ศิลปะแนว Romanticism ที่เน้นทิวทัศน์มีความประสงค์จะชี้ให้เห็นความปรารถนาในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ว่าต้องการกลับสู่ธรรมชาติ และต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่ามนุษย์เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่กว้างใหญ่และมโหฬารจนไม่มีใครสามารถประมาณขนาดได้
จิตรกรสำคัญคนหนึ่งที่มีผลงานสร้างสรรค์ในแนวนี้คือ Caspar David Friedrich ชาวเยอรมัน
Friedrich เกิดเมื่อ ค.ศ.1774 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ที่เมือง Greifswald ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเล Baltic ในแคว้น Pomerania ของเยอรมนี ทะเลมีเกาะ Rügen ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมือง Greifswald และเกาะนี้เป็นสถานที่ที่ Friedrich ชอบไปเดินเล่นกับวาดภาพ
เมื่ออายุ 20 ปี หนุ่ม Friedrich ได้เดินทางไปศึกษาศิลปะการวาดภาพที่กรุง Copenhagen ประเทศเดนมาร์กเป็นเวลา 4 ปี แล้วเดินทางกลับมาทำงานวาดภาพที่ Dresden ในเยอรมนี ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของศิลปะ วรรณกรรม และจิตรกรรมแนว Romanticism
เมื่ออายุ 31 ปี Friedrich เริ่มมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักของคนเยอรมันทั่วไปจากการได้รับรางวัล Goethe ด้วยผลงานการวาดภาพ อีก 5 ปีต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม Berlin Academy และ Dresden Academy
หลังจากที่ได้เข้าพิธีสมรสกับหญิงสาวชาว Dresden Friedrich ได้ตัดสินใจปักหลักตั้งรกรากทำงานที่เมืองนี้ แต่จิตใจของเขาก็ยังโหยหาธรรมชาติในแถบทะเล Baltic และภูเขา Harz เพื่อจะได้มีแรงดลใจในการวาดภาพทิวทัศน์ เวลา Friedrich กับภรรยาไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ Greifswald ไปพักผ่อนที่ Rügen เพราะที่นั่นมีทิวทัศน์ที่สวยงามและทะเลที่กว้างใหญ่ รวมทั้งโขดผาสูง ป่า และภูเขา
ในบั้นปลายของชีวิต Friedrich ได้ล้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่สามารถผลิตงานศิลปะได้อีก ครั้นเมื่อเส้นเลือดในสมองถูกอุดตัน สภาพอัมพฤกษ์ของร่างกายทำให้โรคซึมเศร้าของเขาทวีความรุนแรง Friedrich เสียชีวิตในปี 1840 สิริอายุ 66 ปี
ภาพวาดที่สำคัญของ Friedrich ภาพหนึ่งคือภาพ “The Cross on the Mountaintop” ที่วาดในปี 1801
แม้ว่าภาพนี้จะถูกวาดจากธรรมชาติจริง แต่ Friedrich ก็ไม่ได้วาดเหมือนจริง เพราะภาพไม่ได้แสดงรายละเอียดต่างๆ ให้เห็น จะมีก็แต่ความรู้สึกเศร้าของคนในภาพยามทอดสายตาเห็นภูเขา Harz ข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในการวาดภาพของ Friedrich คือ ทุกครั้งเขาจะวาดภาพของคนที่ยืนดูธรรมชาติจากทางด้านหลัง (คือไม่ได้แสดงใบหน้า) ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดทั้งในยามพระอาทิตย์กำลังตกดิน หรือยามดวงจันทร์วันเพ็ญกำลังลอยเด่นเหนือพื้นน้ำในทะเล ภาพทุกภาพจะแสดงอารมณ์สงบและความรู้สึกเป็นสุขของคนในภาพเวลายืนอยู่กลางธรรมชาติที่กว้างใหญ่ไพศาล จนทำให้รู้สึกว่าเขาคนนั้นเป็นเพียงธุลีเล็กๆ ในเอกภพเท่านั้นเอง
