จากความร่วมมือ 2 สถาบันสู่เครื่องเคลือบกระจกหอดูดาวฝีมือไทย เทคโนโลยีดีกว่านำเข้า เคลือบกระจกได้หลายขนาดครอบคลุมหอดูดาวแห่งชาติและหอดูดาวภูมิภาค ลดความเสี่ยงส่งชิ้นส่วนไปซ่อมบำรุงต่างประเทศ
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยว่า หอดูดาวแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 2.4 เมตร ซึ่งทุกๆ 2 ปีต้องถอดกระจกจากกล้องมาเคลือบฟิล์มบางอลูมิเนียมเพื่อให้การสะท้อนแสงดีขึ้น โดยจะทำในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ปิดซ่อมบำรุงหอดูดาวอยู่แล้ว จึงไม่เป็นอุปสรรคในการถอดกระจกมาเคลือบใหม่
ทั้งนี้ สดร.ได้มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) พัฒนาเครื่องเคลือบกระจก โดยการประสานงานของ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ซึ่งได้ให้โจทย์และส่งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ไปช่วยพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าว เนื่องจาก สซ.ไม่มีประสบการณ์ทำเครื่องเคลือบกระจกมาก่อน
ดร.ศรัณย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การถอดกระจกกล้องโทรทรรศน์ออกมาเคลือบใหม่เป็นโจทย์ใหญ่ตั้งแต่คิดจะมีหอดูดาว เนื่องจากฟิล์บางอลูมิเนียมที่ช่วยสะท้อนแสงจะเสื่อมลงเดือนละ 1% โดยเบื้องต้นเคยพิจารณาจัดซื้อเครื่องเคลือบกระจกจากต่างประเทศ แต่ราคาสูงถึง 1.5 ล้านบาท และยังใช้เทคโนโลยีเก่า แต่เครื่องเคลือบที่ สซ.พัฒนาขึ้นในระบบเคลือบในสุญญากาศที่เป็นระบบใหม่กว่า แต่ราคาถูกกว่า 3 เท่า
"อีกแนวคิดคือถอดส่งไปเคลือบต่างประเทศ แต่กระจกกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตรหนักถึง 1.5 ตัน ถ้าแตกขึ้นมาหอดูดาวก็ไม่สามารถทำงานได้เลย แต่เราเห็นว่า สซ.มีศักยภาพในการสร้างอุปกรณ์สุญญากาศระดับสูง จึงให้โจทย์ในการพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกขึ้น" ดร.ศรัณย์ระบุ
ด้าน สำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม สซ. อธิบายถึงเครื่องเคลือบกระจกที่พัฒนาขึ้นมาว่า ชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดผลิตขึ้นเองโดยฝ่ายวิศวกรรมของสถาบัน โดยการตั้งคณะทำงานและร่วมออกแบบเชิงวิศวกรรมกับเจ้าหน้าที่จาก สดร. ยกเว้นฝาครอบครึ่งวงกลมที่ออกแบบเองแต่ให้ผู้รับเหมาภายนอกรับไปผลิต
"เครื่องเคลือบกระจกที่พัฒนาขึ้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร สูง 5 เมตร เป็นรูปวงรี โดยเราเน้นการทำงานได้หลากหลาย ซึ่งนอกจากเคลือบกระจก 2.4 เมตรของหอดูดาวแห่งชาติแล้ว ยังเคลือบกระจกของหอดูดาวภูมิภาคที่มีขนาดเล็กกว่าได้ หากเป็นกระจก 2.4 เมตรจะเคลือบได้ครั้งละ 1 ชิ้น ขนาด 1 เมตรเคลือบได้ครั้งละ 2 ชิ้น ขนาด 50 เซ็นติเมตรเคลือบได้ครั้งละ 4 ชิ้น เล็กกว่านั้นเคลือบได้หลายชิ้น ระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด" สำเริงกล่าว
ด้าน ศ.นาวาอากาศโท ดร.สราวุธ สุจิตจร ผู้อำนวยการ สซ. กล่าวว่าเครื่องเคลือบกระจกนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของสถาบัน ซึ่งเบื้องหลังต้องใช้เทคโนโลยีที่ยาก คือเทคโนโลยีความแม่นยำสูง และเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง เมื่อทาง สดร.ยื่นโจทย์มาให้พร้อมที่ปรึกษาและอาจารย์ฟิสิกส์จาก มทส.เข้าร่วม จนทีมวิศวกรออกแบบและสร้างจนสำเร็จ
*******************************