xs
xsm
sm
md
lg

ตะลุยท้องฟ้าจำลองโฉมใหม่หาแรงบันดาลใจ "ดาราศาสตร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใกล้ปีใหม่ใครยังไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน ขอแนะนำ"ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เอกมัย" อีกสถานที่หนึ่งที่รวบรวมความรู้คู่ความสนุกทางด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ที่เหมาะสมกับทุกคนในครอบครัว ที่ต้องขอแอบกระซิบนิดหนึ่งว่าขณะนี้ได้มีการปรับรูปโฉมนิทรรศการบางส่วน จากโครงการของรัฐบาล เพื่อเป็นของขวัญให้กับเยาวชนไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่และวันเด็กที่ใกล้จะมาถึงนี้



โครงการที่ว่าคือ "โครงการคืนความสุขให้เธอ ... เยาวชน" ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่อยากให้เยาวชนได้มีศูนย์วิทยาศาสตร์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก จึงได้จัดนิทรรศการ "ดาราศาสตร์ บันดาลใจ" และกิจกรรม "สนุกวิทย์ สนุกคิด" ขึ้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การศึกษา ท้องฟ้าจำลองเอกมัย กรุงเทพ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ระดมกันนำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ มาจัดแสดงให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้หาความรู้กันอย่างเต็มอิ่ม บนพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร ที่อาคาร 2 ของท้องฟ้าจำลองฯ
บริเวณด้านในของอาคาร 2 ท้องฟ้าจำลอง
ก่อนจะเข้าไปหาความรู้กันด้านใน เคยรู้หรือไม่ว่าท้องฟ้าจำลองมีอายุถึง 50 ปีแล้ว หากเปรียบเป็นคนคงเป็นคุณครูสูงวัยใจดีที่คอยให้ความรู้แก่เด็กๆ ที่เข้ามาหาความรู้กันแทบทุกวัน ซึ่งในพิธีเปิดคราวนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด ด้วยพระราชประสงค์อยากให้เยาวชนคนไทยมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งมั่วสุมทางวิชาการให้วัยรุ่นในสมัยก่อน ได้มาศึกษาหาความรู้กันนอกห้องเรียน และยังถือว่าเป็นท้องฟ้าจำลองแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
นิทรรศการดาราศาสตร์บันดาลใจรอให้ความรู้กับน้องๆ อยู่ทางด้านซ้ายมือ
นิทรรศการที่จะพามาชมในวันนี้ อยู่ที่บริเวณชั้น 1 (ชั้นอื่นยังคงเป็นรูปแบบเดิม) เมื่อเดินเข้ามาแล้วเลี้ยวซ้ายจะพบกับบอร์ดขนาดใหญ่เขียนว่า "ดาราศาสตร์ บันดาลใจ" พร้อมกับจอแสดงว่าเมื่อเข้าไปภายในเราจะได้พบอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้เราเดินชมนิทรรศการได้อย่างครบถ้วน ซึ่งภายในจะประกอบด้วย 5 นิทรรศการย่อย
นิทรรศการบอกเล่าพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์
เริ่มกันที่ส่วนของพระอัจฉริยภาพพระมหากษัตริย์ไทยกับพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ตามที่เราได้เรียนในบทเรียนกันมาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจอันปรีชาสามารถของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ทรงมีความสนพระราชหฤทัยทางด้านดาราศาสตร์และได้ทรงสร้างหอดูดาวแห่งแรกที่ จ.ลพบุรี, อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์จำลองส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และพระปรีชาสามารถทางดาราศาสตร์ของพระองค์ รวมถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ อีกด้วย
โดมครึ่งวงกลมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะ
ส่วนต่อมาเป็นส่วนของ "โลกและเอกภพในมุมมองดาราศาสตร์" เป็นส่วนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโลกและเอกภพผ่านโดมครึ่งวงกลม (Half Dome Project) ที่จะจำลองภาพการโคจรของหมู่ดาวต่างๆ ในเอกภพผ่านระบบสเตลแลเรียมที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นลักษณะ ขนาด ลักษณะวงโคจร อัตราเร็วการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะได้อย่างชัดเจน และระบบคอมพิวเตอร์ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะและข้อมูลเชิงลึกของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะแต่ละดวงที่น้องๆ สามารถใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอเพื่อเลือกเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
ฟรีฟอล สไลเดอร์ยักษ์ความสูง 7 เมตรที่จะทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก
อีกสิ่งที่จะพลาดไปไม่ได้เลยกับไฮไลท์ของงานอยู่ที่เครื่องเล่น "ฟรีฟอล" (Free Fall) กิจกรรมท้าทายความกล้าที่จะทำให้เยาวชนได้สัมผัสกับ "สภาวะไร้น้ำหนัก" แบบที่นักบินอวกาศจะต้องรู้สึก จากการลื่นไถลลงจากสไลเดอร์ยักษ์ที่มีความสูงกว่า 7 เมตรภายในเสี้ยววินาที ที่น้องๆ ที่ลองเล่นมาแล้วต่างการันตีเป็นเสียงเดียวกันว่าเสียวสุดๆ และถ้าใครมาชมนิทรรศการต้องลองเล่นสัมผัสความรู้สึกเองสักครั้งหนึ่ง
