สร้างเด็กเก่งจากห้องเรียนพิเศษ ขยายต่อโครงการ “ห้องเรียนวิทยาศาสตร์” ระยะ 2 จับคู่โรงเรียน-มหาวิทยาลัยเพิ่มอีก 14 โรงเรียน ชี้เป็นโครงการฉลาด เพราะไม่ต้องสร้างโรงเรียนใหม่แต่อาศัยความพร้อมจากทรัพยากรมหาวิทยาลัย ตั้งเป้าได้นักวิทย์ 15 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
เมื่อวันที่ 13 ส.ค.57 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับตัวแทนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูและมหาวิทยาลัย (โครงการ รมว.) ระยะที่ 2
นายวีระพงษ์กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมาย 15 คน ต่อประชากร 10,000 คน โดยเป็นการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษที่อาศัยทรัพยากรความพร้อมของมหาวิทยาลัย ในรูปแบบการจับคู่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ แทนการสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่อย่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นต้นแบบของห้องเรียนวิทยาศาสตร์
“การสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่นั้นใช้ทุนเยอะ แต่นับเป็นความฉานฉลาดของผู้ก่อตั้งโครงการ ซึ่งแทนที่จะสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ก็อาศัยความพร้อมและทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ทั้งห้องปฏิบัติการและอาจารย์ และมาตรฐานของโรงเรียนถูกขึงด้วยข้อสอบและหลักสูตร ซึ่งห้องเรียนวิทยาศาสตร์นี้เป็นโครงการที่กำลังขยายตัว และได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวระหว่างการลงนาม
พร้อมกันนี้ ได้รับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโครงการ ประจำปีกาศึกษา 2558 จำนวน 540 คน ระหว่างวันที่ 1-30 ก.ย.2557 ทางเว็บไซต์ของโครงการ คือ http://scius.most.go.th ซึ่งการคัดเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกสอบวิชาวิทย์-คณิตโดยใช้ข้อสอบเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และรอบสอง ซึ่งสอบทั้งข้อเขียนและภาคปฏิบัติในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ แก้โจทย์ปัญหา และสอบภาษาอังกฤษโดยเน้นการอ่าน เขียน และความเข้าใจภาษา
สนใจรายละเอียดดูเพิ่มเติมที่ http://scius.most.go.th หรือสอบถาม โทร. 02-333-3863-65
*******************************
*******************************