ภาพวาดที่มีชื่อเสียงอีกภาพหนึ่งของ Friedrich คือภาพ “Chalk Cliffs on Rügen” ซึ่ง Friedrich วาดเมื่อปี 1818 ขณะเขาเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับภรรยาที่เกาะ Rügen
ณ วันนี้ภาพขนาด 90x70 เซนติเมตรถูกประดิษฐานอยู่ที่แกลเลอรี Stiftung Oskar Reinhart ในเมือง Winterthur ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นภาพโขดหินผาสูงสีขาว ทะเล และป่าที่ริมฝั่งของเกาะ Rügen
บันทึกของ Friedrich แสดงว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1818 Friedrich กับภรรยาได้เดินทางด้วยเรือไปเกาะ Rügen โดยมีเพื่อนชื่อ Carl Gustav Carus ร่วมเดินทางไปด้วย
ในสมัยนั้นเกาะ Rügen มิได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชาวเยอรมันเหมือนในทุกวันนี้ เพราะบนเกาะไม่มีโรงแรมทันสมัยให้นักท่องเที่ยวพัก จะมีก็แต่หมู่บ้านโกโรโกโสของชาวประมง ทั้ง Carus Friedrich และภรรยาได้เดินเท้าจนถึงแหลม Cape Arkoma ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่เหนือสุดของเยอรมนี เพราะที่นั่นมีธรรมชาติที่สวยมาก ภาพ “Chalk Cliffs on Rügen” จึงถือกำเนิด ผลที่เกิดตามมาคือ บรรดาชาวเยอรมันที่ได้ยลภาพวาดนี้ ต่างพากันเดินทางไปที่เกาะ Rügen เพื่อจะได้เห็นของจริง จน Rügen กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักทัศนาจรที่มาเยือนได้ยินเสียงคลื่นที่ซัดกระแทกหน้าผาสีขาว เห็นทะเลสีฟ้าครามทอดไกลไปสุดสายตา และเห็นท้องฟ้าสีเทา รวมถึงเห็นป่า beech ที่ขึ้นบนเกาะด้วย
ย้อนอดีตเมื่อ 300 ปีก่อน กิจกรรมว่ายน้ำและแล่นเรือใบในทะเลมิได้เป็นวิธีพักผ่อนที่ผู้คนนิยมทำกันเหมือนในสมัยนี้ เพราะในสมัยนั้นชนชั้นกลางชาวเยอรมัน มักชอบไปสปาที่ตั้งอยู่ริมทะเลเพื่ออาบน้ำแร่ หรือแช่น้ำอุ่นในอ่างมากกว่าที่จะไปว่ายน้ำในทะเล หรือเล่นการพนันในกาสิโน ดังนั้น เยอรมนีจึงมีโรงสปาที่มีชื่อเสียงมากมายเช่นที่ Karlsbad และ Baden-Baden และเมื่อถึงปี 1793 ก็มีโรงกาสิโนเกิดขึ้นที่ Doberan
ตามปกติ เวลาจะเล่นน้ำ ผู้หญิงจะต้องมีชุดว่ายน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งมักเป็นเสื้อคลุมหลวมๆ (ไม่ใช่บิกินีและไม่เป็นชุดที่รัดรูป) เพื่อทำให้รู้สึกไม่อุจาดในสายตาของผู้ชาย ชุดว่ายน้ำของเธอจึงดูเหมือนชุดเดินเล่นมากกว่า นอกจากเหตุผลเรื่องป้องกันสตรีไม่ให้ถูกนินทาว่าร้ายแล้ว คริสต์ศาสนาก็ห้ามสตรีเปิดเผยส่วนต่างๆ ของร่างกายเธอเกินความจำเป็น (ให้เธอสามารถโผล่ใบหน้า มือ และเท้าได้) เพราะศาสนาถือว่าอวัยวะส่วนอื่นๆ ของเธอ คืออาวุธที่ซาตานใช้ในการทำลายบุรุษ
ดังนั้น Friedrich จึงวาดผู้หญิงในภาพให้แต่งตัวมิดชิด โดยให้เธอสวมกระโปรงยาวเหมือนชุดราตรี และที่ใต้หน้าอกเสื้อเหนือเอวมีเข็มขัดเล็กๆ นี่คือชุดชายหาดที่สตรีชั้นสูงในฝรั่งเศสสมัยนั้นนิยมแต่งกัน ตัวชุดมักทำด้วยผ้าบางๆ ลายลูกไม้ แต่ในเยอรมนีผู้คนนิยมใช้ผ้าหนา เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง สำหรับผู้ชายในภาพ Fridrich ได้วาดให้สวมหมวกเบเรต์ และแต่งตัวแบบเยอรมันเต็มพิกัด คือสวมแจ็กเก็ตยาวถึงเข่า ติดกระดุมเสื้อถึงคอ ส่วนผมบนศีรษะนั้นผู้ชายสามารถไว้ยาวได้ แต่ต้องสวมหมวกเบเรต์ทับ