คณิตศาสตร์กับการคำนวณทางดาราศาสตร์
หลบมุมจากความสนุกปนความหวาดเสียวมาที่มุมสงบๆ กันที่ส่วนของ "คณิตศาสตร์กับการคำนวณทางดาราศาสตร์" ซึ่งจะอยู่ทางด้านขวามือของเครื่องฟรีฟอล มุมนี้จะมีเครื่องเล่นส่งเสริมการคิดคณิตศาสตร์แบบแฮนส์ออนจับต้องได้วางเรียงรายอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งรูปทรงแบบเรขาคณิต พีทาโกรัส การคำนวณต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเริ่มต้นของดาราศาสตร์ให้เยาวชนได้ลองมาเล่นสนุกกันอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งกิจกรรมในส่วนนี้จะอยู่ติดกันกับกิจกรรมส่วนถัดไปนั่นคือ ...
เครื่องเล่นแบบแฮนส์ออนตั้งเรียงรายรอให้เยาวชนมาสัมผัส
"นิทรรศการการบิน" หรือ วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีการบิน ที่จัดแสดงอยู่ในรูปแบบของชุดเครื่องเล่นแบบแฮนส์ออนเช่นเดียวกับส่วนของคณิตศาสตร์ เป็นสถานีกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่อยากเป็นนักบินว่า เบื้องต้นผู้ที่อยากเป็นนักบินต้องมีทักษะพื้นที่อย่างไร ต้องผ่านการทดสอบอะไรบ้าง รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยการบินบางส่วนและ "กล่องดำ" ว่าที่แท้จริงคืออะไร หน้าตาเป็นเช่นไร
มุมเส้นทางนักวิทย์ Science Idol
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ตามจุดประสงค์ของนิทรรศการครั้งนี้ ส่วนสุดท้ายสำหรับงานคงหนีไม่พ้น "เส้นทางนักวิทย์" (Science Idol) ที่มีการนำประวัติของนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลกผู้ที่ทำคุณูปการไว้กับวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มากมาย อาทิ เอ็ดวิน ฮับเบิล ผู้ค้นพบกาแล็กซีอื่นมากมาย และยังเป็นผู้ตั้งกฏของฮับเบิล นำไปสู่การค้นพบว่าเอกภพกำลังขยายตัวและทฤษฎีกำเนิดเอกภพแบบบิ๊กแบง รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ไทย อย่าง ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ผู้ที่หลงไหลในความมหัศจรรย์ของดาราศาสตร์ และ พีรดา เตชะวิจิตร์ผู้หญิงไทยคนแรกที่จะได้ขึ้นไปสัมผัสอวกาศจากความหลงไหลในเทคโนโลยีอวกาศและความชื่นชอบเกี่ยวกับยานอพอลโล ซึ่งนิทรรศการดาราศาสตร์ บันดาลใจจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. เป็นต้นไปจนถึงช่วงเดือนพ.ค. 58
นิทรรศการบอกเล่าพระอัจฉริยภาพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระราชกรณียกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
พระกรณียกิจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ทุกส่วนของนิทรรศการแม้กระทั่งฝาผนังก็ยังให้ความรู้
สื่อการเรียนรู้หลายชนิดถูกนำมาติดตั้งให้ความรู้เยาวชน
โมเดลจำลองดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ในระบบสุริยะ
ระบบสเตลแลเรียมทำให้ทุกคนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
กิจกรรมฟรีฟอล  อยู่ทางด้านผลังของโดมครึ่งวงกลม
เครื่องเล่นจำลองภาวะไร้แรงดึงดูด
เครื่องเล่นแบบแฮนส์ออนตั้งเรียงรายรอให้เยาวชนมาสัมผัส
ประวัติของนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ก็ถูกจัดเอาไว้ที่นี่
กล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ ก็ถูกนำมาจัดแสดงไว้ให้ชมกันแบบเต็มที่
หัวรถไฟฟ้าที่สามารถลองเข้าไปนั่งบังคับจากภายในได้
ในส่วนของกิจกรรม "สนุกวิทย์ สนุกคิด" จะเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ที่จะจัดขึ้นบริเวณด้านหน้าของอาคาร 2 ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ เป็นการเปิดสถานีการทดลองต่างๆ ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำการทดลอง การแสดงต่างๆอย่างใกล้ชิดทั้งทางด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ อาทิ โปรแกรมทดลองขับหัวรถไฟฟ้า, แสงกับดินในบริบทของอวกาศ, การประกอบโมเดลดาวเคราะห์, เครื่องบินเล็กจำลอง, ความรู้นิวเคลียร์ เพื่อเป็นการต่อยอดความคิด เสริมจินตนาการ และเป็นการฝึกเยาวชนให้มีความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งกิจกรรม "สนุกวิทย์ สนุกคิด" จะจัดขึ้นเพียงแค่ 10 วันระหว่างวันที่ 17-26 ธ.ค. นี้เท่านั้น
นักเรียน หรือผู้ปกครองที่สนใจ สามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการได้ "ฟรี" ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. เป็นต้นไป สอบถามเพิ่มเติมรายละเอียดได้ที่ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ หรือโทร 02-3921773







*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น