xs
xsm
sm
md
lg

Jacques Louis David กับภาพ The Death of Marat

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

The Death of Marat
Jean – Paul Marat เกิดเมื่อปี 1743 (ตรงกับรัชสมัยพระบรมโกษ) ที่เมือง Neuchatel ในสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ใต้การปกครองของ Prussia บิดาเป็นนักบวชที่มีชื่อเสียงในการเทศน์ที่เกาะ Sardinia ส่วนมารดาเป็นชาวสวิส ตั้งแต่วัยเด็ก Marat ต้องการจะเทศน์และสั่งสอนคนทุกคนเหมือนบิดา แต่เปลี่ยนใจไปศึกษาแพทย์แทน เมื่อได้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับสีและส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ข้อคิดของ Marat ทำให้ปราชญ์ Goethe รู้สึกประทับใจมาก แต่สำหรับคนในวงการวิทยาศาสตร์ไม่มีใครยอมรับ ดังนั้น Marat จึงผิดหวังมาก เพราะคิดว่าคงได้รับคำชื่นชม และคิดว่าถูกนักวิชาการอิจฉาและกลั่นแกล้ง

ในปี 1774 Marat วัย 31 ปี ได้ตีพิมพ์บทความเรื่องหนึ่งในประเทศอังกฤษ ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “The Chains of Slavery” ซึ่งว่าด้วย ความโหดร้ายของสถาบันชั้นสูงที่กระทำต่อประชาชนผู้ไร้โอกาส

ในปี 1789 ที่เกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในฝรั่งเศส Marat วัย 46 ปี ได้ตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์ชื่อ “L Ami der Peuple” (The Friends of the People) ที่ปารีส โดย Marat เองดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการบริหาร ซึ่งได้กำหนดจุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์นี้คือมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเปิดเผยความผิดพลาดในการทำงานของส.ส.รวมถึงตักเตือนและแนะนำให้บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติทำงานอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม รวมทั้งพยายามปกป้องสิทธิพื้นฐานของประชาชนทั่วไปด้วยอย่างมุ่งมั่น ต่อเนื่อง และจริงใจ

ในเบื้องต้น การปฏิวัติในฝรั่งเศสครั้งนั้นเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกลางกับอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ แต่ในที่สุดความขัดแย้งนี้ได้นำชนชั้นกลางไปสู่การโจมตีคุก Bastille จนแตก และ Marat ได้เขียนบทความในทำนองยุยงว่า การทำลายสถาบันกษัตริย์จะมีประโยชน์อันใด ถ้าประเทศฝรั่งเศสยังถูกปกครองด้วยบรรดาขุนนางที่ร่ำรวยจากการเสียเลือดเนื้อและจากแรงงานของประชาชน ข้อความที่รุนแรงนี้ทำให้ Marat มีศัตรูมากมายซึ่งได้แก่ กลุ่มคนที่นิยมชมชื่นสถาบันกษัตริย์และชนชั้นกลางที่มีหัวรุนแรง บทความที่มีเนื้อหายั่วยุให้ชนชั้นล่างไม่พอใจนี้ทำให้หนังสือพิมพ์ของ Marat ถูกสั่งปิด และหนังสือพิมพ์ถูกห้ามวางขาย ส่วนบรรณาธิการ Marat ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่และหาเรื่องบ่อย จนต้องหนีไปหลบซ่อนที่บ้านของเพื่อนสนิท เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกตำรวจจับกุม

ในปี 1791 บรรดาคนที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ถูกคณะปฏิวัติจับกักขังคุกมากมาย Marat ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการขององค์กร National Convention เริ่มมีความคิดว่า การทำให้ประชาชนรู้สึกกลัวจะเป็นพลังที่สำคัญในการปฏิวัติที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ นอกจากนี้ Marat ก็ยังมีความเห็นว่าการคอรัปชั่นในฝรั่งเศสจะต้องถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปจากประเทศ และนั่นก็หมายความว่า ชนชั้นสูงประมาณตั้งแต่ 500 ถึง 600 คน จะต้องถูกขังคุกหรือประหารชีวิต ซึ่งถ้าเขาทำได้ประชาชนฝรั่งเศสก็จะเป็นสุข และมีเสรีภาพทันที

