ถ้ามีภาพโฆษณานายแบบหล่อล่ำหรือนางแบบสุดเซ็กซี่ในชุดว่ายน้ำ ผู้ชายและผู้หญิงส่วนมากจะมองตำแหน่งไหนของภาพก่อน? แล้วคิดว่านักธรณีรุ่นเก๋าประสบการณ์สูง จะกวาดตามองภูเขาข้างหน้า ต่างจากเด็กฝึกงานมากแค่ไหน?
ทำไมเราต้องเลือกรูปโปรไฟล์ให้เด่นสุดๆ ลงเฟซบุ๊ก? มันเกิดโดยธรรมชาติ หรือจากการเรียนรู้? การศึกษาตำแหน่งที่นัยตาจับจ้องบนหน้า เฟซบุ๊กพบว่าคนส่วนมากมองภาพโปรไฟล์ด้านซ้ายก่อนตัวอักษร แล้วจึงจับจ้องที่ชื่อ ต่อด้วยสถานะที่เขียนไว้ แต่ภาพโฆษณาที่อยู่ด้านขวาถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง ความเชื่อที่ว่าเรามองภาพก่อนตัวอักษรจึงอาจไม่จริงเสมอไป และนั่นเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องติดตามและเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามสื่อที่ผู้บริโภคเสพ
การศึกษาพฤติกรรมการกลอกตาของคนต่อสิ่งเร้าเริ่มต้นมากว่า 200 ปี โดยมีการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อติดตามจุดที่ตาจับจ้องด้วยตำแหน่งของหน้าและนัยตาของผู้ถูกทดสอบมาอย่างต่อเนื่อง ในยุคแรกๆ รูปแบบการกลอกตาถูกตรวจสอบด้วยการอ่านตัวอักษรบนหน้ากระดาษซึ่งคล้ายหนังสือทั่วไปแต่มีคำพิเศษซ่อนไว้ระหว่างบรรทัด ยุคต่อมาจึงเริ่มมีผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์เป็นคอนแทคเลนส์เจาะรูแล้วเชื่อมต่อกับลวดอลูมิเนียมเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของนัยตา
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเทคโนโลยีติดตามตามนุษย์ เกิดขึ้นในปี 2510 เมื่อ Alfred L.Yarbus นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย ปรับใช้วิธีการทางฟิสิกส์ คือ trajectory เพื่อตรวจสอบวิถีระยะไกลของตามมนุษย์ในมุมที่กว้างมากขึ้นกว่าการอ่านภาพและอักษรที่จำกัดบนหน้ากระดาษ จนได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า
“ผู้ถูกทดสอบมักกวาดตามองสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือแปลกใหม่ก่อน แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลง การจับจ้องซ้ำๆ ตำแหน่งใดเป็นเวลานาน หมายถึงองค์ประกอบภาพนั้นสำคัญหรือให้ข้อมูลที่จำเป็นมากที่สุด”
ในปัจจุบันเทคนิคติดตามนัยตาและภาพที่ปรากฏบนสื่อต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นจนมีความแม่นยำ และถูกประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราหลายด้าน เช่น โฆษณาและการตลาด การตรวจสอบความผิดปกติของการสายตาและการมองเห็นในทางการแพทย์ ศึกษาพัฒนาการด้านสมองจากการเรียนรู้ด้วยภาพ นำไปใช้ร่วมกับการฝึกซ้อมและพัฒนาเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา นำไปพัฒนาระบบความปลอดภัยด้านคมนาคม เช่น ศึกษาการตอบสนองต่อการออกแบบทางวิศกรรมของถนน ไปจนถึงตรวจสอบศักยภาพและฝึกทักษะของพนักงานขับรถไฟฟ้าและเครื่องบิน เป็นต้น
ในด้านพฤติกรรมมนุษย์และลิงไร้หาง การวิเคราะห์รูปแบบการกลอกตาและตำแหน่งจับจ้องภาพก็ถูกนำมาใช้เพื่อค้นหาคำตอบที่น่าสนใจบางอย่าง
ผู้ชายมักส่องเป้าผู้ชายด้วยกัน!
