xs
xsm
sm
md
lg

อุ้มลูกโอบโลก Interstellar : ปาฏิหาริย์ชั้นสอง ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


มีคนเคยถามคริสโตเฟอร์ โนแลน แน่ๆ อย่างน้อยหนึ่งครั้งว่า เพราะอะไร เขาถึงไม่คิดทำหนังสามมิติ ผมจำไม่ได้แล้วว่าคำตอบของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่ถ้าให้ผมพูดแทนโนแลน คำตอบก็คงจะประมาณว่า เรื่องเทคนิคสามมิตินั้นมันเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ขอเพียงมีเครื่องไม้เครื่องมือและทุน หากสิ่งที่ยากมากกว่า คือการทำเนื้อหาเรื่องราวให้มีความลุ่มลึกและมีมิติในเชิงไอเดียความคิด แต่ผลงานและกาลเวลาก็ได้ยืนยันแล้วว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษคนนี้ทำได้ และที่ผ่านมา เขาก็เคยพาเราโลดล่องท่องไปในโลกของเนื้อหาที่ต้องมองกันให้มากกว่าสามมิติสี่มิติ

แต่ไม่ว่าจะทำหนังซับซ้อนแค่ไหน จุดเด่นอย่างหนึ่งซึ่งโนแลนยังคงรักษาเอาไว้ได้ก็คือความสนุก เราสามารถบันเทิงได้เต็มที่กับหนังซึ่งมาพร้อมกับพล็อตและโครงสร้างอันลึกล้ำซับซ้อนอย่าง Inception คนส่วนมากมักจะได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือถ้าไม่สนุกจนไม่ซับซ้อน ก็มักจะซับซ้อนจนเข้าใจอยู่คนเดียว (คือคนทำ) แต่โนแลนนั้นเผื่อแผ่แก่คนดูได้ทั้งในแง่ความสนุกและเนื้อหาความคิด ขณะที่จุดเด่นอีกอย่างซึ่งควรให้เครดิตก็คือ ไม่งง แม้จะแต่งเรื่องราวให้สับสนซับซ้อนชวนเวียนหัวเพียงใด แต่สุดท้ายก็ไม่งง หรืออย่างน้อยๆ ก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ ผมยังนึกภาพไม่ออกว่าถ้าให้ใครคนอื่นมากำกับหนังอย่าง Memento ผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นเช่นใด และต่อให้แบ็ทแมนจะมีอีกกี่เวอร์ชั่น ก็คงไม่เหมือนกันกับแบ็ทแมนในมือของโนแลน

ประสบการณ์ในการดูหนังของโนแลน มักให้อารมณ์เหมือนดูนักแสดงมายากลขั้นเทพ กับการเล่นแร่แปรธาตุชั้นเซียน พอๆ กับการแสดงปาฏิหาริย์ เขามักจะมีอะไรมาให้เราได้เซอร์ไพรส์เสมอๆ

ไม่ใช่แฟนก็เหมือนแฟน...ผมดูหนังของโนแลนมาครบทุกเรื่อง และได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ผมไม่สามารถใช้คำว่า “ธรรมดา” กับผลงานของผู้ชายคนนี้ได้เลย ไม่ว่าในวาระไหน และไม่เว้นแม้กระทั่งกับหนังเรื่องล่าสุดที่ผมรู้สึกว่าเป็นหนังที่ผมชอบน้อยที่สุด ในบรรดาหนังทั้งหมดของผู้กำกับคนนี้

...หลังจากพาคนดูผู้ชมท่องไปในห้วงแห่งความฝัน อันซ้อนกันหลายชั้นหลายซ้อน “ฝันซ้อนฝันซ้อนฝันซ้อนฝัน...” ในเรื่องอินเซ็ปชั่น คริสโตเฟอร์ โนแลน ทะยานเข้าหาความซับซ้อนไปอีกขั้นด้วยการเล่นกับเรื่องมิติของเวลา ในเรื่องอินเตอร์สเตลลาร์ ผลงานชิ้นนี้ได้รับการจับตาและรอคอยมาตั้งแต่ทีเซอร์ตัวแรกๆ ถูกปล่อยออกทางยูทิวป์ ขณะที่หลายๆ เสียงก็เหมือนจะเดินไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่อาจเป็นหนังไซไฟเรื่องแรกที่ได้ไปยืนบนเวทีออสการ์ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หลังจากกราวิตี้ (Gravity) ไปเดินเฉียดตุ๊กตาทองมาแล้วเมื่อปีก่อน