Marat จึงกล่าวเตือนสติชาวฝรั่งเศสว่า การรวมพลังของชนชั้นกลาง จะสามารถพิชิตอุปสรรคทุกรูปแบบได้ และความสำเร็จจากการปฏิวัติจะอุบัติทันที ถ้าประเทศมีผู้นำที่เป็นเผด็จการ

ฝรั่งเศสในเวลานั้น มีชนชั้นกลางหลายคนที่ไม่ศรัทธาในแนวคิดของ Marat เพราะเห็นว่า Marat เป็นคนหัวรุนแรง และเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะปฏิวัติที่ยกมือสนับสนุนการสำเร็จโทษพระเจ้า Louis ที่ 16 ในเดือนมกราคม 1793 โดยการสำเร็จโทษด้วยกิโยติน ทำให้ชาวฝรั่งเศสทุกคนตกอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัว เพราะคิดว่าถ้ากษัตริย์ถูกจับตัดพระเศียรได้ คนธรรมดาสามัญจะมีอะไรเป็นที่พึ่งได้

เมื่อถึงยามเย็นของวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ.1793 ขณะ Marat กำลังนอนในอ่างอาบน้ำ เพราะรู้สึกไม่ค่อยสบาย มีเด็กสาวชาวชนบทคนหนึ่งชื่อ Marie-Anne Charlotte de D’Armont Dorday วัย 24 ปี ได้บุกรุกเข้าไปในบ้านของ Marat เพื่อจะฆ่าเจ้าของบ้าน เพราะเธอมีความเห็นว่าภายในเวลาเพียง 4 ปีตั้งแต่เกิดปฏิวัติ Marat ได้ทำให้ฝรั่งเศสทั้งประเทศวุ่นวาย และเธอคิดว่า Marat คือต้นเหตุของความโกลาหลอลหม่านทุกเรื่อง

Charlotte Dorday เกิดที่เมือง Caen ในครอบครัวขุนนางที่ยากจน เธอได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนา และได้หมั้นกับขุนนางที่ยากจนเช่นเดียวกับเธอ คนทั้งคู่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ และมีความรักชาติมาก อีกทั้งเชื่อว่า ความสุขของประเทศชาติมีความสำคัญยิ่งกว่าความสุขส่วนตัว แนวคิดทำนองนี้ ทำให้เธอถูกบรรดาเพื่อนบ้านที่ต่อต้านกษัตริย์คว่ำบาตร และเธอถูกอัปเปหิออกจากเมือง

ในเวลาต่อมาเมื่อพ่อและลุงของเธอที่เป็นนักบวชถูกคุกคามชีวิตจนต้องหลบหนีไปซ่อนตัว ส่วนคู่หมั้น และน้องชายของเธอก็ถูกประหารชีวิต เธอจึงรู้สึกโกรธแค้นคณะปฏิวัติมาก ที่ตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาเพื่อสังหารคนเป็นว่าเล่น
Jacques Louis David
ในการวางแผนฆ่า Marat นั้น เธอมิได้ปริปากบอกใคร และนั่งรถม้าไปรษณีย์เดินทางไปปารีสคนเดียว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ.1793 เพื่อเข้าพักที่โรงแรม Hotel de la Providence

เธอตั้งใจจะแทง Marat ด้วยมีดขณะมีการประชุมสภา และคิดว่าเธอเองก็คงถูกบรรดาสมุนของ Marat ฆ่าทันที ซึ่งจะทำให้ชื่อของเธอไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ เพราะคนที่ปารีสไม่มีใครรู้จักเธอและนั่นก็หมายความว่า ทุกคนในครอบครัวของเธอจะปลอดภัย

เธอจึงรู้สึกเสียใจมากเมื่อทราบข่าวว่า Marat ป่วย ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปประชุมสภาได้

ดังนั้นในเวลาเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเสาร์ Dorday จึงไปที่บ้านของ Marat เพื่อขอพบเจ้าบ้าน แต่ถูกยามที่เฝ้าบ้านห้ามไว้ เธอจึงพยายามอีกครั้งในตอนเย็น ขณะเธอกำลังโต้เถียงกับยาม Marat ได้ยินเสียงทะเลาะ จึงตะโกนบอกยามให้อนุญาตเธอเข้าบ้าน ขณะนั้น Marat กำลังนอนอาบน้ำร้อนในอ่าง เพื่อให้น้ำร้อนรักษาโรคผิวหนัง และในขณะเดียวกันเขาก็เขียนบทความเพื่อส่งไปลงหนังสือพิมพ์ด้วย Marat คิดว่า Dorday จะมาแสดงความชื่นชมในตัวเขา จึงถามว่า จะให้ช่วยอะไร และ Dorday ก็ได้รายงานว่าเธอมาจาก Caen Marat จึงถามถึงบรรดาคนที่หลบไปซ่อนตัวที่นั่น Dorday จึงถามต่อว่า ถามทำไม เมื่อ Marat ตอบว่า จะส่งตำรวจไปจับตัวทุกคนมาตัดหัวด้วยกิโยตินที่ปารีส

