้าน Tischbein ได้พยายามวาดเลียนแบบศิลปินคลาสสิกเหล่านั้น ทำให้ได้รู้ความสามารถที่เป็นจุดเด่น และจุดด้อยของศิลปินทุกคนที่ตนลอกเลียน จากนั้นได้เดินทางไปดูงานแสดงศิลปะที่ Amsterdam ในเนเธอร์แลนด์เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์วาดภาพ แล้วเดินทางกลับ Berlin เพื่อรับจ้างวาดภาพเหมือนให้บรรดาขุนนางและเศรษฐี ซึ่ง Tischbein ก็ทำได้ดีเยี่ยมจนสถาบันศิลปะ Kassel ให้ทุนไปศึกษาวิชาศิลปะเพิ่มเติมที่อิตาลีเป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งทำให้ Tischbein ได้เห็นผลงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของโลกโดยจิตรกรระดับสุดยอด เช่น Raphael และ Michelangelo ที่ Venice, Florence และ Rome
ในช่วงที่เดินทางกลับเยอรมนี Tishbein ได้แวะพักที่ Zurich ในสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อสนทนากับ Wolfgang Goethe นักปราชญ์ชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้ Goethe รู้สึกประทับใจในความสามารถวาดภาพเหมือนของ Tischbein มาก จึงเขียนจดหมายขอทุนฝึกงานจาก Archduke Ernst แห่ง Gotha ให้ส่ง Tischbein ไปฝึกวาดภาพต่อที่อิตาลีเป็นครั้งที่สองในปี 1783
อีก 3 ปีต่อมาเมื่อ Tischbein ได้มีโอกาสพบ Goethe อีก จึงรับอาสาวาดภาพเหมือนของ Goethe ชื่อ “Portrait of Goethe in the Roman Campagna” เป็นการตอบแทนบุญคุณ
การทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างศิลปินกับนายแบบทำให้ Goethe พบว่า Tischbein มีนิสัยคล้ายตน คือชอบใช้ชีวิตและความเป็นอยู่อย่างลำบาก แต่ Goethe มีฐานะทางการเงินดีกว่า จึงรับเป็นผู้อุปถัมภ์ Tischbein แล้วทั้งสองได้เดินทางไป Naples ในอิตาลีกัน ขณะอยู่ที่นั่น
Goethe ได้หางานให้ Tischbein ทำในตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบัน Naples Academy ซึ่ง Tischbein ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้นาน 16 ปี จนอายุ 48 ปีจึงแต่งงาน และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 78 ปีที่เมือง Eutin
ตามปกติ Tischbein ถนัดการวาดภาพเชิงประวัติศาสตร์ แต่เขาสามารถปรับเปลี่ยนความถนัดได้เร็ว จึงเปลี่ยนไปวาดภาพสไตล์ Rococo และสไตล์ Classic ของกรีกสำหรับลูกค้าที่เป็นชนชั้นสูง แต่ในที่สุดก็ได้เปลี่ยนมาวาดแนว Romanticism
ด้าน Johann Wolfgang von Goethe เขาคือปราชญ์อัจฉริยะผู้มีความสามารถรอบด้าน คือ เป็นทั้งกวี จิตรกร นักเขียนบทละคร และนักพฤกษศาสตร์ ฯลฯ Goethe เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1747 ที่เมือง Frankfurt-am-Main ในครอบครัวที่มีชาติตระกูลสูง บิดาเป็นนักกฎหมายผู้มีความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะในระดับดีมาก มารดาเป็นนักวิจารณ์วรรณคดี การมีบรรยากาศวิชาการในบ้านทำให้ Goethe ชอบและรักศิลปะ แม้บิดาจะเคี่ยวเข็ญให้เรียนกฎหมายก็ตาม แต่ Goethe ก็ไม่สนใจ กลับใช้เวลาแต่งบทละครและเขียนบทประพันธ์