คล้ายกับหนังหลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับโลกในอนาคต ฉากหลังของอินเตอร์สเตลลาร์คือยุคใดยุคหนึ่งในกาลภายหน้า เป็นยุคสมัยแห่งความเสื่อมโทรมอย่างถึงที่สุดของโลกมนุษย์ การมองหา “บ้านหลังใหม่” จึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของผู้คนในยุคนั้น แต่ก่อนจะท่องไปในอวกาศ หนังออกสตาร์ทที่ครอบครัวชาวไร่ครอบครัวหนึ่ง “คูเปอร์” อดีตวิศกรผู้เป็นหม้าย อาศัยอยู่กับพ่อตาและลูกสองคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือลูกสาวกำลังเข้าวัยรุ่น เธอสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์พอๆ กับผู้เป็นพ่อ กระทั่งวันหนึ่ง ทั้งคู่ได้ค้นพบรหัสบางอย่างซึ่งเป็นต้นทางนำพาพวกเขาให้ได้ไปเจอกับองค์กรลับ ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงแห่งการเดินทางสู่จักรวาลเพื่อค้นหาบ้านหลังใหม่ให้กับโลก...

“อุ้มลูกและโอบโลก” หลังจากดูหนังจบ รู้สึกว่าคำนี้จะวาบขึ้นมาในความคิด (ผมไม่แน่ใจว่าจำคำนี้มาจากใครหรือจากที่ไหน) เพราะนี่คือเนื้อหาสองส่วนที่คนดูจะจับต้องได้เด่นชัดจากอินเตอร์สเตลลาร์ คูเปอร์นั้น ในสถานะหนึ่งคือการเป็นพ่อ เขาเฝ้ามองอนาคตของลูกด้วยความห่วงใย ขณะเดียวกัน วิสัยทัศน์ในเรื่องความอยู่รอดของคนรุ่นต่อไป ก็คุกรุ่นอยู่ในความคิดความฝัน สองส่วนนี้สะท้อนกันและกัน เพราะถ้าโลกไม่รอด ลูกหรือหลานเหลนโหลนก็ดำรงอยู่ไม่ได้...อันที่จริง นี่เป็นไอเดียที่เรามองหาได้ในหนังไซไฟหลายต่อหลายเรื่อง แต่ขึ้นชื่อว่าคริสโตเฟอร์ โนแลน มีหรือที่จะทำอะไรพื้นๆ ธรรมดาๆ เพราะเบื้องหลังความรัก ทั้งรักลูกและรักโลก มันโบกฉาบอย่างแน่นนหน้าไว้ด้วยชุดข้อมูลขนาดมหึมาด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของ “หลุมดำ” (Black Hole) อันเกี่ยวพาดกับเรื่องมิติเวลา ซึ่งหนังนำมาใช้เป็นหมักฮุกสะท้อนความรักของพ่อที่มีต่อลูกได้ทรงพลังพอๆ กับเรื่องของพ่อลูกในเรื่องอินเซ็ปชั่น

มองในแง่หนึ่ง นี่คือหนังที่สุดแสนโรแมนติกมากๆ ครับ ไม่ได้โรแมนติกในแบบรักหวานแหวว หากแต่โรแมนติกในแนวทางแห่งการเชิดชูความเป็นมนุษย์ ความผูกพันระหว่างคนกับคน และสปิริตของมนุษย์ที่จะทำเพื่อโลก เพื่อสิ่งที่ดีกว่า พิจารณาโดยภาพรวม นี่คือหนังที่เข้าทางรางวัลออสการ์อย่างมิอาจปฏิเสธ ยิ่งเพิ่มเติมเสริมไปด้วยอารมณ์แบบฟีลกู๊ดด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นแนวที่ออสการ์มักจะตบรางวัล กระนั้นก็ดี ผมกลับมองว่าหนังเรื่องนี้จะไปไม่ถึงจุดนั้น

