นักวิทย์ถอดยีน “ข้าวแอฟริกา” หาทางให้ทนแล้ง-ผลผลิตเพิ่ม รองรับประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคนในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ซึ่งข้าวจะมีบทบาทหลักในการเลี้ยงประชากรจำนวนมากได้ พร้อมระบุข้าวแอฟริกาทนแล้งได้มากกว่าข้าวเอเชีย
รายงานข่าวจากเอเอฟพีอ้างรายงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์จีเนติกส์ ระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ได้หาลำดับพันธุกรรมหรือถอดจีโนมพันธุ์ข้าวแอฟริกาและมะเขือเทศป่า โดยมีเป้าหมายเพื่อรับมือกับประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจจาก 7.1 พันล้านคนเป็น 9 พันล้านคน ในปี 2050 ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักชีววิทยาที่ต้องผลักดันให้เกิดการ “ปฏิวัติเขียว” อีกรอบ ด้วยการสร้างพืชไร่ที่มีผลผลิตมากกว่าเดิม 2-3 เท่า โดยใช้ทรัพยากรอย่างน้ำ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงน้อยลง
“ข้าวจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาว่าจะเลี้ยงประชากรกว่า 9 พันล้านคนได้อย่างไร” รายงานวิชาการชี้ถึงความสำคัญ โดยเอเอฟพียังอ้างข้อมูลจากรายงานดังกล่าวว่า ข้าวแอฟริกาซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โอไรซากลาเบอร์ริมา (Oryza glaberrima) ทนแล้งได้ดีกว่าข้าวเอเชียสปีชีส์ โอไรซาซาติวา (Oryza sativa)
จากลักษณธที่สำคัญทางพันธุกรรมของข้าวทำให้ทีมนักพันธุศาสตร์นานาชาติพิสูจน์ได้ว่า ข้าวแอฟริกาเปลี่ยนจากข้าวป่าเป็นกลายเป็นข้าวพื้นเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ (Niger) แม่น้ำสายหลักทางฝั่งแอฟริกาตะวันตกเมื่อประมาณ 3,000 ปีแล้ว โดยตามหลังข้าวพื้นเมืองของเอเชียประมาณ 7,000 ปี
ขณะที่ยังต้องมีการศึกษาเพื่อชี้ชัดถึงยีนที่ทนสภาพเลวร้ายได้ ทีมวิจัยก็เผยผ่านการเผยแพร่ผลงานวิชาการว่า ลำดับพันธุกรรมของข้าวแอฟริกาแสดงให้เห็นถึง ช่องทางที่ไม่มีเคยมีมาก่อนในการผสมพันธุ์ให้ได้ข้าวที่ทนแล้งและให้ผลผลิตสูงได้หลากหลายสายพันธุ์
ส่วนการศึกษา โซลานัม เปนเนลลี (Solanum pennellii) มะเขือเทศสายพันธุ์อเมริกาใต้ที่กินไม่ได้ นักวิจัยมีเป้าหมายเพื่อจำแนกยีนที่เชื่อมโยงกับความสามารถทนการขาดน้ำ การผลิตผลและการสุกงอม โดยมะเขือเทศพันธุ์นี้ถูกนำไปผสมเพื่อปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศที่บริโภคกันทั่วไปอย่างมะเขือเทศ โซลานัม ไลโคเปอร์ซิคัม (Solanum lycopersicum) ซึ่งนักวิจัยหวังว่าข้อมูลใหม่นี้น่าจะช่วยในการปรับปรุงสายพันธุ์ให้ได้มะเขือเทศที่มีรสชาติดีขึ้น และทนสภาพเลวร้ายได้มากขึ้น