คำตอบนี้ทำให้ Charlotte Dorday ตัดสินใจฆ่า Marat ทันที ผลที่ตามมา คือ Marat ถูกฆ่าตาย และเธอถูกจับ ข่าวการตายของ Marat ได้แพร่สะพัดทั่วปารีสอย่างรวดเร็ว อีก 4 วันต่อมา Dorday ก็ถูกนำตัวขึ้นศาล และเธอยังยืนยันมั่นเหมาะว่า จำเป็นต้อง ฆ่า Marat เพราะเขากำลังทำลายประเทศฝรั่งเศสที่เธอรัก และเธอคิดว่าเธอจำต้องเสียสละชีวิตของเธอเอง เพื่อความสงบสุขของคนทุกคนในชาติ

Charlotte Dorday ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยติน ขณะถูกนำตัวไปประหาร เธอบอกว่า เธอต้องการเห็นกิโยตินที่จะฆ่าเธอ แต่เพชฌฆาตไม่อนุญาต เขาเอาถุงผ้าสวมที่ศีรษะของเธอ แล้ววางคอเธอลงตรงที่คมมีดจะตกพอดี

สำหรับพิธีศพของ Marat นั้น ทางการได้จัดการให้มีการยิงสลุตทุก 5 นาทีเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เสมือนจะประกาศให้โลกรู้ว่าผู้ตาย คือ นักบุญ ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของชาติ

จิตรกร Jacques Louis David เป็นศิลปินคนหนึ่งที่เทิดทูน Marat มาก ว่าเป็น “The Great Man” เมื่อรู้ข่าวการเสียชีวิตของ Marat เขาจึงได้อาสาวาดภาพ “The Death of Marat” ขนาด 65x50 นิ้ว เป็นอนุสรณ์ และขณะนี้ภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Musées Royaux des Beaux – Arts ที่กรุง Brussels ในเบลเยี่ยม

Jacques Louis David เป็นบุตรของเจ้าของร้านเย็บปักถักร้อย และเป็นญาติห่างๆ ของจิตรกร Francois Boucher เขาเกิดที่กรุงปารีส ในปี 1748 เมื่ออายุ 18 ปี ได้เข้าฝึกงานศิลปะกับ Joseph Vier

เมื่ออายุ 26 ปี เขาได้รับรางวัลชนะเลิศในการวาดภาพ Prix de Rome จึงเดินทางไปโรมพร้อมกับอาจารย์ Vier และได้พบ Jean Baptiste Giraud ผู้ได้กระตุ้นให้ David หันมาสนใจประติมากรรมโบราณ และภาพของ Nicolas Poussin อีก 7 ปีต่อมา David ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ French Academy of Sciences
ภาพ Charlotte Corday หลังสังหาร Marat วาดโดย Paul Jacques Aimé Baudry
ในปี 1783 David ได้เดินทางกลับไปที่โรมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำภาพ “The Oath of the Horatii” ออกแสดง ซึ่งภาพนี้ได้ทำให้ชาวโรมตื่นเต้น ที่เห็นความรู้สึกรักชาติของชายสามคนในภาพที่ปวารณาตัวป้องกันประเทศชาติด้วยชีวิต และผลงานนี้มีส่วนในการปลุกใจคนฝรั่งเศสให้ลุกฮือขึ้นปฏิวัติในปี 1789 แม้กระทั่ง Goethe ก็รู้สึกชอบภาพนี้จึงกระตุ้นให้ J.H.W. Tischbein จิตรกรเยอรมันหันมาวาดภาพแนวนี้บ้าง

