xs
xsm
sm
md
lg

สะท้อนภาพนักวิทย์ในความคิดเด็กๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (SCIENCE IDOL) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มีเวทีมากมายที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงความสามารถเพื่อเป็น “ไอดอล” ของเด็กๆ รุ่นต่อไป และในโลกนี้จะมีเพลงแค่นักร้อง ดาราเท่านั้นหรือที่เป็นต้นแบบให้แก่สังคม แล้ว “นักวิทยาศาสตร์” ล่ะเป็นไอดอลบ้างได้ไหม? มาดูกันว่า “นักวิทยาศาสตร์” ในสายตาเด็กๆ เป็นอย่างไร และนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างประโยชน์แก่โลกมากมายเป็นคนแบบไหน

ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557 มีนิทรรศการให้ได้เลือกชมมากมาย หนึ่งในนิทรรศการที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ คือ นิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (SCIENCE IDOL) ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางของห้องนิทรรศการหลัก ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วยภาพและผลงานดีเด่นจากนักวิทยาศาสตร์ไทยและนานาชาติ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน



จุดเด่นของนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์อยู่ที่ นักวิทยาศาสตร์ต้นแบบรุ่นใหม่ หรือ Science idol 4 คนที่อยู่ในสาขางานแตกต่างกัน คนแรกคือ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา นักดาราศาสตร์ผู้หลงไหลในปรากฏการณ์สุริยุปราคา ผู้เดินทางทั่วโลกเพื่อเก็บประสบการณ์การเคลื่อนที่ของดวงดาว เพื่อต่อยอดความรู้และนำมาพัฒนาวงการดาราศาสตร์ไทย

คนต่อมาที่เด็กๆ ให้ความสนใจไม่น้อยร่วมถ่ายรูปกับภาพนิ่งขนาดเท่าตัวจริงคือ นักวิทยาศาสตร์สาวสวย ดร.นิศราการุณอุทัยศิริ 1 ใน 43 ตัวแทนจากทั่วโลก ผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับโลก World Economic Forum (WEF) และดำรงตำแหน่งประธานร่วมขององค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก

สาวเก่งอีกคนหนึ่งอย่าง พิรดา เตชะวิจิตร์ ว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากโครงการแอกซ์อพอลโลสเปซอะคาเดมี (AXE Apollo Space Academy) และคนสุดท้าย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ 1ในนักวิจัยสตรีไทยและหญิงคนแรกที่ได้เดินทางไปทำการวิจัยที่ขั้วโลกใต้ เพื่อศึกษาสภาวะโลกร้อนและนำข้อมูลกลับมาพัฒนาประเทศ

นอกจากเด็กๆ จะได้ถ่ายรูปกับพี่ๆนักวิทยาศาสตร์ต้นแบบแล้ว ยังมีเสื้อกาวน์และแว่นตานิรภัยเสมือนในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มาให้ใส่ถ่ายรูป เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์อาสาพาไปพูดคุยกับน้องๆ ที่มาร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์'57 ว่าในความคิดพวกเขานั้น นักวิทยาศาสตร์เป็นคนอย่างไร?

น้องอุ้ม-ด.ญ.บุญอุ้ม ใจตา นักเรียนชั้นม.1 จากโรงเรียนเมตตาศึกษา จ.เชียงใหม่ เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องเป็นคนเก่ง มีความรู้มีความมุ่งมั่นสูง อาจจะไม่เรียบร้อยก็ได้แต่ต้องฉลาด ส่วนน้องเล็ก-ด.ญ.เล็ก นามซิ่น และน้องยี้-ด.ญ.อาภัสรา โปวสิน เพื่อนจากสถาบันเดียวเสริมอีกด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์จะต้องจบสูงๆ เป็น ดร.มีความรู้เยอะ ถามอะไรรู้คำตอบทุกเรื่อง ชอบเขียนรายงาน เขียนตำราและต้องชอบการทดลอง

ในส่วนของนักเรียนชั้น ม.2 จากโรงเรียนวัดท่าข้าม จังหวัดเชียงใหม่ที่เผยว่าทางโรงเรียนพานักเรียนมาทั้งระดับชั้นจำนวนกว่าหลายร้อยคน กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ในมุมมองของพวกเขาว่า ต้องเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบทำการทดลองใหม่ๆ ชอบผสมสารเคมี ทำยารักษาโรคให้ผู้ป่วย