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า อินเตอร์สเตลลาร์ เป็นหนังห่วย (ใครว่าห่วย ผมก็ไม่เห็นด้วย) ความทะเยอทะยานในด้านเนื้อหายังคงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การคารวะเช่นเดียวกับงานทุกชิ้นของโนแลน แต่ถ้าจะนำมาจับเทียบกันจริงๆ ในแง่ของความเนี้ยบ บทหนังตลอดจนบรรยากาศอารมณ์ต่างๆ อินเตอร์สเตลลาร์ถือว่าห่างจากหนังเรื่องก่อนๆ ขณะที่หนังให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ซับซ้อน แต่กับภาวะตัวละคร กลับไม่หนักแน่นพอจะเชื่อได้ในหลายจุด ซึ่งจุดแรกๆ ที่อยากพูดถึง ฉากร้องไห้ของตัวละคร

ตอนที่แม็ทธิว แม็คคอนนาเฮย์ (คูเปอร์) กอดลูกสาวแล้วร่ำไห้ราวกับหัวใจจะสลาย นั้นคือการฟูมฟายก่อนวัยอันควร เนื่องจากสถานการณ์ของตัวละครยังไม่ได้ถูกปูมาอย่างแข็งแรงในขั้นที่เรียกว่าถึงจุดวิกฤติเต็มที่ ซึ่งโดยปกติ คริสโตเฟอร์ โนแลน จะฉมังมากในแง่ของการปูบริบทของตัวละครให้คนดูเกิดความสะเทือนใจและรู้สึกร่วมไปด้วย แต่เรื่องนี้ดูเหมือนอารมณ์ของตัวละครจะล่วงหน้าไปก่อนค่อนข้างไกล ฉากร้องไห้แทบทุกฉากที่มาจากคูเปอร์คือความฟูมฟายที่ยังไม่ผ่านการปูพื้น แม้นักแสดงจะพยายามบีบน้ำตาหรือเค้นแค่ไหนก็ตาม

ในอีกหนึ่งด้าน...เมื่อลองถอดสูตรสมการและแยกส่วนของหนังเรื่องนี้ออกมาแล้ว เราจะพบว่าโครงสร้างนั้นค่อนข้างใกล้เคียงหรือแทบจะเหมือนกับเรื่องก่อนหน้าอย่างอินเซ็ปชั่น จาก “ฝันซ้อนฝัน” กลายเป็นเรื่อง “เวลาซ้อนเวลา” ทั้งสองเรื่องกระทำผ่านปฏิบัติการของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งค่อยๆ ตะลุยด่านไปทีละระดับและลงไปลึกกว่าที่วางแผนกันไว้ในตอนต้น และขณะที่ตะลุยด่านไปในแต่ละขั้นก็มีการบาดเจ็บสูญเสียของเพื่อนร่วมงาน ส่วนตอนท้ายก็มีการไปสรุปที่เรื่องพ่อกับลูกเหมือนกัน มองอย่างเข้าอกเข้าใจ นี่คือความเชี่ยวชาญของนักเล่นมายากลชั้นเซียนที่สามารถพลิกเปลี่ยนหรือเล่นแร่แปรธาตุได้อย่างสะอาดหมดจด เพราะเพียงแค่เขาหยิบเอาสูตรหรือโครงสร้างของอินเซ็ปชั่นซึ่งมันเจ๋งอยู่แล้ว ยกเอาโครงนั้นมา เอาบล็อกกิ้งนั้นมา แล้วใส่เนื้อหาเรื่องราวแบบใหม่เข้าไป จากเรื่องความฝัน เปลี่ยนเป็นเอาเรื่องมิติเวลาวางใส่ลงไปแทน ก็ได้งานชิ้นใหม่ที่ทำให้รู้สึกว่าน่าตื่นตาตื่นใจมาอีกชิ้นหนึ่ง