ความจริงสไตล์การแต่งตัวของบุรุษในแนวนี้ นักแฟชันชื่อ Ernst Moritz Arndt เป็นคนออกแบบ เขาเกิดที่เกาะ Rügen ในปี 1769 เมื่ออายุ 45 ปี (ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากที่ชาวเยอรมันพากันลุกฮือขับไล่ทหารของ Napoleon ออกจากประเทศ) Arndt ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “Of Manners, Fashions and Costumes” ซึ่งเกี่ยวกับการแต่งกายของบุรุษ หนังสือนี้ได้ต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมของ Napoleon ว่าเป็นลัทธิเผด็จการที่ชอบกดขี่และเหยียดหยามสมาชิกราชนิกูลชาวเยอรมัน อีกทั้งชอบจำกัดสิทธิต่างๆ ของชาวเยอรมัน เหตุผลเหล่านี้ทำให้ชนชั้นกลางของเยอรมันหันมาร่วมมือร่วมใจเป็นทหารในทัพกู้ชาติ เข้าต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสที่ยึดครองประเทศอยู่ ทำให้ทหารฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกจากเยอรมนีจนหมด แล้วบรรดาชนชั้นสูงชาวเยอรมันก็ได้หวนกลับมาปกครองประเทศอีก และได้นำประเทศกลับสู่ระบบสมบูรณายาสิทธิราช โดยการออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพของสื่อ และประหารชีวิตนักปลุกปั่น เป็นต้น
ในช่วงที่เยอรมนีกำลังถูกยึดครองโดยกองทัพ Napoleon นั้น Arndt ต้องหลบหนีการจับกุมโดยการอพยพไปรัสเซีย จนกระทั่ง Napoleon ถอนทัพออกจากเยอรมนี Arndt จึงมีโอกาสกลับบ้านเกิดอีก และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Bonn แต่ก็ถูกไล่ออก ในอีก 2 ปีต่อมา ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นบ่างที่ชอบปลุกระดมผู้คน
Arndt เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของ Friedrich ที่ Friedrich ชอบเขียนจดหมายถึงเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ ในจดหมาย Friedrich ได้เคยปรารภว่า รู้สึกแปลกใจที่เยอรมนีมิได้สร้างอะไรให้เป็นที่ระลึกถึง Scharnhorst เลย เพราะเขาเป็นนักการทหารและนักคิดคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศ Friedrich ยังมีความเห็นอีกว่า คนเราถ้าถูกห้ามคิด ก็เหมือนถูกห้ามไม่ให้แสดงความรู้สึก และไม่ให้รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งใดๆ เลย
สำหรับภาพ “Chalk Cliffs on Rügen” นี้ เมื่อ Friedrich วาดเสร็จใหม่ๆ ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจ หรือให้ความสำคัญ เพราะในสมัยนั้น แทบทุกคนมีความเชื่อตามความคิดของนักปรัชญา Friedrich Wilhelm Schelling ซึ่งได้จัดลำดับความสำคัญของภาพวาดแนวต่างๆ ว่า ภาพวาดเชิงประวัติศาสตร์ (history painting) มีความสำคัญที่สุด และภาพนิ่ง (still life) สำคัญน้อยที่สุด ส่วนภาพทิวทัศน์จะอยู่ระดับกลางๆ เพราะ Schelling มีความเห็นว่า ภาพวิวทิวทัศน์ไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ไม่แสดงความนึกคิด