ประเด็นนี้เริ่มฮือฮาในโลกออนไลน์ในปี 2550 เมื่อ Dr.Jakob Nielsen วิศกรคอมพิวเตอร์ ผู้สนใจความเชื่อมโยงระหว่างสื่อที่ปรากฏบนโลกออนไลน์กับพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ได้ทดลองใช้ภาพนักเบสบอลชื่อ George Brett ที่กำลังเงื้อตีลูกให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมอง ปรากฏกว่า ผู้ชาย (ทั้งที่ชอบผู้หญิงและชอบผู้ชายด้วยกัน) จับจ้องและสนใจ “ตำแหน่งของหน้าและเป้า” พอๆ กัน ในขณะที่ผู้หญิงจับจ้องไปที่ตำแหน่งของใบหน้ามากกว่า เมื่อมีการทดสอบซ้ำๆ จากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ก็ได้ผลคล้ายๆ กัน
นักชีววิทยาร่วมอภิปรายเบื้องหลังของภาพนี้ว่า ตำแหน่งการจับจ้องบนร่างกายของฝ่ายตรงข้าม เป็นความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของพฤติกรรมในมนุษย์เพศชายและเพศหญิง เพราะโดยปกติเพศชาย ให้ความสำคัญกับการมองโครงสร้างร่างกายในแนวแกนกลางหรือส่วนที่มีความโค้งเว้ามากกว่า ซึ่งนั่นรวมถึง “ใบหน้าและของสงวน” ของทั้งสองเพศ ในขณะที่เพศหญิงมักสนใจ และพยายามตีความอารมณ์ที่แสดงออกบนใบหน้า และส่วนที่ยื่นออกจากร่างกาย เช่น แขน ขา มากกว่าส่วนกลางลำตัว
นักวิวัฒนาการให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า มนุษย์เพศชาย จริงๆ แล้วสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเรื่องขนาดของของสงวนทั้งของตนเอง ของเพศตรงข้าม และแอบเปรียบเทียบขนาดอวัยวะของตนเองกับผู้ชายคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพฤติกรรมนี้ก็พบในลิงไม่มีหางชนิดอื่นๆ ด้วย เพราะการเรียงลำดับชั้นในฝูง และการแสดงอำนาจของลิงตัวผู้ มีความเชื่อมโยงกับขนาดของลำตัว กล้ามเนื้อหน้าอก และขนาดของสงวนด้วยเช่นกัน ในขณะที่เพศหญิงมักใส่ใจ และตีความจากสีหน้า แววตา และท่าทางของฝ่ายตรงข้ามได้ละเอียดซับซ้อนกว่า
ลิงต่างจากคน ตีความจากปากมากกว่าตา
นายปรี๊ดเริ่มลากลิงมาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคน (อีกแล้ว) นั่นก็เพราะพฤติกรรมหลายอย่างของเราดูจะคลับคล้ายกับลิงอยู่มาก แต่การศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการกลอกตา และตำแหน่งการจับจ้องภาพของคน กลับแตกต่างกับลิงไม่มีหางอย่างชิมแพนซีโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับการตีความอวัยวะบนใบหน้าเพื่อการสื่อสาร เช่น รับรู้อารมณ์ ยินดี ยอมรับ โกรธ เกี้ยว ก้าวร้าว ฯลฯ
การศึกษาของ Dr.Kano and Dr.Tomonaga ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของลิงไม่มีหาง แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ในปี 2552 พบว่าเมื่อจับลิงมาใส่แว่นตาพิเศษเพื่อติดตามการกลอกตาเทียบกับคนแล้ว ทั้งชิมแพนซีและคน มีรูปแบบการกลอกตาคล้ายกัน คือ จะจับจ้องที่ใบหน้าเป็นอันดับแรก แต่ลิงชิมแพนซีใช้เวลาจับจ้องดวงตาอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะเลื่อนสายตาลงมาให้ความสำคัญกับตำแหน่งและลักษณะของปากมากกกว่า ส่วนคนเรามักให้ความสำคัญกับดวงตามากกว่าตำแหน่งอื่น
ความจริงข้อนี้ ถูกนักออกแบบโฆษณา นำไปประยุกต์ใช้มานานแล้ว เพราะเมื่อทดลองเปลี่ยนตำแหน่งของดวงตานางแบบให้จับจ้องไปที่สินค้า ผู้บริโภคก็จะถูกหลอกให้สนใจสินค้ามากกว่าวางตำแหน่งของดวงตานางแบบไปในทิศทางอื่น
นักวิจัยให้เหตุผลว่า ในธรรมชาติ ลิงชิมแพนซีมีเขี้ยวเป็นอาวุธ และการจ้องตานานเกินไปถือเป็นการท้าทาย พวกมันจึงรีบสแกนความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็วที่ดวงตา แล้วรีบย้ายสายตาลงมามองที่ปาก หากแยกเขี้ยงยิงฟันใส่ ก็ถือว่าไม่เป็นมิตร แต่หากเปลี่ยนรูปปากในรูปแบบอื่นๆ ก็สามารถตีความได้อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่คนเรา แม้สามารถสื่อสารได้ชัดเจนด้วยคำพูด แต่การมองรูปปากไม่ชัดเจนเท่ากับการจับจ้องที่ดวงตารวมไปถึงการวางรูปของคิ้ว เพราะบ่งบอกอารมณ์ที่ลึกซึ้งหรือจับพิรุธได้มากกว่า
เก๋าไม่เก๋าวัดได้ด้วยรูปแบบการกลอกตา!
