มอบรางวัล “นักวิทย์ดีเด่น ‘58” ให้ 2 นักเคมีจากรั้วจุฬาฯ “ดร.ธวัชชัย ตัณฑุลานิ” จากการศึกษาวิจัยด้าน “เคมีซุปราโมเกลุล” เพื่อสังเคราะห์โมเลกุลสำหรับตรวจวัดสารพิษหรือโลหะหนักในน้ำทิ้งอุตสาหกรรม กับการตรวจวัดน้ำตาลในเลือด และ “ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์” จากผลงานสารเลียนแบบดีเอ็นเอที่ตั้งเป้ารักษาโรคได้มีประสิทธิภาพถึงระดับพันธุกรรม
ศ.ดร.ยุงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานประกาศผลรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2557 ณ โรงแรมสุโกศล เมื่อวันที่ 5 ส.ค.57 โดยผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปีล่าสุด ได้แก่ ศ.ดร.ธวัชชัย ตัณฑุลานิ และ ศ.ดร.ธรยุทธ วิไลวัลย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับ ศ.ดร.ธวัชชัย มีผลงานวิจัยโดดเด่นทางด้านเคมีซุปราโมเลกุล หรือรู้จักในวงการอีกชื่อว่า “เคมีโฮสต์-เกสต์” ซึ่งเป็นการศึกษาอันตรกิริยาของโมเลกุลที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าบ้าน (โฮสต์) หรือตัวรับ และแขก (เกสต์) โดยโมเลกุลดังกล่าวอาจเป็นไอออนหรือโมเลกุลอินทรีย์ และได้สังเคราะห์โมเลกุลตัวรับเพื่อใช้ในงานด้านการตรวจวัดหรือเซนเซอร์ โดยประยุกต์งานใน 2 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้เพื่อตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์หรือโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำจากอุตสาหกรรม และด้านการแพทย์ที่ใช้เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำตาลในเลือด
ทางด้าน ศ.ดร.ธีรยุทธ มีผลงานโดดเด่นด้านเคมีสังเคราะห์ โดยได้สังเคราะห์สารเลียนแบบพันธุกรรมพีเอ็นเอ (PNA: Peptide Nucleic Acid) ที่มีความทนทานมากกว่าดีเอ็นเอที่ถูกย่อยสลายได้ โดยพีเอ็นเอมีความสามารถในการจับดีเอ็นเอและเปลี่ยนการทำงานของดีเอ็นเอ ซึ่งนำไปใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคให้ประสิทธิภาพได้ถึงระดับพันธุกรรม
“ในต่างประเทศมีการนำพีเอ็นเอไปใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ส่วนของไทยก็มีพีเอ็นเอที่ศักยภาพมากกว่าของต่างประเทศ และถ้าอุตสาหกรรมเมืองไทยมีความสามารถรองรับการผลิต เราก็อาจจะได้ใช้ประโยชน์จากสารเลียนแบบสารพันธุกรรมนี้ หวังว่าในอนาคตน่าจะได้นำไปใช้” ศ.ดรธีรยุทธกล่าว
นอกจากนี้ทั้ง ศ.ดร.ธวัชชัย และ ศ.ดร.ธีรยุทธ ล้วนเคยได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ศ.ดร.ธวัชชัย ได้รับรางวัลเมื่อปี 2541 และ ศ.ดร.ธีรยุทธ ได้รับรางวัลเมื่อปี 2543
ส่วนผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2557 ได้แก่ ผศ.ดร.ทรงยศ นาคอริยกุล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ธงไชย วิฑูรย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คระวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.ปริญญา การดำริห์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
*******************************
*******************************