นักล่าดาวมืออาชีพและมือสมัครเล่นเข้ารับรางวัล "ภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2557 มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" ด้าน รมต. กระทรวงวิทย์ชี้เป็นงานอดิเรกที่ควรส่งเสริม นอกจากสวยงามยังได้ประโยชน์หลายทางแถมสร้างนักดาราศาสตร์สมัครเล่น
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ประจำปี 2557 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 57 โดยมี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีและผู้มอบรางวัล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การถ่ายภาพดาราศาสตร์นั้น ไม่ใช่ว่าคนๆนั้นจะถ่ายภาพเป็นแล้วสามารถถ่ายได้ แต่การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ผู้ถ่ายจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ ทั้งที่เกิดจากการเรียนรู้โดยตรงหรือศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้วนแต่น่ายินดี เพราะเป็นการเปิดมุมมองทางวิทยาศาสตร์ให้ขยายไปสู่วงกว้างยิ่งขึ้น ผ่านทางงานอดิเรกซึ่งก็คือ การถ่ายภาพ
"จะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งให้สังคมไทย เป็นสังคมแห่งวิทยาศาสตร์ ซึ่งรางวัลที่ได้ในวันนี้นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวของผู้ได้รับรางวัลแล้ว ยังเชื่ออีกว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยอีกไม่น้อย สนใจการถ่ายภาพดาราศาสตร์ และอยากเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในสาขานี้มากขึ้น" ดร.พิเชฐกล่าว
ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า โครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ เป็นโครงการที่จัดขึ้นทุกปีในปีนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 เพื่อส่งเสริมให้เกิดนักดาราศาสตร์สมัครเล่น และกระตุ้นความสนใจทางด้านดาราศาสตร์ให้แก่เยาวชน และผู้สนใจ ได้ส่งผลงานภาพถ่ายที่บันทึกได้ด้วยฝีมือตัวเอง ซึ่งในปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมถึง 62 ท่านใน 221 ผลงาน เป็นแนวโน้มที่ดีที่มีผู้สนใจและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกับทางสดร. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ผลงานที่ได้รับรางวัลผ่านการพิจารณาตัดสินจาก ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพิจารณาตัดสินผลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ นักวิชาการด้านการถ่ายภาพ และผู้แทนจากสื่อมวลชน ซึ่งมีทั้งนักถ่ายภาพหน้าเก่า และหน้าใหม่ที่ได้รับรางวัล
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และของรางวัลจาก บริาัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศได้เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัติ และรางวัลชมเชยได้เงินรางวัล 2,000 บาทพร้อมเกียรติบัติ
สำหรับปี 2557 นี้จัดประเภทการแข่งขันออกเป็น 5 ประเภท คือ
1.ประเภท Deep Sky Objects ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ จากผลงาน "Veil Nebula"
นายตระกูลจิตร เจ้าของผลงานเผยว่า ทำงานทางด้านธนาคาร และไม่ได้เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ แต่ชอบและรักการถ่ายภาพดาราศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ โดยทำต่อเนื่องมานับ 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะการถ่ายภาพประเภทวัตถุทางอากาศเชิงลึก ที่เป็นการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ชั้นสูง จำเป็นต้องใช้เทคนิคและวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อนในการถ่ายภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายและแปลกใหม่ในการจะบันทึกภาพวัตถุบนท้องฟ้าที่อยู่ห่างไกลจากโลกและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
"ในภาพนี้แสดงให้เห็นถึงกลุ่มแก็สที่เกิดจากดาวฤกษ์กระจายออกเป็นรูปทรง แสงที่เรืองเกิดจากความร้อนและความสว่างของดาวที่หมดอายุขัยเมื่อประมาณ 5,000-8,000 ปีที่แล้ว ส่วนจุดเด่นที่ทำให้ผลงานได้รับรางวัลอยู่ที่ความยากของผลงานเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะถ่ายภาพนี้ออกมาได้ต้องใช้ความอดทนและเทคนิคมากมาย" นายตระกูลจิตร ระบุ
2.ประเภทปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายกีรติ คำคงอยู่ จากผลงาน "ฝนดาวตกดพอร์เซอิดส์"
นายกีรติ เผยว่า เขาอยู่ในวงการถ่ายภาพมาได้ 15-16 ปีแล้ว ถ่ายภาพทุกประเภท แต่หันมาถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ได้เมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน เพราะดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่สวยงามทำให้อยากรู้ว่าจะต้องถ่ายภาพอย่างไรเพื่อให้สวย เกิดการศึกษา พัฒนาและหาความรู้ทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น ซึ่งรางวัลนี้ไม่ใช่รางวัลแรก ปีที่แล้วก็ได้รับรางวัลจาการประกวดเวทีนี้ 2-3 รางวัลเช่นเดียวกัน เพราะมองว่าทุกสิ่งมีความสวยงามอยู่ในตัว และเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องพัฒนาฝีมือเพื่อตามเก็บภาพสวยๆ มาให้ได้
3.ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายสิทธิ์ สิตไทย จากผลงาน "ดาวเสาร์ใกล้โลก 2557"
นายสิทธิ์ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ยังคว้ารางวัลอื่นๆ รวม 3 รางวัล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การถ่ายภาพดาราศาสตร์นอกจากจะเป็นการฝึกฝนตัวเอง เพิ่มพูนทักษะการถ่ายภาพแล้ว ยังเป็นความสุขอย่างหนึ่งของเขา เพราะนอกจากการสอนหนังสือที่เป็นอาชีพหลัก การถ่ายภาพดาราศาสตร์คือสิ่งที่เขาทำเป็นงานอดิเรกที่นอกจากจะให้อะไรหลายๆอย่างกับเขาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ คือ เพื่อนในชมรมนักถ่ายภาพ ที่จะคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพ เป็นความสุขอีกทางหนึ่งที่ได้รับจากการถ่ายภาพดาราศาสตร์
4.ปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายเชิดพงศ์ วิสารทานนท์ จากผลงาน Cherdphong Corona Discharge
นายเชิดพงศ์ ผู้มีอาชีพเป็นนักบินผู้ช่วย เผยว่าบังเอิญได้ภาพถ่ายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมฆขณะเตรียมตัวนำอากาศยานขึ้นบิน ซึ่งความพิเศษของภาพนี้คือ ภาพถูกบันทึกไว้ด้วยสมาร์ทโฟนจากความบังเอิญในชีวิตประจำวัน ประกอบกับความรู้ทางด้านปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เขามี ซึ่งนักดาราศาสตร์ยังไม่ฟันธงว่าคือปรากฏการณ์อะไร แต่คล้ายคลึงกับ “Jumping Sundog” ปรากฏการณ์แสงคู่ที่เกิดขณะดวงอาทิตย์ทรงกลด
เชิดพงศ์เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขาเองมีพื้นฐานและมีความสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อยู่บ้างแต่ไม่ได้จริงจัง แต่หลังจากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาอยากค้นหาและพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะดาราศาสตร์มีอะไรให้ค้นพบอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่อยู่กับเราเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะสนใจเขาหรือไม่
5.ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายอภินันท์ ตั้งศรีวงศ์ จากผลงาน ดาวหมุนบนภูผา
สำหรับรางวัลประเภทนี้เป็นรางวัลที่มีผู้สนใจส่งภาพเข้ามาร่วมประกวดมากที่สุด เพราะมีทั้งความสวยงามของธรรมชาติรอบข้างและวัตถุบนท้องฟ้า