David เป็นผู้นำคนหนึ่งในคณะปฏิวัติ ที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Marat และ Robespierre เพราะคนทั้งสามเกลียดสถาบันกษัตริย์มาก ดังนั้นเมื่อพระเจ้า Louis ที่ 16 ทรงถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต David จึงเห็นด้วยกับการสำเร็จโทษพระองค์ ครั้นเมื่อ Marat ถูกฆ่าตาย David ซึ่งได้มาเยี่ยม Marat ก่อนถูกฆ่าตายหนึ่งวัน จึงทุ่มเทฝีมือ และเวลาวาดภาพ “The Death of Marat” เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่า Marat เป็นนักบุญผู้ถูกศัตรูฝ่ายตรงข้ามสังหารอย่างไร้ความยุติธรรม ใบหน้าที่สงบของ Marat ทำให้ดูเหมือนว่าเขาเป็นวีรบุรุษผู้อยู่เหนือคำติติงทั้งหลาย ในภาพที่ David วาด Marat ไม่มีผื่นของโรคผิวหนัง ฉากส่วนหน้าของภาพมีจดหมาย ธนบัตร ขวดหมึก ศีรษะของ Marat เอียงไปทับผ้าที่รองศีรษะ แขนข้างขวาทอดลง ในลักษณะเหมือนพระเยซูทรงถูกนำลงจากไม้กางเขน ตามปกติเวลาจิตรกรวาดภาพการฆาตกรรม ภาพมักมีตัวฆาตกร แต่ในภาพนี้ไม่มี Dorday จะมีก็แต่มีดที่เธอใช้แทงและมีดวางอยู่บนพื้น

ส่วนจดหมายที่ Marat ถือในมือนั้น มีข้อความว่า Marie Anne Charlotte Dorday เขียนถึง Marat ในความเป็นจริง Marat ไม่ได้รับจดหมายของ Dorday เลย จดหมายฉบับจริงอยู่ในกระเป๋าของ Dorday ตอนที่เธอถูกจับ

ในเดือนตุลาคม 1793 ภาพนี้ถูกนำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Louvre อีกหนึ่งเดือนต่อมา David ได้มอบภาพนี้แก่สภา National Convention และบอกว่า ขอคารวะ Marat ด้วยภาพวาด ซึ่งได้ถูกนำไปติดประดับที่ห้องประชุมของ National Convention ซึ่งได้ออกคำสั่งห้ามใครโยกย้ายภาพอย่างเด็ดขาด

ในเวลาต่อมาเมื่อพระนาง Marie Antoinett ทรงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยติน David ก็ได้สเก็ตซ์ภาพของพระนางเป็นหญิงชราไม่มีพระทนต์ และปราศจากพระเกษาปลอม ขณะพระนางเสด็จบนเกวียนที่ลากผ่านหน้าต่างบ้านของ David ไปสู่สถานประหารเป็นคนสุดท้าย เสมือนว่า เขารู้สึกพอใจมากที่พระนางทรงรับชะตากรรมเช่นนั้น

เมื่อถึงเดือนมิถุนายน 1794 Robespierre ต้องสูญเสียอำนาจ David จึงถูกจับขังที่ Luxembourg Palace แต่เมื่อเขาได้พบจักรพรรดิ Napoleon ในปี 1798 David ก็หันมาสนับสนุน Napoleon อย่างเต็มที่โดยได้วาดภาพ “The Coronation of Napoleon and Josephine in Notre Dame” ถวาย Napoleon ผลงานนี้ทำให้ Napoleon ทรงเข้ามาอุปถัมภ์ David เพราะทรงเห็นชัดว่าพระองค์สามารถใช้ David ในการโฆษณาชวนเชื่อให้พระองค์ได้

David จึงได้ทำงานรับใช้ประเทศในฐานะอาจารย์ศิลปะผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคนั้น และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เช่น Jean Auguste Dominique Ingres, Antoine Jean Gros และ Francois Gerard

แต่เมื่อ Napoleon ทรงปราชัยในสงครามที่ Waterloo ในปี 1815 และราชวงศ์ Bourbon ได้หวนกลับปกมาครองฝรั่งเศส David ได้หลบหนีไป Brussels และเอาภาพ The Death of Marat ไปด้วย เขาเสียชีวิตที่นั่นในปี 1825 สิริอายุ 77 ปี

อ่านเพิ่มเติมจาก The Triumph of Art for the Public: The Emerging Role of Exhibitions and Critics โดย E. G. Holt และคณะจัดพิมพ์โดย Anchor Press/Doubleday ปี 1979
The Oath of the Horatii

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น