ปลาร้าครีม-ปลาร้าทรงเครื่องไร้ก้าง ปลอดเชื้อ ถุงมือยาง ข้าวแต๋นสแนคบาร์ เงาะนาสารอบแห้ง สารพัดสินค้าโอทอปขึ้นห้างที่เพิ่มมูลค่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากหลายกระทรวงจัดงาน TISTR and Friends 2014 ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย.57 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวมโซนบี ชั้น 1
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า การจัดกิจกรรม นี้มีจุดประสงค์เพื่อ สร้างการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานให้กับสาธารณชนได้เห็นถึงความสำคัญในการนำประโยชน์จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี รวมถึงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอย่างครบวงจร
ภายในงาน แบ่งนิทรรศการออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนจัดแสดงผลงานวิจัยเด่นและผลงานนวัตกรรมของ วว. อาทิ น้ำมันจากสาหร่าย พลังงานจากถังขยะ ส่วนจัดแสดงของผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์แนวสร้างสรรค์ และส่วนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ความร่วมมือจากวว. และหน่วยงานพันธมิตร
ผลิตภัณฑ์ที่ทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์นำมาเสนอส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก วว. และหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาวิธีการ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเพิ่มอายุผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการวางแผนการตลาดต่างๆ แตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ว่ายังมีจุดอ่อนตรงไหนที่ต้องการความช่วยเหลือจากงานวิจัย เทคโนโลยีและเครื่องมือของ วว.
เริ่มต้นด้วยผลิตภัณฑ์แรกที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดี คือ ปลาร้าจาก บริษัท เอ.เอส.เอฟ ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ประกอบการจากจ.มหาสารคาม ที่ผลิตปลาร้าในรูปแบบของปลาร้าครีมและปลาร้าบองทรงเครื่อง โดยเป็นปลาร้าที่ทำขึ้นมาเพื่อเอาใจผู้บริโภคที่ไม่ทานผงชูรสและต้องการนำไปใช้ในต่างประเทศ เพราะเป็นปลาร้าที่ผ่านกรรมวิธีการต้มและนำก้างออก สะอาด ปราศจากเชื้อโรค ให้ความรู้สึกและรสชาติเช่นเดียวกันกับปลาร้าที่ขายทั่วไป
ต่อกันที่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีใครคาดถึงอย่างเงาะนาสารอบแห้ง จาก บริษัท นาสาร ฟู้ด โปรดักซ์ จำกัด ที่มาจากผู้ประกอบการ เป็นชาวสวนเงาะโรงเรียน อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีปัญหาเงาะล้นตลาดและราคาตกต่ำ จึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เงาะกวนแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร วว.จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเงาะอบแห้ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทำมาก่อน โดยเข้ามาช่วยเหลือทั้งในด้านเครื่องมือการผลิต ขั้นตอนการผลิตและบรรจุภัณฑ์จนในปัจจุบันมีการวางขายแล้วในร้านค้าของฝากตามสนามบิน และเป็นที่นิยมมากขึ้นตามลำดับ
อีกผลิตภัณฑ์ที่น่าจะถูกใจเด็กๆ อย่างข้าวแต๋นบาร์ จากผู้ผลิตข้าวแต๋น จ.ลำปาง ที่พบปัญหาเศษเมล็ดข้าวพองแตกเหลือจากการผลิตเป็นจำนวนมากนำมาสู่การผลิตเป็นข้าวแต๋นลำไยเคลือกช็อกโกแลตแบบแท่ง ที่ได้รับคำแนะนำในการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์จาก วว. ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้กับทั้งข้าวแต๋นหักและลำไยที่มีมากในภาคเหนือ
ทางด้านของผู้ประกอบการชาวสวนยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางที่มีคุณสมบัติยืดอายุการใช้งานของถุงมือที่แต่เดิมขาดง่ายเพราะทำจากผ้า ให้มีความทนทาน กันร้อน กันเย็น ลดการบาดเจ็บจากการเกี่ยวบาด โดยการเคลือบน้ำยางที่ถุงมือบริเวณฝ่ามือด้านในเพราะเกษตรกรชาวสวนยางประสบปัญหาน้ำยางออกน้อยและราคาตกต่ำจึงพยายามที่จะนำน้ำยางที่ผลิตได้ มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยวว.เข้ามาให้การชาวยเหลือในการพัฒนาสูตรน้ำยางเพื่อให้ยางที่ดคลือบบนถุงมือมีความนิ่มมากขึ้นจากที่แต่เดิมสูตรยางที่ชาวบ้านใช้จะแข็งคล้ายผิวลูกบาสเกตบอล ทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้งานจริง
