xs
xsm
sm
md
lg

“ม.เกษตร” กำแพงแสน รุกช่วยเกษตรกรเผยสูตร “จุลินทรีย์” ให้ชาวบ้านทำกันเอง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนคปฐม รุกช่วยเกษตรกร และประชาชนเผยเคล็ด “จุลินทรีย์” สูตรชาวบ้านทำง่ายได้เองที่บ้าน


“จุลินทรีย์” ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์มาก และมีความสำคัญในกระบวนการต่างๆ ในหลายๆ วงการ ทั้งด้านอาหาร อุตสาหกรรม เชื้อเพลิง รวมถึงทางด้านการเกษตร ซึ่งการนำประโยชน์มาใช้ทางด้านการเกษตรนั้นส่งผลถึงประโยชน์ให้แก่มนุษย์โดยตรงในหลายๆ ด้าน นักวิทยาศาสตร์ จึงได้มีการคิดค้นพัฒนาการสร้างจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ดร.อนามัย ดำเนตร คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนคปฐม เปิดเผยว่า จากปัญหาที่ประชาชนสอบถามไปยังโครงการวิจัยด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ว่า เมื่อได้รับแจกหัวเชื้อจุลินทรีย์มีประโยชน์มากจากหน่วยงานต่างๆ แต่หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับแจกมามีจำนวนจำกัด

รวมทั้งหัวเชื้อมีอายุอาจหมดสภาพ หรือตายลง หากต้องการขยายหัวเชื้อ และต่อหัวเชื้อให้มีอายุยาวนาน โดยเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับมาเก็บไว้ใช้เองที่บ้าน แต่ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ดังเช่นที่ใช้ในงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ หรือไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากนักจะทำอย่างไร

ต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” จึงได้มีการค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับการต่อหัวเชื้อ และขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์แบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองที่บ้านจนประสบผลสำเร็จ และได้นำมามาเผยแพร่เพื่อให้เกษตรกรท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจสามารถนำไปใช้อย่างง่าย ไม่ยุ่งยาก และสามารถหาวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่นำมาใช้ทำได้ทันที

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” กล่าวว่า สำหรับโครงการวิจัยด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” ได้ทดสอบการขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์ โดยใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่หาง่ายทั่วไปมาทดสอบดูว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ชอบใช้วัตถุดิบชนิดไหนเป็นอาหารเพาะขยายหัวเชื้อ

ตัวอย่างวัตถุดิบที่ทดสอบ ได้แก่ น้ำมะพร้าวผลแก่ น้ำมะพร้าวผลอ่อน ข้าวขาวหุงสุก ข้าวกล้องหุงสุก ถั่วลิสงกะเทาะเปลือกต้มสุก ถั่วเขียวต้มสุก มันเทศต้มสุก หมูเนื้อแดงสับต้มสุก (กรองใช้เฉพาะน้ำ) เนื้อไก่สับต้มสุก (กรองใช้เฉพาะน้ำ) เนื้อวัวสับต้มสุก (กรองใช้เฉพาะน้ำ) ผลการทดสอบพบว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์จากหลายแหล่งที่มาต่างๆ กันนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีในวัตถุดิบแตกต่างกัน หัวเชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่เติบโตได้ดีใน ข้าวขาวหุงสุก น้ำมะพร้าวแก่ น้ำมะพร้าวอ่อน เติบโตได้ดีรองลงมา คือ ถั่วลิสงต้มสุก น้ำต้มหมูเนื้อแดงสับ น้ำต้มเนื้อไก่สับ

ส่วนวัตถุดิบที่หัวเชื้อจุลินทรีย์บางแหล่งเติบโตได้ดี บางแหล่งเติบโตได้ไม่ดี คือ ถั่วเขียวต้มสุก ข้าวกล้องหุงสุก น้ำต้มเนื้อสับ และมันเทศต้มสุก

ดังนั้น เมื่อได้รับหัวเชื้อจุลินทรีย์ และต้องการเพิ่มจำนวนขยายเชื้อเก็บไว้ใช้ต่อ เราขอแนะนำขั้นตอนการทำง่ายๆ ดังนี้ นำมะพร้าว (มะพร้าวอ่อน หรือแก่ก็ได้) มาปอกเปลือกเฉพาะด้านขั้วบน จากนั้นใช้ไขควงลนไฟ เจาะส่วนตามะพร้าวให้เป็นรู หยอดหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ต้องการขยายลงไป แล้วปิดรูที่หยอดเชื้อด้วยปลาสเตอร์ปิดแผลให้สนิท ขณะเจาะตามะพร้าว หยอดหัวเชื้อ ควรติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน จะช่วยลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ในอากาศลงในการเพาะขยายหัวเชื้อ เก็บมะพร้าวที่ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์แล้วไว้ในที่ร่ม เขย่าทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง เช้าเย็นนาน 2-3 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เพิ่มจำนวนในน้ำมะพร้าว ประมาณ 100-1,000 เท่า

