xs
xsm
sm
md
lg

3 นักวิทย์แถวหน้าแนะสตรีวิจัยไทยสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์สตรีนานาชาติ ที่ได้รับเลือกเป็น Laureate นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิกิติมศักดิ์
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์, ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ตัวแทนคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ทุนวิจัยลอรีอัลประเทศไทย แนวแนะทางสตรีวิจัยไทยสู้ความสำเร็จ หลังได้รับเชิญเป็นคณะกรรมการชุดแรกเข้าร่วมงานสัปดาห์ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ที่ฝรั่งเศส

ในแต่ละปีลอรีอัลมีการจัดงาน สัปดาห์ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ขึ้น ณ ประเทศฝรั่งเศส ภายในงานรวบรวมนักวิจัยสตรีชั้นนำระดับโลก ที่ทุ่มเทการทำงานและมีผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ข้ามขีดจำกัด สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นให้กับสังคมวงกว้าง โดยยกย่องให้เป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิกิติมศักดิ์ (Laureate ) ซึ่งในแต่ละปีมีเพียง 5 คนจาก 5 ทวีป ทั่วโลกเท่านั้นที่จะได้รับเกียรตินี้

นอกจากนั้นยังยกย่องนักวิจัยสตรี 15 ท่านจาก 5 ทวีป ที่มีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในระดับนานาชาติให้เป็น International fellows ที่ผ่านมามีนักวิจัยสตรีผู้ทรงคุณวุฒิ ทั่วโลกกว่า 82 คน ได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิกิติมศักดิ์ซึ่ง 2 คนในจำนวนนี้ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา และมี fellows กว่า 1,920 คนทั่วโลก ผลงานวิจัยจากสตรีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ สร้างความก้าวหน้าให้แก่วงการวิทยาศาสตร์อันนำไปสู่การพัฒนามากมาย ครอบคลุมถึงเรื่องการรักษามะเร็ง โรคซึมเศร้า และอาการเสพติดต่างๆ
นักวิจัยสตรี 15 ท่าน 5ทวีปทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น International Fellowship ประจำปี 2557
โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และลอรีอัล บริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลกที่มีศูนย์วิจัยและเครือข่ายการทำวิจัยเพื่อความงามที่ใหญ่ที่สุด เพื่อยกย่องนักวิจัยสตรีที่มีผลงานโดดเด่น อีกทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญของนักวิจัยวิทยาศาสตร์สตรีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีจำนวนนักวิจัยสตรีมากกว่าร้อยละ 50 แต่กลับไม่มีเวทีเพื่อยกย่องพวกเธอโดยเฉพาะ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จัดอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 11 ปีในประเทศไทย และ 16 ปีในระดับสากล
ผู้ทรงคุณวุฒิวงการวิทยาศาสตร์ไทยในงานสัปดาห์เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ณ กรุงปารีส
สำหรับปี 2557 นี้คณะกรรมการกิติมศักดิ์โครงการทุนวิจัยลอรีอัลประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประกอบไปด้วย 1.ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3.รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) 4.รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ 5.ศ.ดร.มรว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รับเชิญจาก ลอรีอัล ประเทศฝรั่งเศส ร่วมในงานสัปดาห์ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ณ ซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบปะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ และถือเป็นคณะกรรมการคณะแรกที่ได้รับเชิญจากมูลนิธิลอรีอัล ประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ณ กรุงปารีสในครั้งนี้

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการกิติมศักดิ์โครงการทุนวิจัยลอรีอัลประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ยังได้ตั้งข้อสังเกตจากการเยี่ยมชมงานระดับนานาชาติ พร้อมเผยทรรศนะเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานของวงการวิทยาศาสตร์ไทย และแนะแนวทางสู่ความสำเร็จแก่นักวิทยาศาสตร์สตรี ดังนี้
ศ.ดร.ไพรัช  ธัชยพงษ์ ผู้บุกเบิกการจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
“นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยเก่งมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนนักวิทยาศาสตร์สตรีมีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับรางวัลต่างๆ ก็มีหลายท่าน  เห็นได้ว่าความสามารถและศักยภาพในการทำงานวิทยาศาสตร์ผู้หญิงไม่ได้ด้อยกว่าผู้ชายเลย ศ. ลอรี กลิมเชอร์ (Prof. Laurie Glimcher) หนึ่งใน Laureate จากงาน “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปีล่าสุดกล่าวไว้ได้ดีมากว่า ผู้หญิงอาจจะเสียเปรียบผู้ชายตรงที่สังคมคาดหวังหลายบทบาทจากพวกเธอ นอกจากจะต้องทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย ยังต้องดูแลบ้าน ดูแลครอบครัวได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จจึงต้องมีความสามารถในการบริหารเรื่องส่วนตัวและงานวิทยาศาสตร์ควบคู่กัน”
ศ.ดร.ยงยุทธ  ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาเคมี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
“นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยศักยภาพสูง หากได้รับการสนับสนุนที่ดี เราอาจเห็นสตรีไทยได้รับรางวัลระดับโลก ปัจจุบันการสนับสนุนด้านทุนวิจัยยังมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และขาดการจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยนานาชาติและการท้าทายด้วยปัญหาที่สำคัญ อย่างเช่น การพัฒนายาสำหรับโรคใหม่ การพัฒนาวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมหรือครัวเรือน หรือการอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพ เป็นต้น จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น”  
รศ.ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) (สวทช.)
 รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา
“แม้ประเทศเราจะไม่ประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศ แต่การส่งเสริมและยกย่องบทบาทสตรีก็ยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นแรงจูงใจเป็นปัจจัยสำคัญของการผลักดันนักวิจัยสตรีไทยให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องการคนเก่งและคนที่เรียนวิทยาศาสตร์เนื่องจากศาสตร์แขนงนี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนา ในประเทศไทยเรามีนักวิจัยเก่งๆ อยู่มากมาย โดยเฉพาะนักวิจัยสตรีไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในเอเชีย เพียงแต่การผลักดันนักวิจัยสตรีไทยยังไม่มากเท่าไหร่ เวทีต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติสตรีไทย หรือโครงการมอบทุนวิจัยต่างๆ ที่ให้สังคมรับทราบ”






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น