ทางด้านเด็กรุ่นใหญ่อย่าง ฝน-ภัทธีรา ตันดี นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนวัฒโน จ.เชียงใหม่ ได้สะท้อนมุมมองที่ต่างออกไปว่า นักวิทยาศาสตร์อาจจะไม่ใช่คนเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่มีความอดทน อาจจะเคยเคยล้มเหลวมาก่อนแต่มีความพยายาม หรืออาจจะเคยมีปมในใจกับบางเรื่องจนอยากเอาชนะและอยากรู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ เธอรู้จักนักวิทยาศาสตร์ไม่มากแต่จะรู้จักผ่านทางบทเรียนเช่น “ดอลตัน” ในวิชาเคมี

นอกจากนี้ภาพและผลงานนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแล้ว ภายในนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (SCIENCE IDOL) ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมีกิจกรรมเกมส์จับคู่กู้โลกที่เป็นเกมส์ฝึกความจำ โดยให้จำชื่อใบหน้าและผลงานของนักวิทยาศาสตร์ โดยระบบสุ่มจากคอมพิวเตอร์ที่ผู้เล่นจะได้ทราบถึงผลงานและประวัติของนักวิทยาศาสตร์คนนั้นๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กรุ่นใหญ่เป็นอย่างมาก และยังมีประวัติของผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่เป็นการแสดงทั้งภาพและเสียงโดยวิดีทัศน์ คุณสมบัติสู่เส้นทางนักวิทยาศาสตร์ การประชาสัมพันธ์โครงการวิทยาศาสตร์เพื่อสั่งสมประสบการณ์ และการแสดงผลงานรางวัลด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกฝีมือเด็กไทย
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา นักดาราศาสตร์ผู้หลงไหลในปรากฏการณ์สุริยุปราคา
ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ประธานร่วมขององค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก
พิรดา เตชะวิจิตร์ ว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย
รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ หญิงคนแรกที่ได้เดินทางไปทำการวิจัยที่ขั้วโลกใต้
น้องอุ้ม น้องเล็ก น้องยี้ นักเรียนชั้นม.1 จากโรงเรียนเมตตาศึกษา  (จากซ้ายไปขวา)
นักเรียนชั้น ม.2 จากโรงเรียนวัดท่าข้าม จ.เชียงใหม่
น้องฝน นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียน วัฒโน จเชียงใหม่
น้องทัศ นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนวัฒโน เชียงใหม่
ทีมงานประจำนิทรรศการเล่าประวัตินักวิทยาศาสตร์ให้น้องๆฟังก่อนการเริ่มเกมส์
น้องๆจากโรงเรียนธรรมราชศึกษา ขณะเล่นเกมส์จับคู่กู้โลก
ตารางสรุปรวมรางวัลด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกฝีมือเด็กไทย

บรรยากาศภายในนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (SCIENCE IDOL) ในมหกรรมงานวิจัย 57 เชียงใหม่
บรรยากาศภายในนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (SCIENCE IDOL) ในมหกรรมงานวิจัย 57 เชียงใหม่
บรรยากาศภายในนิทรรศการเส้นทางนักวิทย์ (SCIENCE IDOL) ในมหกรรมงานวิจัย 57 เชียงใหม่
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.จนถึงวันที่ 28 ส.ค.57 และติดตามข้อมูลข่าวสาร และรายละเอียดงานได้ที่ www.nsm.or.th/nst2014 หรือสอบถามรายละเอียดงานที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2577 9960

*****
บริการรถโดยสารไปยังงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ฟรี โดยมีเส้นทางเดินรถ 2 สายดังนี้

สาย 1
เริ่มต้นสายจากห้างโรบินสัน ผ่านหน้าโรงพยาบาลราม เลี้ยวซ้ายผ่านเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว จากนั้นตรงยาวผ่านห้างเมญ่า (MAYA) เลี้ยวขวาสี่แยกโรงแรมใหม่ภูคำ มุ่งหน้าเข้าสู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557

สาย 2
เริ่มต้นจากสายโลตัสคำเที่ยง เลี้ยวขวาผ่านตลาดบริบูรณ์ เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าเข้าสู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557








*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น