xs
xsm
sm
md
lg

คณะทรัพย์ฯ ม.อ.หาดใหญ่ โชว์วิจัยสุดเจ๋ง ผุดพันธุ์ปาล์มน้องใหม่ “เทอเนอรา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.หาดใหญ่ โชว์ผลงานวิจัยปาล์มน้ำมันลูกผสม “เทอเนอรา ทรัพย์ ม.อ.1” เป็นผลสำเร็จ จุดเด่นทนแล้ง และให้ผลผลิตสูงกว่าทั้ง 8 สายพันธุ์ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้

วันนี้ (23 ก.ค.) ศ.ดร.ธีระ เอกสมทราเมษฐ์ ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการการบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเทเนอราเชิงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางทีมงานได้ร่วมกันวิจัยปาล์มน้ำมันลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้จุดเด่นของปาล์มน้ำมันพันธุ์ดูรา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดในขณะนี้ มาผสมกับปาล์มน้ำมันพันธุ์พิสิเฟอรา แล้วทำการปรับปรุงสายพันธุ์ จนได้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทอเนอรา ซึ่งมีลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัด คือ กะลาบาง ทนต่อสภาพอากาศแล้งได้ดี และให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงกว่าเดิม

โดยจากผลการทดสอบในระยะแรกพบว่า จะเริ่มให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 3 ด้วยอัตราเฉลี่ย 2.123 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั้ง 8 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียงแค่ 1.926 ตันต่อไร่ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงปีที่ 5 ปาล์มน้ำมันลูกผสมสายพันธุ์ใหม่จะให้ผลผลิต 4 ตันต่อไร่ต่อปี และในปีที่ 8 จะให้ผลผลิตสูงถึง 6 ตันต่อไร่ต่อปี ทั้งนี้ ทางทีมวิจัยยังได้มีการพัฒนาชุดทดสอบสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันอย่างง่าย ซึ่งจะสามารถจำแนกสายพันธุ์ และยืนยันความสัมพันธ์ของผลผลิตปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย

หัวหน้าโครงการฯ ยังเปิดเผยอีกว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยดังกล่าว เนื่องจากมีความจำเพาะบนฐานความรู้ฐานพันธุกรรมปาล์มน้ำมันเทเนอรา และความเข้มแข็งของวิชาการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย การปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์ และการใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอในการรับรองต้นพันธุ์ที่สามารถให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง

นอกจากนั้น งานวิจัยปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรายังได้รับการรับรองการจดทะเบียนต้นพ่อแม่พันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อเร็วๆ นี้ โดย ม.อ. มีทั้งต้นพันธุ์ และแปลงเก็บข้อมูลปาล์มน้ำมันที่ทำอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี รวมทั้งมีกระบวนการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ และทดสอบในสภาพแวดล้อมการผลิต 4 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า เมล็ดพันธุ์ และต้นกล้าทั้งหมดจะให้ผลผลิตสูง และสามารถปรับตัวได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการทนแล้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,500 มิลลิลิตรต่อปี


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น