การขยายของหัวเชื้อจุลินทรีย์จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของหัวเชื้อ และอุณหภูมิภายนอก ช่วงอากาศร้อนหัวเชื้อจุลินทรีย์จะโตเร็วกว่าช่วงหน้าหนาว สังเกตปริมาณมากน้อยของหัวเชื้อหลังขยายได้คร่าวๆ จากความขุ่นของน้ำมะพร้าว หากขุ่นมากแสดงว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมากกว่าน้ำมะพร้าวที่ขุ่นน้อย

การขยายหัวเชื้ออีกวิธีหนึ่งสามารถทำได้โดยหุงข้าวขาวให้สุก ตักข้าวตอนกำลังสุกใหม่ๆ ร้อนๆ ใส่ในถุงพลาสติกที่สะอาด (อาจจะโรยกลูโคสลงไปเล็กน้อยประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ต่อข้าว 2 ทัพพี เพื่อช่วยเร่งการขยายหัวเชื้อ กลูโคสกระป๋องนี้มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป) ใส่หัวเชื้อที่ต้องการขยายลงไป ผสมให้เข้ากัน ปิดปากถุงไว้

ข้อควรระวังเช่นเดียวกันคือ ขณะตักข้าวใส่ถุง หยอดหัวเชื้อ ควรติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน จะช่วยลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ในอากาศสู่หัวเชื้อที่ต้องการขยายหัวเชื้อ เก็บถุงข้าวขาวที่ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์แล้วในที่ร่มนาน 2-3 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่โตในข้าวขาวประมาณ 10-100 เท่า

การขยายหัวเชื้ออีกวิธีหนึ่ง สามารถทำได้โดยนึ่งเมล็ดถั่วลิสง หรือถั่วเหลืองซีกให้สุก แล้วตักตอนกำลังสุกใหม่ๆ ร้อนๆ ใส่ในถุงพลาสติกที่สะอาด (อาจจะโรยกลูโคส ลงไปเล็กน้อยประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ต่อถั่ว 2 ทัพพี เพื่อช่วยเร่งการขยายหัวเชื้อ กลูโคสกระป๋องนี้มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป) ใส่หัวเชื้อที่ต้องการขยายลงไป ผสมให้เข้ากัน ปิดปากถุงไว้

ข้อควรระวังเช่นเดียวกันคือ ขณะตักถั่วหุงสุกใส่ถุง หยอดหัวเชื้อ ควรติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน จะช่วยลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ในอากาศสู่หัวเชื้อที่ต้องการขยายหัวเชื้อ เก็บถุงถั่วที่ใส่หัวเชื้อจุลินทรีย์แล้วในที่ร่มนาน 2-3 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่โตในถั่วประมาณ 10-20 เท่า

เทคนิคการต่อหัวเชื้อ และขยายหัวเชื้อนี้มีข้อควรระวังคือ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่อาจตกลงไปในระหว่างขั้นตอนการถ่ายหัวเชื้อ เนื่องจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนสามารถเติบโตได้ดีในน้ำมะพร้าว ข้าวขาว หรือถั่วชนิดต่างๆ เช่นกัน การปนเปื้อนนี้สามารถป้องกันได้ โดยพยายามใช้ความร้อนช่วยระหว่างการถ่ายเชื้อ

เช่น ใช้ไขควงลนไฟเจาะรู ใช้ข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ กำลังร้อน หรือลนไฟอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องด้วยไฟแช็ก การตักข้าวหรือถั่วใส่ถุง การหยอดหัวเชื้อ ควรทำขณะติดไฟตะเกียงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อากาศบริเวณนั้นเกิดความร้อน น้ำมะพร้าว และข้าวขาวหุงสุกส่งเสริมการโตของหัวเชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ได้ แต่การขยายหัวเชื้อจะดีมากน้อยแค่ไหนคงต้องใช้ความสังเกตหัวเชื้อที่ขยายแล้ว หัวเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดอาจมีความชอบอาหารต่างๆ กัน รวมทั้งเชื้อหลายชนิดที่อยู่ในหัวเชื้อจุลินทรีย์ อาจจะมีอัตราการเติบโตในวัตถุเพาะเลี้ยงไม่เท่ากัน

รองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ กล่าวต่อว่า โครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ยังมีองค์ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุลินทรีย์อีกมากมาย เช่น น้ำหมักชีวภาพสูตรส่งเสริมการโต สูตรต้านโรค หัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติเพื่อการเกษตร ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมด้าน “ทรัพยากรจุลินทรีย์” ได้ที่รองศาสตราจารย์ ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทรศัพท์ 08-3559-8448 อีเมล microreku@gmail.com








กำลังโหลดความคิดเห็น