xs
xsm
sm
md
lg

จัดสมดุลธรรมชาติทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิออน กนกพิพัฒน์ นักเรียนนาเจริญ รุ่นที่ 9 กับข้าวหอมนิลอินทรีย์ที่เธอปลูกเอง
พื้นที่ 1 ไร่ สำหรับคุณสร้างเงินได้เท่าไหร่ ? ทำอะไรได้บ้าง ? แต่เชื่อไหม? เกษตรกรที่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านนาเจริญ จ.อุบลราชธานี สามารถทำเงินได้ 1 ไร่ 1 แสน เขาทำกันอย่างไร มีวิธีการแบบไหน ที่นี่มีคำตอบ

“ปู่ย่าก็ทำนา พ่อแม่ก็ทำนาแต่ทำไมถึงไม่รวย ลืมตาอ้าปากไม่ได้สักที แถมยังมีหนี้สินรุงรัง” แนวคิดหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านนาเจริญ ต.ดอนจิก อ.พิบูรมังสาหาร จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านแดนอีสานแสนธรรมดาที่ชาวบ้านนิยมปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์หาเงินเลี้ยงชีพธรรมดา เปลี่ยนวิธีการทำเกษตรจากแบบดั้งเดิมเป็นการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถลืมตาอ้าปาก ไม่ต้องเข้าเมืองไปรับจ้างทำอาชีพอื่น

เสถียร ทองสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการ ทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน กล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านมีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบการทำเกษตรอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังขาดแนวทางและการสนับสนุน ทางหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงเข้ามาให้การสนับสนุน โดยมีศุนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ให้บริการด้านวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกษตรกร รู้จักการประยุกต์หลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ 1 ไร่ โดยจัดการฝึกอบรบ และทดลองทำแปลงนาด้วยตัวเองตามหลักสูตรเป็นระยะเวลานาน 5 เดือน เพื่อส่งเสริมความฉลาดทางเกษตรกรรม เพิ่มรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาชีพ ซึ่งในขณะนี้ดำเนินโครงการมาถึงรุ่นที่ 9 แล้วและมีผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการมาแล้วกว่า 3 หมื่นคน

ไบโอเทคจะให้การสนับสนุนความรู้ทางด้านวิชาการ ผ่านการฝึกอบรมที่จัดขึ้นในโครงการ อีกทั้งยังส่งเสริมความรู้ทางด้านต่างๆ ตามความต้องการของผู้ผ่านการฝึกอบรม และอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญคือ การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงให้ทนทานต่ออุปสรรคธรรมชาติ ต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น ข้ามหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วม ข้าวธัญสิรินต้านทานโรคไหม้ ข้าวชัยนาท1 ต้านทานเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล อีกทั้งยังช่วยเหลือในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรให้นำไปทดลองปลูก เพื่อลดปัญหาการขาดทุนจากการสูญเสียผลผลิต สมศักดิ์ พลอยพาณิชย์เจริญ ผู้จัดการงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ไบโอเทค เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทางด้าน นิออน กนกพิพัฒน์ นักเรียนนาเจริญ รุ่น 9 กล่าวว่า เธอสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอยากนำความรู้กลับไปประยุกต์ใช้ที่บ้านของเธอทางภาคใต้ซึ่งเป็นสวนยางพารา ตั้งแต่เธอเข้าโครงการมา ทำให้เธอเข้าใจการเกษตรแบบประณีตมากขึ้น และรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดและมั่นใจว่าจะสามารถกลับไปพัฒนาสวนยางที่บ้านเธอให้กลายเป็นพื้นที่ 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนได้เหมือนที่นี่ เพราะเงินที่ได้จากพื้นที่ 1 ไร่ไม่ได้มาจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทุกส่วนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นตันไม้บนคันนา ปลาในบ่อ เป็ดในเล้า ที่ล้วนแล้วแต่อยู่ในพื้นที่ 1 ไร่สามารถทำเงินให้เธอได้ทั้งสิ้น ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 รอบการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากความรู้ทางโลกที่เธอได้รับเธอยังได้ซึมซับพระพุทธศาสนาในคราวเดียวกันด้วย เพราะวิธีที่นำมาสอนเพื่อบนิหารจัดการแปลงเกษตรทั้งหมดถูกประยุกต์มาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าร่วมกันกับความฉลาดทางความคิด ซึ่งมีข้อกำหนดอยู่เพียง 2 ข้อเท่านั้น สำหรับผู้ที่เข้ามาอยู่ในโครงการ คือ สาดเสื่อหมอนใบ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เธอจึงมั่นใจได้ว่าผู้ที่มาร่วมโครงการ กลับไปจะต้องได้อะไรมากกว่าความรู้ทางการเกษตร