แต่การทำแบบนี้ สิ่งที่ต้องมีคือความแม่นยำเพียงพอ และจากผลลัพธ์ที่ออกมา เราจะพบว่าอินเตอร์สเตตลาร์สนุกน้อยกว่าอินเซปชั่นหลายช่วงตัว จังหวะเดินเรื่องไม่มีอะไรน่าลุ้นเท่ากับงานก่อนหน้า ตรงนี้ต้องกล่าวย้ำอีกครั้งครับว่า ต่อให้ทำหนังยากแค่ไหน แต่อย่างหนึ่งซึ่งมีในหนังของโนแลนคือความสนุก และตามจริง หลังจากงานชิ้นแรกอย่าง Following คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็วิ่งอยู่บนลู่ของหนังสตูดิโอใหญ่ๆ เขาไม่ใช่ผู้กำกับที่ทำหนังเฉพาะทางหรือหนังอินดี้ โลกของโนแลนก็เหมือนกับโลกของผู้กำกับหนังฟอร์มยักษ์บล็อกบัสเตอร์ทั่วไปซึ่งมีความสนุกหรือบันเทิงเป็นพื้นฐาน เพียงแต่ถ้าแบ่งสาย หนังฟอร์มยักษ์พวกนี้ก็จะมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือตลาดสุดๆ (เช่น ไมเคิล เบย์, โรแลน เอมเมอริค) กับอีกกลุ่มคือฉลาดสุดๆ เหมือนอย่างสปีลเบิร์กที่ก็ทำหนังในกระแสหลัก แต่สามารถผสมผสานความสนุกกับบทหนังที่ฉลาดๆ เข้าด้วยกันได้ดี

โนแลนนั้นอยู่ในกลุ่มหลังนี้ คนที่ดูหนังของเขา จะได้ทั้งความรู้สึก “ฟีลลิ่ง ฟัน” (Feeling Fun) และ “ฟีลลิ่ง สมาร์ท” (Feeling Smart) คือได้ทั้งความฉลาดและอรรถรสความสนุกไปด้วยในขณะเดียวกัน ย้อนกลับไปดู ไม่ว่าจะแบ็ทแมนหรืออินเซปชั่นหรือเดอะ เพรสติจ หนังเครียดแค่ไหน แต่มันก็เดินเรื่องได้สนุก น่าติดตาม สำหรับผม ปัญหาของอินเตอร์สเตลลาร์ไม่ได้อยู่ที่ความฉลาดของบทหนังหรือเรื่องราวซึ่งมีอยู่เต็มเปี่ยม หากแต่เป็นเรื่องของความสนุกที่ดร็อปลงไปเยอะมาก

คือในหนังแต่ละเรื่อง นอกเหนือจากจุดพีคในตอนจบแล้ว มันจะมีจุดพีคเล็กๆ ระหว่างเรื่องราวอีกจำนวหนึ่ง โดยเฉพาะในหนังที่มีความยาวเกือบสามชั่วโมง อินเตอร์สเตลลาร์ก็มีการวางจุดพีคเหล่านั้นไว้เรื่อยๆ บนเส้นเรื่องหรือไทม์ไลน์ แต่จุดพีคแต่ละจุด ดูไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น มันไม่สามารถสั่นสะเทือนหรือสร้างจุดเปลี่ยนทางความรู้สึกได้ดีพอ พอถึงจุดพลิกผันหรือจุดเปลี่ยนของเรื่องราว เราก็เพียง “รู้” แต่ไม่ได้ “รู้สึกสะเทือนอารมณ์” อะไรกับมัน แต่โชคดีอยู่อย่างที่ตอนจบของหนังมาพยุงสถานการณ์อารมณ์ของเรื่องให้พีคขึ้นมาได้ ซึ่งผมยอมรับว่าพลังของตอนจบนั้น ดีไม่น้อยไปกว่าอินเซ็ปชั่น

