xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จทรงเปิด "หอดูดาวภูมิภาค" แห่งแรกที่โคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน พิธีเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

วันอาทิตย์ที่ 16 พ.ย. 57 เวลา 20.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการกองอำนวยการถวายความปลอดภัยประจำพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้า ฯ รับเสด็จ ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และภริยาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ทูลเกล้า ฯ ถวายพวงมาลัย

เมื่อเสด็จฯ ถึงพลับพลาพิธี รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา จากนั้น เสด็จฯ ออกจากพลับพลาพิธีไปยังอาคารฉายดาว ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการทางดาราศาสตร์ บริเวณโถงนิทรรศการ ภายในจัดทำเป็นเพดานดาวจำลองตำแหน่งดาวเคราะห์ในวันที่ 16 พ.ย. 57 ซึ่งเป็นวันกำหนดเปิดหอดูดาวฯ แห่งนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการความความรู้ทางดาราศาสตร์เกี่ยวกับระบบสุริยะ อุกกาบาต และกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่างๆ

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าห้องฉายดาว ทอดพระเนตรภาพยนตร์ดาราศาสตร์และสาธิตการใช้งานท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร มุมมอง 360 องศา คมชัดเสมือนจริง ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องฉายดาว ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหาร สดร.ณ บริเวณอาคารนิทรรศการ ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นจารึก แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินออกจากอาคารฉายดาวไปยังอาคารดูดาว ผ่าน Planet Walk เสด็จพระราชดำเนินไปตาม Planet Walk ทอดพระเนตรแบบจำลองดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ภูมิทัศน์ภายนอกอาคารซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นวงโคจรของดาวเคราะห์ในวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เม.ย. 2498 ที่มีอาคารฉายดาวเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ จุดศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ภายในหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา และมีดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ รายล้อม

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินถึงอาคารดูดาว ทรงทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กบริเวณระเบียงดาว ทรงทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้า ได้แก่ กาแล็กซีแอนโดรเมดา (Andromeda Galaxy, M31, NGC224) ลักษณะเป็นรูปก้นหอยคล้ายกับกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่ขนาดใหญ่กว่า อยู่ห่างออกไปราว 2.6 ล้านปีแสง กระจุกดาวทรงกลม M15 อยู่ในกลุ่มดาวม้าปีก ห่างออกไปประมาณ 35,000 ปีแสง และกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades, M45, NGC1432) เป็นกระจุกดาวเปิด ในกลุ่มดาววัว จากนั้นทรงทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลัก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร ภายในโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ทรงบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้ากาแล็กซีในกลุ่มดาวสามเหลี่ยม (Triangulum Galaxy, M33) เป็นกาแล็กซีรูปกังหัน

ในโอกาสเดียวกันนี้ ทรงบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้า NGC6744 กาแล็กซีรูปกังหัน ลักษณะคล้ายกับกาแล็กซีทางช้างเผือกแต่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่า อยู่ห่างออกไปประมาณ 30 ล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวนกยูง โดยกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติหอดูดาวซีกฟ้าใต้ (Thai Southern Hemisphere Telescope: TST) ตั้งอยู่ ณ สาธารณรัฐชิลี ดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หลังจากนั้น เสด็จ พระราชดำเนินลงชั้น 1 ทางบันได ออกจากอาคารดูดาว ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังเรือนที่ประทับแรมพิเศษ สุรสัมมนาคาร ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2553 ณ จังหวัดนครราชสีมา บนพื้นที่ 25 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีเป้าหมายหลักให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถานศึกษาในท้องถิ่น สนับสนุนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย

ภายในหอดูดาวฯ ประกอบด้วย อาคารฉายดาว ประกอบด้วย โดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล และส่วนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์

อาคารหอดูดาว ประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาส ทรงเปลือกหอยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร พร้อมอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ เช่น เครื่องถ่ายภาพซีซีดี สเปกโทรกราฟ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่นๆ และส่วนระเบียงดาวภายใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกจำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้าและจัดกิจกรรมดาราศาสตร์

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของชาติที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพสูง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการให้บริการทางดาราศาสตร์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้บริการถ่ายทอดความรู้ทางดาราศาสตร์ การให้บริการสารสนเทศดาราศาสตร์ การจัดค่ายดาราศาสตร์ การอบรมครูดาราศาสตร์ การจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ รวมถึงสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและประชาชนจะมีโอกาสใช้กล้องโทรทรรรศน์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง สามารถสร้างความตระหนักและตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา นับเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนที่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่ 17 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ส่วนนิทรรศการและอาคารฉายดาว เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ยกเว้นวันจันทร์) ส่วนอาคารหอดูดาว เปิดให้บริการเฉพาะช่วงที่จัดกิจกรรมดาราศาสตร์

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 044-216255 หรือ www.narit.or.th , www.facebook.com/NARITPage
























*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น