นิออน อธิบายต่ออีกด้วยว่า นักเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการ จะต้องเรียนรู้เรื่องดิน, เรื่องน้ำ, เรื่องของตนเอง และรู้เรื่องของผู้อื่น โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ดิน นักเรียนที่มาเรียนที่นี่จะต้องอยู่กับพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งจะถูกกำหนดเอาไว้ที่ 1 คนต่อ 1 ไร่แล้วบริหารจัดการ ลงมือทำทุกอย่างด้วยมือของตัวเอง เริ่มต้นจากการแบ่งแปลงดินออกเป็น 4 ส่วน คือร้อยละ 30 : 30 : 30 : 10 แบ่งออกเป็น แปลงนา, คันนา, คูน้ำ ที่อยู่อาศัยและที่เลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อปลูกพืชริมคันนา เลี้ยงปลากินพืชและเป็ด แล้วจึงเริ่มจากการทำความเข้าใจกับดินในแปลงของตัวเอง เพราะดินแต่ละแปลงที่ทุกคนได้รับ จะมีสภาพที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการบำรุงก่อนหน้า และเมื่อรู้โครงสร้างดินว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร การหาวิธีแก้ปัญหาก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะมีจุลินทรีย์ปรับสภาพดิน หรือที่ตั้งชื่อเรียกกันว่า “สรรพสิ่ง”

"สรรพสิ่ง" คือชื่อเรียกที่ชุมชนตั้งขึ้นเพื่อเรียกจุลินทรีย์ ที่ นิออน ระบุว่า จะเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายสารอาหารบางชนิดที่พืชยังดูดซึมไปใช้ไม่ได้ให้กลับมาใช้ได้ เกิดจากการหมักน้ำ, น้ำอ้อย, รำข้าว, นมเปรียง และหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้าด้วยกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง คล้ายกับการทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำไปปรับสภาพดินและรดพืชผักแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งสรรพสิ่งนี้เองถือเป็นหัวใจหลักอย่างหนึ่งของการทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้านนาเจริญ เป็นไฮไลท์ที่ผู้มีอบรมในโครงการทุกคนต้องได้นำกลับไปใช้และผ่านการฝึกหมักด้วยตัวเองทั้งแบบสรรพสิ่งน้ำที่ได้กล่าวไปแล้ว และสรรพสิ่งก้อนที่เป็นการทำให้แห้งเพื่อยืดอายุการใช้งานและการเก็บรักษา

ในส่วนของการเรียนรู้น้ำก็เป็นอีกส่วนสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่ต้นข้าวจะต้องการน้ำเท่านั้า ในพื้นที่ 1 ไร่นี้ยังมีบ่อเลี้ยงปลาอีกด้วย ต้องรู้ว่ามีปริมาณน้ำแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ คุณภาพน้ำเป็นอย่างไร ต้องคิดถึงปัญหาและวิธีสำรองแก้ไขเพื่อพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ต่อมาคือการรู้เรื่องของตนเอง คือการมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร ต้องตั้งใจทำจนประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือตัวเองก่อนร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และหมั่นหาความรู้เพิ่มเติม และสุดท้ายการรู้เรื่องของผู้อื่น ต้องหัดเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เพราะเราไม่อาจอยู่ได้เพียงลำพัง การหมั่นเรียนรู้ว่าเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างไร สัตว์เลี้ยงเป็นอย่างไร สภาวะแวดล้อมเป็นอย่างไร จะทำให้ทราบถึงวิธีการแก้ไขและรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ทุกภาค เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุโดยตรง นิออน อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