เมื่ออายุ 16 ปี Goethe ถูกบิดาบังคับให้เรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Leipzig แต่ Goethe ใช้เวลาว่างไปแอบอ่านวรรณคดี ปรัชญา วิทยาศาสตร์ และสถาปัตยกรรม ในเวลาต่อมาก็ได้รับอนุญาตจากบิดาให้ไปเรียนกฎหมายต่อที่มหาวิทยาลัย Strasbourg เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าพิธีสมรสกับ Christiane Vulpius ผู้มีบิดาที่มีฐานะร่ำรวย สองสามีภรรยาได้แยกตัวไปสร้างครอบครัวที่เมือง Vezlar เพื่อให้ Goethe มีเวลาเพียงพอในการเขียนนวนิยายเรื่อง Sorrow of Verder และเขาได้ใช้เมืองนี้เป็นฉากหลังของเรื่อง
ในปี 1774 Goethe วัย 23 ปี ได้เรียบเรียงบทละครเรื่อง Faust ซึ่งเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บทประพันธ์นี้มี 12,111 บรรทัด ซึ่งถ้าจะมีการเล่นละครเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์แบบ นักแสดงต้องใช้เวลานานถึง 17 ชั่วโมงจึงจะจบ
เมื่ออายุ 34 ปี Goethe ได้อพยพไปเมือง Weimar เพื่อเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรวบรวมเอกสารวรรณกรรมของท่าน Duke แห่ง Weimar
ในปี 1792 เมื่อท่าน Duke ปราชัยในการทำสงครามกับฝรั่งเศส และเสียชีวิต Goethe ได้ขอลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด เพื่ออุทิศชีวิตเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1882 สิริอายุ 82 ปี
ณ วันนี้ Goethe ของเยอรมนีมีความยิ่งใหญ่ระดับ Shakespeare ของอังกฤษ Dante ของอิตาลี และ Cervantes ของสเปน
สำหรับที่มาของภาพ “Goethe in the Roman Campagna” นั้น เกิดขึ้นเมื่อ Goethe เดินทางถึง Rome ในเดือนตุลาคมของปี 1786 และ Tischbein ได้เริ่มลงมือวาดภาพเหมือนนี้โดยให้ Goethe สวมหมวกปีกกว้าง สวมเสื้อคลุม แล้วนั่งทอดสายตามองไปไกลๆ Tischbein ได้จัดท่าโพสให้เท้าซ้ายของ Goethe แตะพื้น แต่เท้าขวาลอยอยู่ในอากาศ หลังจากที่นั่งให้วาดภาพจนเสร็จแล้ว Goethe มิได้มีโอกาสเห็นภาพที่ตนเป็นนายแบบเลย เพราะกำลังสนใจเรื่องอื่นยิ่งกว่า ส่วน Tischbein ก็ไม่ได้กล่าวถึงภาพวาดนี้ในสมุดบันทึกความจำใดๆ ของเขาเลย จนกระทั่งปี 1887 ซึ่งเป็นเวลาที่ความนิยมชมชอบในตัว Goethe พุ่งถึงจุดสูงสุด ภาพนี้จึงถูกนำออกแสดง และนักสะสมภาพคนหนึ่งได้ซื้อภาพนี้ไปแล้วมอบให้สถาบันศิลปะ Stadelsches Kunstinstitut แห่งเมือง Frankfurt เพื่อนำออกแสดง ผลปรากฏว่า ชาวเยอรมันแทบทั้งประเทศมีความเห็นว่า มันเป็นภาพที่แสดงความเป็นเยอรมันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด อีกทั้งเป็นภาพเหมือนของปราชญ์ที่ชาวเยอรมันทุกคนชื่นชม และยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีคุณภาพเหนือนักการเมือง และนักเศรษฐศาสตร์ทุกคนในสมัยนั้น