การชื่นชมอินเตอร์สเตลลาร์ จึงสามารถชื่นชมได้ในแง่ภาพใหญ่ไอเดียรวม แต่เมื่อมองในรายละเอียดปลีกย่อย มันมีจุดด้อยที่ไม่ค่อยเกิดมีในหนังเรื่องที่ผ่านมาของโนแลน เข้าใจว่าโนแลนนั้นเกิดมาจากสายดาร์ก ตัวละครของเขามักจะมีปมรุงรังในใจตัวเอง แล้วก็มีความทะเยอทะยานในแบบไม่เหมือนชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป นักมายากลใน The Prestige, โจ๊กเกอร์ในเดอะดาร์กไนท์ ไปจนถึงนักสืบที่ต้องเผชิญกับภาวะทางจิตในเรื่อง Insomnia อีกทั้งการตั้งคำถามต่อเรื่องราวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานกฎหมาย ทางศีลธรรม ความมืดดำที่อยู่เบื้องหลังฉากหน้าอันสวยสด ความเคี้ยวคดที่อยู่ในเขาวงกตแห่งจิตใจมนุษย์ สิ่งเหล่านี้คือพลังงานด้านเนื้อหาที่สง่างามเสมอมาในหนังของโนแลน

แต่พอมาถึงอินเตอร์สเตลลาร์ ผมมองคล้ายๆ ว่ามันเหมือนโนแลนก็จะขบถต่อตนเองอยู่เล็กๆ เพราะเขาแทบจะตัดเรื่องความดาร์กความหม่นออกไปเลย ตัวละครอย่างคูเปอร์นั้น เราแทบจะกล่าวได้ว่าได้รับการเชิดชูอย่างสวยงามในนามของมนุษย์ ผู้มาพร้อมกับจุดยืนที่งดงาม ทำเพื่อโลก ทำเพื่อมนุษยชาติ หรือแม้แต่ตัวละครอื่นๆ อย่างที่เล่นโดยแม็ตต์ เดม่อน ก็เกือบจะเหมือนพวกตัวละครในหนังเกรดบีไปเหมือนกัน พอๆ กับตอนที่แอน แฮทธาเวย์ ลุยน้ำไปค้นหาอะไรสักอย่างแล้วดื้อด้านไม่ยอมกลับเข้ามาทั้งที่รู้ว่าภัยกำลังจะมา ก็เป็นรูปแบบของซีนที่ซ้ำซาก (คลิเช่ : Cliché) ซึ่งลักษณะเหล่านี้ มันส่งผลเชิงลบต่อหนังอย่างปฏิเสธได้ยาก

สุดท้ายครับ ยอมรับในความลึกของข้อมูล ยอมรับในความเพียรพยายามของผู้กำกับ แต่สำหรับความเป็นหนัง ผมว่างานชิ้นนี้ยังห่างจากหนังตระกูลเดียวกันอีกหลายเรื่อง ไม่ถึง Contact ไม่เท่า Gravity ไม่ต้องพูดถึง 2001 : A Space Odyssey, สตาร์วอรส์, The Right Stuff หรือ Solaris ที่เป็นเชิงอรรถอ้างอิงของอินเตอร์สเตลลาร์

เดาว่า ออสการ์ที่จะมาถึง ก็คงมีชื่อของหนังเรื่องนี้เข้าชิงอยู่บ้าง แต่น่าจะเป็นในสายของพวกเทคนิคอย่างมิวสิกสกอร์ ซึ่งคอมโพสโดยฮันส์ ซิมเมอร์ส ขาเก่าเจ้าประจำที่มือไม่เคยตก ดนตรีประกอบนั้นหนุนส่งหนังอย่างมหาศาล ส่วนหนัง หรือบท ตลอดจนนักแสดง คิดว่าไม่น่าผ่านเข้าไปได้อย่างที่คาดเดากันไว้ก่อนหน้านี้

The Dark Knight Rises : คารวะมหาเทพ 'คริสโตเฟอร์ โนแลน'!!



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น