คือปล่อยให้คนดูภาพมีจินตนาการต่างๆ ไปเอง แต่ Friedrich ไม่เห็นด้วยกับ Schelling ในประเด็นหลังนี้ เพราะภาพที่เขาวาดไม่เหมือนธรรมชาติ 100% และทุกภาพจะจุดประกายให้คนดูครุ่นคิด ด้วยการจัดองค์ประกอบของภาพใหม่ ปรับเปลี่ยนระยะทางและโยกย้ายถาวรวัตถุไปยังตำแหน่งที่ Friedrich ต้องการ จุดเด่นและสำคัญที่สุดของภาพที่ Friedrich วาดคือมีทั้งความสงัด ความสงบ สันติ และแสดงมิติด้านระยะทาง Friedrich ไม่วาดภาพสิ่งที่เคลื่อนไหว อันได้แก่ ภาพพายุ คลื่น หรือสงคราม ฯลฯ
ในภาพ “Chalk Cliffs on Rügen” เราจะเห็นคนสามคนอยู่ที่บริเวณหน้าผาสูง สองคนกำลังยืน อีกคนกำลังหมอบลง ฉากด้านหน้าของภาพเป็นป่าไม้ ฉากส่วนนี้ค่อนข้างมืด บริเวณกลางภาพเป็นหน้าผาและโขดหินสีขาว ฉากด้านหลังเป็นทะเล ขอบฟ้าในภาพอยู่ที่ระดับค่อนข้างสูง ต้นไม้ที่อยู่ตามขอบภาพเปรียบเสมือนหน้าต่างให้คนดูทอดสายตาตามไปจนสุดลูกหูลูกตา
คนดูภาพอาจสงสัยว่า คนสามคนในภาพเป็นใคร ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ ผู้หญิงมีนามว่า Caroline Friedrich ซึ่งเป็นภรรยาของ Friedrich ส่วนผู้ชายที่ยืนข้างขวาอาจเป็น Friedrich เอง และคนที่หมอบอาจเป็น Carus ผู้เป็นเพื่อนของ Friedrich
อากัปกิริยาของผู้หญิงในภาพแสดงว่าเธอกำลังชี้อะไรบางอย่าง หรือกำลังโบกมือเตือนคนที่กำลังหมอบให้ระวังภัย ซึ่งบางสิ่งบางอย่างที่กล่าวถึงอาจเป็นหมวกของเธอ ที่ถูกลมพัดปลิวตกหน้าผา และชายคนที่หมอบกำลังก้มดูอะไรบางอย่างที่อยู่เบื้องล่าง
Friedrich ไม่ได้ให้คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับคนเหล่านี้ เพราะเขาไม่ได้วาดใบหน้าของคนในภาพ คือวาดแต่ด้านหลัง และให้ทุกคนทอดสายตาดูไกลเสมือนให้คนดูจ้องตาม ดังนั้น Friedrich จึงไม่ได้ให้ความสำคัญที่คนในภาพ เพราะเขาคิดว่า สิ่งที่คนเหล่านั้นกำลังจ้องดูมีความสำคัญยิ่งกว่า สำหรับท่ายืนของคนทางขวาก็แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเขากำลังหลุดลอยไปไกลเหมือนกำลังตกอยู่ในความฝัน และสายตาที่ทอดไกลออกไป เปรียบเสมือนเรือที่กำลังแล่นใบออกไปในมหาสมุทรที่เวิ้งว้าง
Friedrich เป็นคนที่เคร่งศาสนา และมีความคิดว่า การไปเที่ยว Rügen คนเดียวจะเป็นการเดินทางที่ดีที่สุด เพราะคนที่ไปจะสามารถปลดปล่อยตัวเองให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติได้ตลอดเวลา โดยให้จิตใจได้สัมผัสกับความมโหฬารของธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้จิตสงบ เพราะได้ตัดขาดจากสังคมที่มีแต่ความวุ่นวาย Friedrich เชื่อว่า เมื่อใดที่ใครเข้าใจธรรมชาติ เมื่อนั้นเขาก็จะเข้าใจพระเจ้า
ในปี 1818 ที่บรรดาขุนนางเยอรมันได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่งนั้น Friedrich ไม่ได้หนีไปรัสเซียเหมือน Arndt เขาหนีไปสุดขอบฟ้า ดังในภาพ “Chalk Cliffs on Rügen” ครับ
อ่านเพิ่มเติมจาก Nineteenth Century Art: A Critical History โดย T. Crow และคณะจัดพิมพ์โดย Slovenia: Thames and Hudson (1994)
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์