xs
xsm
sm
md
lg

เยือน "หอดูดาวภูมิภาค" แห่งแรกที่โคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคารฉายดาว
นับจากวันที่ 17 พ.ย.เป็นต้นไป ประชาชนในแถบอีสานใต้ จะได้ใช้บริการ "หอดูดาวภูมิภาค" ก่อนภูมิภาคอื่นของประเทศ หอดูดาวดังกล่าวมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถรองรับงานวิจัยในระดับนักศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญา เอก รวมถึงประชาชนที่สนใจงานดาราศาสตร์สมัครเล่น


หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา เป็น 1 ใน 5 หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน และเปิดบริการเป็นแห่งแรกตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.เป็นต้นไป ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หอดูดาวดังกล่าวตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายในหอดูดาวภูมิภาคคือ อาคารฉายดาวซึ่งมีส่วนอาคารครึ่งวงกลมสำหรับท้องฟ้าจำลองที่ติดตั้งเครื่องฉายดาวดิจิทัลแบบเต็มโดม (Full Dome Digital) ด้วยความละเอียด 25 ล้านพิกเซล และยังส่วนเชื่อมต่ออาคารแสดงนิทรรศการความรู้ดาราศาสตร์ และอาคารหอดูดาว

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร.ระบุว่า ผู้ไปเยือนหอดูดาวภูมิภาคจะได้รับความรู้ตั้งแต่ทางเข้า ซึ่งจัดแสดง "เพดานดาว" ที่เผยตำแหน่งดาวเคราะห์ใน "พิกัดสุริยะ" ที่ใช้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง และเป็นตำแหน่งดาวเคราะห์ในวันที่ 16 พ.ย.57 ตรงกับวันที่สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานเปิดหอดูดาวภูมิภาคแห่งนี้

"เพดานดาวแห่งนี้มีที่นี่ที่เดียว เลียนแบบไม่ได้ เพดานดาวของหอดูดาวภูมิภาคอื่นก็มีตำแหน่งที่ต่างกันไปตามวันเปิดของหอดูดาวนั้นๆ มุมมองที่แสดงเป็นมุมที่เห็นเราออกไปอยู่นอกโลก และใช้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้การจัดวางอาคารต่างๆ ยังวางตำแหน่งดาวเคราะห์ที่ตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 2 เม.ย. มีโดมฉายดาวแทนตำแหน่งดวงอาทิตย์ และโดมอาคารหอดูดาวแทนตำแหน่งดาวเสาร์" ศุภฤกษ์ระบุ

ภายในอาคารฉายดาวมีทางเดินเป็นวงกลมไปสู่ทางเข้าห้องฉายดาวที่รองรับผู้เข้าชมได้ 44 ที่นั่ง โดยระหว่างทางมีนิทรรศการเกี่ยวกับระบบสุริยะ และนิทรรศการภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ ส่วน อาคารนิทรรศการมีจัดแสดงสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับครู นักเรียนและประชาชน และมีส่วนแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการชิ้นส่วนอุกกาบาต

ในส่วนของอาคารหอดูดาวนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย (Clamshell Dome) เส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุตที่เปิดออกได้ 180 องศา และเปิดให้สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร และส่วนลานดูดาวซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาด 6-14 นิ้ว พร้อมกล้องดูดวงอาทิตย์รวม 6 ตัว ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลังคาเลื่อนทรงสี่เหลี่ยม

รศ.บุญรักษา สุทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.ระบุว่าหอดูดาวภูมิภาคเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่กระจายโอกาสให้แก่ประชาชน เนื่องจากหอดูดาวแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์เน้นสำหรับใช้งานวิจัยเป็นหลัก และเปิดให้บริการแก่ประชาชนเป็นครั้งคราว ส่วนหอดูดาวภูมิภาคจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายกว่า

สำหรับหอดูดาวภูมิภาคนั้นเปิดให้บริการที่นครราชสีมาเป็นแห่งแรก ซึ่งครอบคลุมการให้บริการแก่ประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดย ผอ.สดร.แจกแจงว่ามีหอดูดาวภูมิภาคทั้งหมด 5 แห่ง กำลังก่อสร้างอีก 2 แห่ง ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สงขลา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปีหน้า และอีก 2 แห่งที่เหลือคือ จ.พิษณุโลก และ จ.ขอนแก่น

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.อธิบายว่า หอดูดาวแห่งชาติและหอดูดาวภูมิภาคนั้นมีวัตถุประสงค์ต่างกัน โดยหอดูดาวแห่งชาตินั้นเป็นสถานที่ทำงานของนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ แต่หอดูดาวภูมิภาคนั้นเน้นให้บริการประชาชน และเน้นให้เกิดกิจกรรมทางด้านดาราศาสตร์ เช่น นักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ต้องการบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้า นักศึกษาที่ต้องการทำวิจัย เป็นต้น

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.57 ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมส่วนนิทรรศการและอาคารฉายดาวได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ ส่วนอาคารหอดูดาวเปิดให้บริการเฉพาะช่วงจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ สอบถามเพิ่มเติม โทร.044-216254
ภายในโดมอาคารฉายดาว
อาคารหอดูดาว
กล้องโทรทรรศน์บนลานหอดูดาวภายใต้หลังคาทรงสี่เหลี่ยมที่เลื่อนเปิดปิดได้
กล้องโทรทรรศน์ 0.5 เมตร
ภาพเนบิวลาดัมเบลล์จากกล้องโทรทรรศน์ 0.5 เมตร
เพดานดาวทางเข้าอาคารแสดงนิทรรศการ
สื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์
อุกกาบาตในส่วนแสดงนิทรรศการ
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ นำชมส่วนจัดแสดงนิทรรศการ
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม หน้าอาคารท้องฟ้าจำลองซึ่งจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ดาราศาสตร์และดวงดาว
นิทรรศการระบบสุริยะระหว่างทางเข้าห้องฉายดาว
นิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์ที่สำคัญ
ภายในโดมฉายดาว




*******************************

"ผมไม่ได้ถ่ายภาพดาราศาสตร์เพื่อล่ารางวัล แต่ผมถ่ายเพราะผมมีความสุข" คำพูดจาก สิทธิ์ สิตไทย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่อุทิศเวลาว่างให้การถ่ายภาพดาราศาสตร์ จนคว้า 3 รางวัลจากการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 ไปครอง อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #managersci #sciencenews #astronomy #astrography #astvscience

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on


กำลังโหลดความคิดเห็น