ประเด็นที่น่าคิดคือ ถ้า Tischbein มิได้วาดภาพนี้ ชื่อเสียงของเขาก็อาจไม่ยืนยงจนถึงทุกวันนี้ก็ได้ เพราะในคริสตศตวรรษที่ 18 ผู้คนทั่วไปรู้เพียงว่า Tischbein เป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะและรับงานทุกหนแห่งทั้งในเมือง Hamburg, Lübeck, Haina, Hanau และ Kassel และตระกูล Tischbein มีสมาชิกหลายคนเป็นจิตรกรวาดภาพเหมือน และสมาชิกบางคนเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
นักประวัติศาสตร์ศิลปะยังได้พบอีกว่า เมื่อ Goethe เดินทางไปอิตาลีในครั้งนั้น เขาได้แอบไปอย่างเงียบๆ โดยมิได้บอกกล่าวใคร ทั้งนี้คงเป็นเพราะ Goethe กำลังอึดอัดใจมากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักประพันธ์ หลังจากที่มีชื่อเสียงมากจากผลงานเรื่อง Werther และ Götz von Berlichingen แล้วผลงานอื่นๆ ของ Goethe ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนเรื่อง Torquato Tasso นั้น Faust ก็ยังเขียนไม่เสร็จ
นอกจากเหตุผลด้านความไม่พร้อมของจิตใจแล้ว Goethe ก็ยังมีปัญหาส่วนตัวกับชู้รักของตนเองชื่อ Charlotte von Stern ด้วย เพราะไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ Goethe เลยตลอดเวลา 10 ปีที่ Goethe พำนักอยู่ที่ Weimar เขาจึงตัดสินใจ “หนี” จากเธอ
แต่ในภาพเราจะไม่เห็นใบหน้าของ Goethe แสดงว่ากำลังกังวลหรือกำลังมีปัญหาชีวิตแต่อย่างใด และ Goethe ก็ไม่ประสงค์จะให้ Tischbein หรือใครรู้อะไรเกี่ยวกับความรู้สึกลึกๆ ของตน ด้วยเหตุนี้เวลาอยู่ที่ Rome Goethe จึงใช้ชื่อปลอมว่า Filippo Miller และเวลาเขียนจดหมายกลับบ้าน ก็ไม่ได้บอกที่อยู่ของผู้ส่งจดหมาย
ในบทประพันธ์เรื่อง Italian Journey ที่ Goethe เขียนขึ้นเมื่อ 30 ปีหลังการเดินทางไปอิตาลีครั้งนั้น Goethe เล่าว่า มันเป็นการเดินทางที่ทำให้เขาได้ทั้งความรู้ และความสามารถ นั่นคือ การเดินทางครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาในทางดี
สำหรับผลงานด้านศิลปะ Goethe ได้เน้นว่า งานศิลปะทำให้เขาได้รับการศึกษามากอย่างคาดไม่ถึง และต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการวาดภาพแต่ละภาพ จึงได้ขอร้อง Tischbein มาช่วยแก้ไขปรับปรุงภาพทุกภาพที่ Goethe วาด เพื่อให้ดูเป็นงานของศิลปินมืออาชีพมากขึ้น
การเดินทางของ Goethe ไป Rome ในครั้งนั้นเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะถ้า Goethe ต้องการจะหนีจากความจำเจที่ Weimar เขาก็น่าจะไป Paris, Vienna, London หรือ Florence แทน แต่กลับหนีไป Rome ซึ่งก็คงด้วยเหตุผลเดียวกับ Tischbein คือทั้งสองมีความรู้สึกตรงกันว่า ผู้คนที่ Rome มีชีวิตชีวา และ Rome เป็นเมืองยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งมีอนุเสาวรีย์มากมายซึ่งจะช่วยชุบฟื้นวิญญาณ และจิตใจของผู้ไปเยือนได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นเมื่อ Goethe เดินทางมาถึง Rome Tischbein ได้นำ Goethe ไปดูพิพิธภัณฑ์, น้ำพุ Trevi, อนุเสาวรีย์ ฯลฯ และ Goethe ได้ซื้อรูปหินอ่อนแกะสลักเป็นเทพเจ้า และเทพธิดาเป็นที่ระลึก จากนั้นได้เดินทางคนเดียวไป Sicily แต่ไม่ได้ไปกรีซ เพราะกรีซกำลังตกอยู่ภายใต้การยึดครองของตุรกี
