xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ยินดี "กรมการข้าว" รับรางวัลปรมาณูโลกจากผลงานปรับปรุงข้าวด้วยรังสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้าวสายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
ก.วิทย์ยินดี "กรมการข้าว" รับรางวัลปรมาณูระดับโลก จากผลงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยรังสี ด้านนักวิจัยเจ้าของผลงานปลื้ม แม้เป็นงานวิจัยนาน 50 ปี แต่ข้าวเหนียว กข 6 และข้าวเจ้า กข 15 เป็นที่นิยมบริโภคถึงปัจจุบัน


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แถลงข่าวความสำเร็จของกรมการข้าวในการใช้รังสีพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งได้รับรางวัลเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปีความร่วมมือระหว่างทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA: International Atomic Energy Agency) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization of The United Nations) เมื่อวันพุธ ที่ 19 พ.ย. 57 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.กาญจนา กล้าแข็ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมการข้าว กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่งานวิจัยของเธอและกรมการข้าวได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ ที่แม้จะเป็นงานวิจัยตั้งแต่ปี 2508 แต่ผลงานของเธอนั้นเป็นที่ประจักษ์และได้รับความนิยมในการบริโภคมาถึงปัจจุบัน จากการริเริ่มนำเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่นิยมปลูกในประเทศไทย มาฉายรังสีแกมมาที่ระดับความเข้มต่างๆ ทำให้เกิดการชักนำการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม หรือเร่งการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมให้เกิดเร็วขึ้น

"เกิดเป็นข้าวได้สายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียว กข 6 ที่ได้จากการอาบรังสีแกมมาที่ปริมาณ 20 กิโลเรินต์เกน (KR) ทำให้ได้ข้าวเหนียวที่มีลักษณะเด่นคือเหนียวนุ่มมีกลิ่นหอม ให้ผลผลิตดี และต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล ที่ได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อปี 2522 และได้รับความนิยมปลูกอย่างมากคิดเป็น 16% ของปริมาณข้าวในประเทศ สร้างมูลค่าส่งออกโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ประเทศลาวและเวียดนาม กว่า 2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และข้าวเจ้าสายพันธ์ กข 15 ที่ได้จากการอาบรังสีแกมมาปริมาณ 15 กิโลเรินต์เกน (KR) ทำให้ได้ข้าวเจ้าที่มีความนุ่มและหอม จำหน่ายได้ราคาสูงเทียบเท่ากับข้าวขาวดอกมะลิ 105 สร้างมูลค่าส่งออกกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ" ดร.กาญจนากล่าว

ดร.กาญจนา ระบุว่า การใช้รังสีชักนำการกลายพันธุ์ของข้าวเพื่อปรับปรุงพันธุ์มีมานานแล้ว ซึ่งกรมการข้าวก็ดำเนินการใช้เทคโนโลยีนี้มากว่า 30 ปี แต่ในปีนี้ตรงกับวาระพิเศษของไอเออีเอและเอฟเอโอที่จะมีการมอบรางวัลให้กับผลงานที่ใช้ปรมาณูในทางสร้างสรรค์ จึงเขียนโครงการส่งไปประกวดอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทย โดยผลงานวิจัยของกรมการข้าวได้รับรางวัลความสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชกลายพันธุ์ (Achievement Awards in Plant Mutation Breeding) อันทรงเกียรตินี้มาครอง โดยมีพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้ารับเกียรติบัตรด้วยพระองค์เอง ในการประชุมใหญ่สามัญของไอเออีเอเมื่อเดือน ก.ย. 57 ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย

"หากเทียบสมัยก่อนกับปัจจุบันต้องยอมรับว่าวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะทางด้านเครื่องมือเกี่ยวกับรังสี ทำให้การปรับปรุงพันธุ์โดยใช้รังสียังคงเป็นที่นิยม เพราะให้ผลที่รวดเร็วเพียง 2 รุ่นของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งในขณะนี้กรมการข้าวกำลังเริ่มทดสอบการใช้ลำแสงจากอิเล็กตรอน (Electron Beam) แทนที่การใช้รังสีแกมมา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไปอีกขั้น เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการเกษตรกรรมเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรและเศรษฐกิจของชาติอย่างแท้จริง" ดร.กาญจนา เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทางด้าน ชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า การพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ทั้งวิธีแบบธรรมชาติที่ใช้หลักการผสมทดสอบ (Test cross) การผสมย้อนกลับ (Back cross) ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างโบราณและใช้เวลานาน การนำเทคโนโลยีทางด้านรังสีมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจึงเป็นสิ่งที่กรมการข้าวเริ่มนำเข้ามาใช้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว โดยการทดลองนำพันธุ์ข้าวที่ดีและได้รับความนิยมมาฉายรังสีแล้วคัดเลือกพันธุ์ในรุ่นลูกว่ามีผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร เพราะการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของกรมการข้าว ที่จำเป็นต้องค้นหาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะปลูกในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศของเรายังครองความเป็นอันดับ 1 ในการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลกให้ได้

"กรมการข้าวได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้มีแค่ข้าวพันธุ์ กข 6 และ กข 15 เท่านั้น แต่ข้าว 2 สายพันธุ์นี้เป็นข้าวที่ถูกคัดเลือกจากการปรับปรุงพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่ามีคุณภาพ มีรสชาติดี มีความนุ่มนวลตรงตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญคือมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรทั้งในเรื่องของความทนแล้ง และความต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว กข 6 พันธุ์ข้าวเหนียวหอมนุ่มที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์จากกรมการข้าว ที่ตอนนี้กลายเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรนำมาปลูกมากถึง 16% ของจำนวนข้าวทั้งหมดในประเทศ

ในส่วนของ ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ปรมาณูในเชิงสันติแก่หน่วยงานทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร, สถานพยาบาลและสถานศึกษา

"รางวัลที่ได้รับนี้ ทาง ปส. ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ประสานงานหลัก ในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดระดับนานาชาติ เนื่องในโอกาสฉลองครบ 50 ปี ความร่วมมือระหว่างทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งในการประกวดครั้งนี้มีหลายองค์กรจากทั่วโลกเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเพียง 12 ประเทศและกรมการข้าวจากประเทศไทยก็ได้รับรางวัลมาครอง จึงเป็นโอกาสดีที่วันนี้ทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมแสดงความยินดี และนำแนวคิดของผลงานที่ได้รับรางวัลมาปรับใช้กับการดำเนินการของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในการใช้ประโยชน์ทางปรมาณูให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม" ดร.อัจฉรากล่าว
(จากซ้ายไปขวา) ชาญพิทยา ฉิมพาลี, ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ และดร. กาญนา กล้าแข็ง

ข้าวสายพันธุ์ กข 15
ข้าวสายพันธุ์ กข 6






*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น