xs
xsm
sm
md
lg

นักฟิสิกส์ถอดรหัส Interstellar บอกอะไรคนดู?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ Interstellar
ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับ "Interstellar" ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ไซไฟที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นภาพยนตร์แนวฟิสิกส์และอวกาศที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่นอกจากความอลังการงานสร้างที่มอบความบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบทุกส่วนของภาพยนตร์ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวของฟิสิกส์ที่อธิบายความเป็นไปต่างๆได้อย่างสมเหตุสมผล ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังสื่ออะไร?

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ เว็บไซต์วิชาการดอทคอม และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ จัดกิจกรรมเสวนา CU Sci-fi Films Club ครั้งที่ 1ในหัวข้อ Science of the Interstellar ทะลุมิติวิทยาศาสตร์กับอินเตอร์สเตลลาร์ โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านฟิสิกส์และชีววิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผศ.ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ และ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ณ โรงภาพยนตร์หมายเลข 10 ชั้น 6 พารากอนซีนีเพลกซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 57

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเสวนา CU Sci-fi Films และการชมภาพยนตร์ "อินเตอร์สเตลลาร์" (Interstellar) เป็นกิจกรรมที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และตอบคำถามแก่ประชาชน ซึ่งอินเตอร์สเตลลาร์เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ไซไฟที่มีเนื้อหาน่าสนใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้เชิงลึกทางด้านฟิสิกส์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะภาควิชาฟิสิกส์ที่จะตีแผ่ความบันเทิงในภาพยนตร์ให้เป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการปลุกกระแสความสนใจฟิสิกส์ในหมู่นักเรียนนักศึกษาให้มองว่าวิชาฟิสิกส์ไม่ใช่วิชาที่น่าเบื่อแต่คือสิ่งใกล้ตัวที่ควรให้ความสนใจนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน

"ถ้าตัดเรื่องดราม่าออกไป สนใจแต่ประเด็นความเป็นไปได้และความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ผมให้คะแนนเรื่องนี้ 9.5 เต็ม 10 " ผศ.ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวพร้อมเผยต่อไปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบเพราะได้ คิป ธอร์น (Kip Thorne) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังระดับตำนานและเชี่ยวชาญทางด้านทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเขาพยายามทำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ออกมาสอดคล้องกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์มากที่สุด แม้บางทฤษฎีที่อ้างถึงจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง 100% ก็ตาม อาทิเช่น เรื่องของรูหนอน หรือแม้แต่มิติที่ 5 ด้วยการวางโครงเรื่องที่น่าติดตามและการเทคนิคการถ่ายทำอันยอดเยี่ยมของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)ที่เคยสร้างผลงานภาพยนตร์มาแล้วมากมาย ทำให้เหมือนกับว่าผู้ชมกำลังนั่งเรียนวิชาฟิสิกส์ไปอย่างเพลิดเพลินโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่หลายคนอาจเคยส่ายหน้าเมื่อต้องเรียนวิชานี้ในโรงเรียนมัธยม

"ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งเข้าใจได้ยากมากๆ สำหรับคนทั่วไปเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากขึ้น ผู้ชมส่วนมากตื่นเต้นและงุนงงไปกับผลของทฤษฎีที่บอกว่าแรงโน้มถ่วงทำให้เวลาเดินช้าลงโดยที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีแต่ในภาพยนตร์ และอันที่จริงแล้วมันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด “เพราะดาวเทียมของระบบ GPS ได้รับแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าที่พื้นโลก ทำให้นาฬิกาบนดาวเทียมเดินด้วยอัตราที่เร็วกว่า ดังนั้นระบบ GPS จะไม่มีความแม่นยำเลยถ้าไม่คำนึง ถึงผลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป พูดง่ายๆ ก็คือทุกครั้งที่คุณเช็คอินบอกตำแหน่งของคุณบนเฟสบุ๊กคุณได้ใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพแล้ว”

ผศ.ดร.อรรถกฤต เผยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ศ.คิป ธอร์น ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์คำนวณผลของทฤษฎีสัมพัทธภาพเพื่อให้ภาพที่เห็นในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นภาพของหลุมดำรวมถึงรูหนอน ให้ออกมาตามที่ควรจะเป็นตามทฤษฎี ถ้าจะอธิบายรูหนอนให้คนทั่วไปนึกภาพออก อาจจะเปรียบเทียบได้กับประตูของโดราเอมอนที่เปิดไปได้ทุกที่ๆ เราต้องการสำหรับแฟนภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั่วไปมักจะวาดภาพว่ารูหนอนมีรูปร่างเป็นรูหรือหลุมในอวกาศ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่แสดงภาพรูหนอนในอย่างที่มันควรจะเป็นคือเป็นทรงกลม 3 มิติ