Goethe ชอบศิลปะสไตล์ Barogue และ Rococo และได้รับแรงดลใจจากศิลปินแนวนี้ เขาจึงเขียนบทละครเรื่อง Iphigenia ต่อ จากที่ได้เริ่มเขียนขณะอยู่ที่ Weimar แล้วมาจบที่ Rome ละครนี้เป็นเรื่องของนักบวชสตรีที่ได้ล้างบาปให้น้องชาย ซึ่งได้กระทำมาตุฆาต และจิตใจกำลังถูกมารผจญตลอดเวลา
เมื่อเรียบเรียงจบ Goethe ได้อ่านบทประพันธ์เรื่องนี้ให้ Tischbein ฟัง และรู้สึกชอบที่ได้เห็นปฏิกริยาตอบสนองของผู้ฟังมาก เพราะ Tischbein เป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกลึกๆ ของ Goethe ดี จึงรู้สึกดื่มด่ำในตัวละคร Iphigenia มาก ดังนั้นเวลาเขาวาดภาพเหมือนของ Goethe เขาจึงได้วาดภาพแกะสลักหินอ่อนรูป Iphigenia กำลังทักทายน้องชาย Orestes โดยให้เป็นฉากหลังวางอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของศิลปะโรมัน
ครั้นเมื่อ Tischbein เดินทางไปที่ Zurich เขาได้แนวคิดในการวาดภาพเหมือนจาก Johann Jakob Bodmer ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวว่า ผลงานของกวีและศิลปินเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการแสดงเอกลักษณ์ประจำชาติ เพราะสามารถกระตุ้นผู้คนให้รักชาติได้ ดังนั้น Tischbein จึงตัดสินใจวาดภาพเหมือนของ Goethe เพื่อกระตุ้นให้คนเยอรมันรู้สึกรักชาติบ้าง โดยได้วาดภาพขนาด 206 เซนติเมตร x 164 เซนติเมตรนี้ โดยมีฉากหลังแสดงทิวทัศน์ในอิตาลีที่ Goethe กำลังเยือน ในขณะที่สายตาของ Goethe จ้องตรงไปข้างหน้าเสมือนกำลังครุ่นคิดเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง
ในช่วงเวลาที่ Goethe และ Tischbein อยู่ที่ Rome ทั้งสองได้เช่าห้องอยู่ติดกัน กินอาหารร่วมกันในบางครั้ง แต่ความสัมพันธ์นี้ก็ไม่ยืนยง เพราะหลังจากที่ได้เดินทางไป Naples ด้วยกันแล้ว ทั้งสองได้แยกทางกัน
Tischbein ซึ่งมีฐานะการเงินที่ไม่มั่นคงได้ตัดสินใจพำนักอยู่ต่อที่ Naples ส่วน Goethe เดินทางต่อไป Sicily เพราะเขารู้สึกว่า Tischbein สนใจเรื่องต่างๆ มากเกินไป ไม่เคยมีสมาธิ และไม่สนใจความรู้สึกของ Goethe ด้วย
แม้ชีวิตจะต้องแยกจากกัน เพราะมีบุคลิกที่ไม่ตรงกัน แต่ Tischbein ก็ไม่เคยวิพากย์วิจารณ์ Goethe เลย และได้เอ่ยถึงบ้าง เมื่อครั้งที่เดินทางไป Naples กระนั้น Tischbein ก็มิได้พูดถึงภาพเหมือนที่ตนวาด เสมือนว่า Goethe เป็นคนที่สำคัญและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะคบเป็นเพื่อน อีกทั้งเป็นอัจฉริยะที่ Tischbein ไม่สามารถเทียบเคียงได้ Tischbein คงไม่รู้ว่า ณ วันนี้ ภาพเหมือนของ Goethe ที่เขาวาดเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Goethe ที่คนเยอรมันทั้งประเทศชอบ
อ่านเพิ่มเติมจาก The Romantic Conception of Life Science and Philosophy in the Age of Goethe โดย Robert J. Richards จัดพิมพ์โดย University of Chicago Press ปี 2002
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์