xs
xsm
sm
md
lg

ชมดาวเสาร์ใกล้โลก ณ หอดูดาวแปดริ้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
สดร.เปิดหอดูดาวฉะเชิงเทราจัดกิจกรรมชม "ดาวเสาร์" ใกล้โลกที่สุดในรอบปี พร้อมเผยปรากฏการณ์พายุหกเหลี่ยมบนขั้วเหนือดาวเสาร์ที่นักดาราศาสตร์พบมาหลายสิบปีแล้วกำลังศึกษาอยู่

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 3 มิ.ย.59 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 มิ.ย.59 นี้ ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) และอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,350 ล้านกิโลเมตร ทำให้ปรากฏความสว่างชัดเจนและมองเห็นได้ตั้งดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น โดยสามารถสังเกตดาวเสาร์ในช่วงอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.59

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนว่า ปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกนี้เกิดขึ้นทุกปี และช่วงเดือน มิ.ย.60 ก็จะเห็นปรากฏเดียวกันนี้ แต่ช่วงนี้ดาวเสาร์หันขั้วเหนือเข้าหาโลก และจะหันเข้าหามากที่สุดในปี '60 เราจึงไม่เห็นขั้วใต้ของดาวเสาร์

"ดาวเสาร์ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 30 ปี ดังนั้นใน 1 ฤดูกาลจะนาน 7 ปีครึ่ง แต่หากแบ่งตามการหันขั้ว จะเห็นขั้วเหนือ 15 ปี และเห็นขั้วใต้ 15 ปี ซึ่งเราจะเห็นขั้วเหนือไปอีกประมาณ 7 ปี" ดร.ศรัณย์กล่าว

จุดที่น่าสนใจของขั้วเหนือบนดาวอังคารนั้นคือพายุที่เคลื่อนที่เป็นหกเหลี่ยม แต่ไม่เห็นพายุแบบเดียวกันนี้ที่ขั้วใต้ ซึ่ง ดร.ศรัณย์ระบุว่า พายุดังกล่าวถูกพบมาแล้วหลายสิบปีโดยยานวอยเอเจอร์ และตอนนี้พายุดังกล่าวยังอยู่โดยมีการยืนยันด้วยกล้องโทรทรรศน์บนโลก รวมถึงหอดูดาวของ สดร.

"นักดาราศาสตร์คิดว่าเป็นเพราะ 'คลื่นนิ่ง' เนื่องจากทำการทดลองด้วยของไหลบนโลกก็เกิดปรากฏการณ์คล้ายๆ กัน" ดร.ศรัณย์กล่าว

ในส่วนของประชาชนที่มาร่วมชมปรากฏการณ์นั้น กานต์วิณี โรจน์วงศ์วรา และปริญญา กันรักษา ผู้เป็นสามีและลูกน้อย ได้เดินทางจากเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ มาร่วมกิจกรรมที่ อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทรา พร้อมทั้งต่อคิวชมดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งบริเวณ "ระเบียงดาว" ข้างโดมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ

กานต์วิณีบอกว่าทั้งครอบครัวยังไม่เคยส่องกล้องดูดาวเสาร์มาก่อน เมื่อทราบข่าวการจัดกิจกรรมผ่านทางแฟนเพจของ สดร.จึงได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมเนื่องจากไม่ไกลมาก และยังเคยมาชมดาวพฤหัสบดีจากกิจกรรมของ สดร.ที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

ส่วน นางอัมพวัน ขจรศักดิ์วรกุล จาก อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ได้เดินมาพร้อมลูกสาว ลูกชายและสามี เพื่อร่วมชมดาวเสาร์ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจาก อ.แปลงยาว และยังไม่เคยดูดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์มาก่อน แม้ว่าภาพที่เห็นจากกล้องจะเป็นสีขาวซีดไม่มีสีสันเหมือนในภาพถ่ายหรือชมผ่านโทรทัศน์ แต่ก็สวยดี

นอกจากนี้ สดร.ยังจัดกิจกรรมสังเกตดาวเสาร์ใกล้โลก ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมาด้วย
(ภาพโดย สดร.) ภาพดาวเสาร์ที่เห็นจากกล้องโทรทรรศน์บนระเบียงดาวข้างโดมหอดูดาวภูมิภาค
ภาพดาวพฤหัสบดีจากกล้องโทรทรรศน์บนระเบียงดาวข้างโดมหอดูดาว (สดร.)
ภาพดาวอังคารจากกล้องโทรทรรศน์บนระเบียงดาวข้างโดมหอดูดาว (ภาพ สดร.)
ฝึกใช้กล้องโทรทรรศน์
ฝึกใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดาวพฤหัสบดี
กานต์วิณี โรจน์วงศ์วรา และปริญยา กันรักษา เดินทางจากมีนบุรี มาร่วมสังเกตดาวเสาร์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
หอดูดาวภูมิภาค จ.ฉะเชิงเทรา
ภาพดาวเสาร์ซึ่งหันขั้วเหนือให้โลก เผยพายุที่ขั้วเหนือเป็นรูปหกเหลี่ยม (ภาพโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา)









กำลังโหลดความคิดเห็น