ทางด้าน ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า เรื่องราววิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์อินเตอร์สเตลลาค่อนข้างสมจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งในเรื่องของหลักกายภาพที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ตัวละครพูดถึงทั้งในเรื่องของน้ำ สารอินทรีย์ อากาศ แรงโน้มถ่วง ทั้งในเรื่องสลิงช็อต (Sling Shot) ที่เป็นการอาศัยแรงเหวี่ยงจากดาวดวงหนึ่งไปยังอีกดวงหนึ่ง ที่ค่อนข้างถูกต้องตามหลักอนุรักษ์โมเมนตัม (Conservation of momentum) แต่เรื่องที่พลาดและเห็นได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องของเมฆน้ำแข็งซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักของนิวตัน เพราะการจะมีของแข็งขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่ในอากาศได้จำเป็นต้องมีแรงมารองรับ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับเมฆน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศของโลกที่จะมีขนาดเล็กและบางซึ่งสามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศได้จากแรงพยุงของลม แต่สำหรับเมฆน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่าในภาพยนตร์จะเกิดขึ้นไม่ได้แน่นนอน แต่ก็เป็นความบันเทิงที่มีสาระอยู่มาก ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ชม

"ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้ดีนะ นักวิทยาศาสตร์กำลังจะสื่ออะไรกับเราหลายๆ อย่าง" รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อินเตอร์สเตลลาร์เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 40-50 ปีข้างหน้าเมื่อโลกเริ่มเสื่อมสลายจากภาวะขาดแคลนอาหารเพราะถูกคุกคามด้วยโรคพืชทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตที่เคยเกิดการระบาดของโรคพืชที่ประเทศไอร์แลนด์ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดภารกิจเพื่อออกไปหาดาวดวงใหม่ที่มีลักษณะเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต เพื่อไปตั้งรกรากบนดาวดวงใหม่ที่สามารถสร้างออกมาได้อย่างสมเหตุสมผล บนพื้นฐานของความรู้วิทยาศาสตร์ที่ดีทีเดียวในส่วนของบทก็มีความเกี่ยวข้องทางด้านชีววิทยาอยู่มากเช่นกัน อาทิ การใช้มดลูกเทียมเพื่อผลิตตัวอ่อนมนุษย์ และการให้มนุษย์จำศีล(Hybernation) เพื่อลดการใช้พลังงานระหว่างการเดินทางไปยังดาวดวงใหม่ที่ยังดูขัดความจริงอยู่บ้างในเรื่องของระบบการช่วยชีวิตให้อยู่รอด และท่วงท่าของการนอนหลับยาวที่ควรจะเป็นท่ายืนมากกว่าท่านอนเพื่อลดปัญหาการเสื่อมของกระดูกในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง แต่ก็อนุโลมให้เพราะค่อนข้างทำออกมาได้ดีเกินคาด ที่เขาให้คะแนนความสมจริงมากถึง 9 คะแนนจาก 10 คะแนน

ท้ายสุด ผศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นอกจากทฤษฎีฟิสิกส์แบบจัดหนักในภาพยนตร์แล้ว ผู้ชมจะเห็นได้ว่าการจะหาดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้นั้นลำบากมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ทั้งการเดินทางผ่านรูหนอน (ถ้าทำได้จริง) การจำศีลระหว่างเดินทางไกลๆ ในอวกาศ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำขณะนี้คือการรักโลกให้มากกว่าเดิม ช่วยกันดูแลก่อนที่โลกจะอยู่อาศัยไม่ได้แบบสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์ หรืออย่างน้อยก็ยืดเหตุการณ์นั้นออกไปอีกหน่อยเพราะต้องยอมรับว่าความรู้วิทยาศาสตร์ที่เรามีในปัจจุบันยังห่างไกลจากในจากการเดินทางไปยังดวงดาวอื่น
การแสวนามีการหยิบยกภาพบางส่วนที่เป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์เพื่อประกอบความเข้าใจ
(จากซ้ายไปขวา) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์, ผศ.ดร. อรรถกฤต ฉัตรภูติ และ ดร. สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์
นิสิตและประชาชนผู้สนใจจำนวนมากเข้าร่วมฟังการเสวนาและชมภาพยนตร์
ผศ.ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ
ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์
บรรยากาศหน้าโรงภาพยนตร์มีผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาและชมภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก
นิสิตภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ เข้าร่วมในการเสวนา
นิสิตจุฬาฯ จำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมการเสวนาและชมภาพยนตร์ Interstellar






*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น