สดร. เผยคืนวันที่ 3 มิ.ย.59 ดาวเสาร์ "ราชาแห่งวงแหวน” จะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ "ใกล้โลกที่สุดในรอบปี" ปรากฏชัดเป็นสีเหลืองสว่างสุกใส ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลังดวงอาทิตย์ตก อวดโฉมยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สดร.เปิดหอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา ขนกล้องดูดาวนับสิบให้บริการประชาชน
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 3 มิ.ย. 59 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) ที่เป็นตำแหน่งที่ดาวเสาร์ โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง การโคจรมาอยู่ในแนวดังกล่าวส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,350 ล้านกิโลเมตร คนบนโลกจึงมองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมากได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกไปจนถึงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป ซึ่งในปีนี้ดาวเสาร์จะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ให้ได้ชมตั้งแต่เดือน มิ.ย ไปจนถึงเดือน ส.ค. 59
ดร.ศรัณย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในคืนวันที่ 3 มิ.ย. ดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. มีสีเหลืองสว่างสุกใส สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 6.00 น. ของเช้าวันที่ 4 มิ.ย. การที่ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หมายถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตกดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้า ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ค่อนข้างยาวนานและมากพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การชมด้วยตาเปล่า มองผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือการถ่ายภาพวงแหวนดาวเสาร์ หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่า ขึ้นไป จะพบดาวเสาร์ปรากฏเต็มดวง นอกจากนี้ระนาบวงแหวนดาวเสาร์ยังปรากฏเอียงทำมุม 26 องศากับระดับสายตาด้วย ทำให้สามารถสังเกตวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจน
"ดาวเสาร์ใกล้โลกครั้งล่าสุดเกิดคือวันที่ 23 พ.ค. 58 และครั้งต่อไปในวันที่ 15 มิ.ย.60 ขนาดปรากฏของดาวเสาร์ในช่วงที่โคจรมาใกล้โลกในแต่ละปีมีความแตกต่างกันน้อยมาก เนื่องจากดาวเสาร์อยู่ไกลจากโลกค่อนข้างมาก ต่างจากดาวอังคารที่มีขนาดปรากฏใหญ่เล็กแตกต่างกันในแต่ละปี แต่การได้เห็นวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และเป็นความฝันของเด็กๆ หลายคนที่อยากเห็นวงแหวนดาวเสาร์ด้วยตาตนเอง นอกจากนี้ในค่ำคืนของวันที่ 3 มิ.ย. ยังมีดาวเคราะห์ที่น่าสนใจปรากฏบนท้องฟ้าอีกหลายดวงด้วย อาทิ ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยในช่วงหัวค่ำดาวอังคารจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูจะสามารถเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน ส่วนดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างอยู่กลางท้องฟ้าค่อนไปทางทิศตะวันตก ซึ่งทาง สดร.ก็ได้จัดกิจกรรมให้บริการประชาชนด้วย" ดร.ศรัณย์ เผย
สำหรับกิจกรรมที่ สดร.จัดจะมีขึ้นใน 2 พื้นที่ดังนี้ วันศุกร์ที่ 3 มิ.ย.59 เวลา 18.00-22.00 น. บริเวณหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา จะมีการนำกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ กว่า 10 ตัว มาบริการประชาชน มีกิจกรรมดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ อาทิ ส่องดาวเสาร์ “ราชาแห่งวงแหวน” ที่สว่างสุดชัดสุดในรอบปี, เต็มอิ่มกับดาวอังคาร “ดาวเคราะห์แดง” ที่ยังส่องประกายสีส้มบนท้องฟ้า, ตระการตาไปกับดาวพฤหัสบดีพร้อมดวงจันทร์บริวารอีก 4 ดวง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับ สดร. ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/NARITpage