อรพรรณ ปิ่นโรจน์ นักเรียนบ้านนาเจริญ รุ่นที่ 8 กล่าวว่า ผลผลิตที่ได้จะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าที่อื่น เพราะผ่านการดูแลจากเจ้าของพื้นที่เป็นอย่างดี ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน จนถึงการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะข้าวหอมนิลผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน ที่จะมีความพิเศษกว่าที่อื่นคือ จะดำสนิททั้งในและนอกเมล็ดแสดงให้เห็นถึงปริมาณของวิตามินที่มาก และคาร์โบไฮเดรตที่น้อยซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีและต้องการในหมู่คนรักสุขภาพ ทำให้ข้าวหอมนิลในพื้นที่ขายได้ราคาดี รวมไปถึงพืชพรรณธัญญาหารชนิดอื่นที่ได้ผลผลิตคุณภาพดีเช่นเดียวกัน

"เราเน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่า และคืนสมดุลให้ธรรมชาติ โดยการจัดเตรียมวัตถุดิบคุณภาพดีเพื่อให้เกิดความพร้อมและความมั่นใจว่าการลงแปลงปลูกต้องประสบความสำเร็จ นาที่อื่นอาจต้องใช้ข้าวเปลือกมากถึง 15 กิโลกรัมเพื่อทำการหว่านในแปลงนา 1 ไร่ แต่ที่นี่ใช้ข้าวเพียง 2 ขีดครึ่ง แต่เป็น 2 ขีดครึ่งที่มั่นใจ 100% ว่าจะได้ผลผลิตที่ดี เพราะทุกเมล็ดจะผ่านการคัดคุณภาพโดยการแช่ในถังน้ำเกลือเพื่อคัดข้าวดีข้าวเสีย ผ่านขั้นตอนการหมักเมล็ดพันธุ์เพื่อกระตุ้นฮอร์โมนในเมล็ดข้าวให้ทำงาน จากนั้นจึงนำข้าวไปเพาะในกระบะให้เป็นต้นกล้าที่มีรากแข็งแรงเพื่อแตกขยายกอเพิ่มจำนวนตัวเอง แล้วจึงนำกล้าลงแปลงนาโดยวิธีโยนกล้า แล้วบำรุงตามวิธีธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทำให้สามารถเรียกได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า เราคือเกษตรอินทรีย์จริงๆ แต่เป็นเกษตรอินทรีย์ที่รู้เท่าทันธรรมชาติ รู้เท่าทันปัญหา" อรพรรณ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
บ้านไม้ใต้ถุนสูง ด้านล่างมีบ่อเลี้ยงปลา ด้านข้างคือนาอินทรีย์ แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ใต้ถุนบ้านมีการขุดสระเลี้ยงปลากินพืช
รวงช้าวหอมนิล สีน้ำตาลอมม่วงใกล้เก็บเกี่ยวได้
ข้าวหอมนิลอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อชื่อของชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านนาเจริญ จ.อุบลราชธานี
ผลผลิตบางส่วนที่ได้จากนาเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ 1 ไร่
มีการแบ่งพื้นที่เพื่อเลี้ยงไก่ สำหรับเก็บไข่ขาย
มีการเลี้ยงปศุสัตว์จำพวก วัว ควาย
ส่วนประกอบสำหรับการผลิตสรรพสิ่ง
สรรพสิ่งน้ำ : จุลินทรีย์ที่เกิดจากการหมักเพื่อใช้ในการปรับปรุงดิน
สรรพสิ่งแห้ง
สรรพสิ่งก้อน
ไบโอเทค และหอการค้าไทย เปิดเวทีเสวนาย่อยๆ กับชาวบ้านนาเจริญ
อาหารทั้งหมดในสำรับนี้ ปรุงจากผลิตผลในนาอินทรีย์
สมศักดิ์ พลอยพาณิชย์เจริญ ผู้จัดการงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ไบโอเทค






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น