นอกจากการศึกษาด้านพฤติกรรมแล้ว การติดตามรูปแบบการกลอกตายังใช้ศึกษาคุณค่าของประสบการณ์ในงานวิจัยที่ต้องอาศัยทักษะการฝึกฝน และสั่งสมข้อมูลจากการลงมือปฏิบัติเป็นเวลานาน เช่น งานด้านธรณีวิทยา ที่สามารถวัดความเก๋าประสบการณ์ของนักขุดเจาะรุ่นใหญ่ว่ามีรูปแบบการกลอกตาที่เจ๋งกว่ามือใหม่ที่ มองภูเขาข้างหน้าอย่างไรก็ไม่รู้ว่าของมีค่าใต้ดินซ่อนตัวอยู่ที่ไหนบ้าง
Dr.Robert Jacobs ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการสมอง ได้การติดตามศึกษาการทำงานภาคสนามของทีมนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน คือUniversity of Rochester เป็นเวลากว่า 5 ปี จนได้ข้อสรุปว่า คุณค่าของผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์สูง คือสายตาที่เฉียบแหลม เนื่องจากรูปแบบการกลอกตาและตำแหน่งที่จับจ้องของนักธรณีที่ทำงานมากกว่า 20 ปีนั้น แตกต่างกับนักธรณีวิทยารุ่นใหม่อย่างสิ้นเชิง
นักธรณีวิทยาผู้ “เก๋า" ประสบการณ์มีรูปแบบการกลอกตามองชั้นหินและภูมิประเทศตรงหน้าอย่างเป็นระเบียบ โดยสามารถเริ่มต้นจับจ้องชั้นหินชั้นบนสุด แล้วไล่เรียง แยกแยะด้วยสายตาลงมาเป็นลำดับชัดเจน ตรงกันข้ามกับนักธรณีวิทยารุ่นเล็กที่มักเริ่มมองภูมิประเทศตรงหน้าย่างสะเปะสะปะไม่เป็นระเบียบ ไม่สามารถจับจ้อง และแยกแยะชั้นหินต่างๆ ด้วยสายตาได้ ชี้ให้เห็นว่างานที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทางนั้น สามารถสร้างคุณค่าจากการสั่งสมข้อมูลด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานได้จริง และสามารถตรวจวัดได้ จากรูปแบบการกลอกตาที่แตกต่างกับผู้มีประสบการณ์ภาคสนามน้อยกว่าได้แบบไร้ข้อโต้แย้ง
ในบริบทแบบไทยๆ การศึกษาเรื่องการกลอกตา และรูปแบบการมองภาพในบ้านเรา ยังจำกัดอยู่ในวงการธุรกิจ โฆษณา การบิน และการแพทย์ แต่ในปัจจุบันอุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนที่ของนัยตามีราคาถูกลงมากและมีแอปพลิเคชั่นราคาไม่แพงให้ทดลองใช้บนสมาร์ทโฟน หากคนรุ่นใหม่ ลองคิดนำมาต่อยอด ไม่ว่าจะด้านการศึกษา หรือเพิ่มมูลค่าทางศิลปวัฒนธรรม ก็น่าจะเสริมศักยภาพของชั้นเรียน และสินค้าท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
หากคุณครูจัดวางตำแหน่งภาพบนสื่อการสอนในห้องเรียน เว็บไซต์ หรือสื่อออนไลน์ให้น่าสนใจด้วยการวิเคราะห์ตำแหน่งการมองของเด็กๆ ก็น่าจะดึงดูดผู้เรียนได้มากขึ้น นักศิลปะเพื่อชุมชนอาจพัฒนาลายผ้าท้องถิ่นด้วยข้อมูลตำแหน่งการจับจ้องลวดลายบนสินค้า การวางตำแหน่งลวดลายบนผ้าไหม ผ้าฝ้าย งานจักสาน งานปั้น งานแกะสลัก ก็น่าจะสร้างสินค้าใหม่ๆ ให้ตรงความต้องการ ระดับจิตใต้สำนึกของลูกค้าได้เลยทีเดียว หากผู้อ่านสนใจ สามารถค้นหากรณีศึกษาหรือภาพโฆษณาที่มีผลต่อการวิเคราะห์ตำแหน่งการจับจ้องภาพ หรือรูปแบบกลอกตาด้วยคำว่า “eye tracking” หรือ “gaze tracking” เพิ่มเติมได้
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เราเรียนรู้ “พฤติกรรมและตัวตน” ของเราได้มากขึ้น หากแต่เราจะปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท และความต้องการของคนในสังคมได้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนั่นก็อาจแสดงถึง “ความเก๋า” แบบ “ไม่กลิ้งกลอก” ของคนไทยรุ่นใหม่ที่ต่อยอดประสบการณ์ของคน “รุ่นเก๋า” ได้อย่างแตกต่างและจับต้องได้จริง
อ้างอิง
1. Bo Hu, Tommy P. Keane, John A. Tarduno, Brandon B. May, Nathan D. Cahill, Robert A. Jacobs, and Jeff B. Pelz. 2013. Eye Tracking in Geoscience: Data Registration and Visualization. AAPG Hedberg Conference 3D Structural Geologic Interpretation: Earth, Mind and Machine, June 23-27, 2013, Reno, Nevada.
2. Kano, F. and Tomonaga, M.2009. Face scanning in chimpanzees and humans: continuity and discontinuity. Animal Behavior. doi:10.1016/j.anbehav.2009.11.003
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประกายวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
*******************************
*******************************