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมาย อาทิ ผักเชียงดาดองพร้อมทาน แกงผักเชียงดา แกงผักหวานป่าทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบแห้ง ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการ จ.เชียงราย น้ำพริกรสเด็ดและไข่เค็มดินสอพอง จากกลุ่มแปรรูปอาหารบ้านหนองแฝก จ.ยโสธร ข้าวผงชงพร้อมดื่มจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ผสม จากผู้ประกอบการ จ.ศรีสะเกษ ที่ วว.เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการพัฒนารูปแบบการผลิต การยืดอายุอาหารและบรรจุภัณฑ์
ผู้ว่าการ วว.เผยว่า งานหลักของ วว. คือการทำวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดนวัตกรรมที่ต้องการ เรามีนักวิจัยมีพันธมิตรที่พร้อม ในขณะที่ผู้ประกอบการก็มีกำลังกาย กำลังใจพร้อมแต่ขาดในเรื่องของเทคโนโลยีและคำแนะนำ วว.จึงลงมาช่วยผู้ประกอบการโดยการใช้งานวิจัย เทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ ที่เรามีมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผู้ประกอบการมีรายได้ที่มากขึ้น มีรายจ่ายที่น้อยลง ประกอบกับมีพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นธนาคารและหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุน การออกแบบบรรจุภัณฑ์และการให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มธุรกิจ วางอิฐก้อนแรก
"แค่เรานำวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เป็นส่วนผสมทางธุรกิจอย่างเหมาะสม จากผักกาดดองในกะละมังก็กลายเป็นผักกาดดองขึ้นห้างได้ นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานอาหาร ยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายเท่าตัวอีกด้วย" นายยงวุฒิกล่าว
ทางด้าน ปณิศรา พิมพ์ปรุ หรือโอปอลล์นักแสดงหญิงซึ่งอยู่ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เผยว่า เป็นโอกาสดีที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาให้ความรู้และคำแนะนำกับผู้ประกอบการ เพราะเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาสินค้าของตัวเองให้มีคุณภาพดีขึ้นอยู่เสมอเช่นกัน เธอมีธุรกิจร้านกาแฟที่ทำร่วมกับครอบครัวมาเป็นเวลานาน และมีสิ่งหนึ่งที่กำลังจะต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับขัดผิวกายซึ่งก็คือ กากกาแฟที่เหลือจากร้าน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเธอก็จะร่วมขอคำปรึกษาจากนักวิจัย วว.ด้วยเช่นกัน
"เชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีอยู่ใกล้ตัว โดยเฉพาะของไทยเองแท้ๆ มีประโยชน์อีกมากที่ยังมองไม่เห็น ทำให้ถูกมองข้ามไป แทนที่จะกลายเป็นเม็ดเงินกลับถูกทิ้งลงถังขยะ หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการเองมีการพัฒนาตัวสินค้าที่ดี หด้คุณภาพ ปลอดภัย มีการใช้การโฆษณาที่เหมาะสม มีบรรจุภัณฑ์ที่ดูดี โอปอลล์เชื่อว่า ไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่จะทำให้คนไม่ซื้อ เพราะของไทยดีอยู่แล้วโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ปอลล์เชื่อว่าถ้าเราพัฒนาอีกสักนิด คุยกับนักวิจัยอีกสักหน่อย รับรองว่าสินค้าไทยไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก" โอปอลล์กล่าว
สำหรับงาน "TISTR and Friends 2014" จัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่าง วว. กับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงการคลัง, บมจ.ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร โดย บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัดและกระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้า
*******************************