ผู้หญิงไทยมีอุปสรรคในความก้าวหน้าทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์หรือไม่? หลายคนอาจไม่แน่ใจนัก เพราะทุกวันนี้มีสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์เก่งๆ อยู่หลายคน แต่ถ้าโอกาสในการพัฒนาตัวเองมาถึง สาวๆ คงไม่ปฏิเสธ
ในฐานะผู้บริหารศูนย์วิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แทบจะไม่เห็นปัญหาของนักวิทยาศาสตร์หญิงไทย โดยความสามารถของนักวิทยาศาสตร์หญิงและชายในไทยนั้นใกล้เคียงกัน
“สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับบ้านเราคือจำนวนนักวิจัยต่อประชากรยังน้อย ควรมีการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์สำหรับทั้งหญิงและชาย แต่ถ้ามีช่องทางมุ่งไปยังสุภาพสตรี และมีกลไกที่เคลื่อนมาหาเราพอดี ก็ต้องคว้าไว้ก่อน ถือเป็นการเสริมศักยภาพนักวิจัยไทย” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ เอ็มเทคได้ร่วมกับ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Career Building for Women in Science ระหว่างวันที่ 6-8 ม.ค.57 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยเชิญวิทยากรจากกลุ่ม COACh for Scientists จากสหรัฐฯ 3 คนมาเป็นวิทยากรในการอบรม
รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า ได้รู้จัก ศ.ดร.สุภาพรรณ เสราภิณ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหญิงไทยคนเดียวในกลุ่ม COACh เนื่องจากเป็นวิทยากรในการอบรมการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแก่นักวิจัยเอ็มเทคอยู่บ่อยๆ และได้แนะนำให้รู้จักการอบรมของกลุ่มที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยสตรี
หนึ่งในหัวข้อการอบรมคือเรื่องการเขียนข้อเสนอขอทุนวิจัย ซึ่ง รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้นักวิจัยได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานที่ต้องการ และเป็นโอกาสในการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเพื่อเพิ่มศักยภาพของนักวิจัย
“ความยากของการขอทุนวิจัยคือ ต้องรู้เขา รู้เรา ต้องรู้ว่าหน่วยงานที่เราจะขอทุนนั้นมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับงานวิจัยอย่างไร สอดคล้องกับสิ่งที่เราสนใจหรือไม่ ถ้าใช่ก็เขียนเสนอขอทุนโดยแสดงให้เห็นว่าจะขับเคลื่อนให้เป็นจริงได้อย่างไร ต้องมีแผนดำเนินการที่ชัดเจน วัดความสำเร็จได้ หญิงไทยเราเก่งไม่ด้อยกว่าชาติอื่น แต่อาจมีข้อด้อยในเรื่องภาษา ซึ่งการอบรมนี้จะช่วยในเรื่องดังกล่าว” รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว
ส่วนความก้าวหน้าในสายงานบริหารนั้น รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า โอกาสของหญิงไทยไม่ด้อยกว่าผู้ชาย พร้อมยกตัวอย่างว่าเอ็มเทคมีหน่วยวิจัย 7 หน่วย ในจำนวนนั้นมีผู้อำนวยการหน่วยวิจัยที่เทียบเท่าตำแหน่งรองผู้อำนวยการเอ็มเทคถึง 6 คน
อย่างไรก็ดีในมุมของ ศ.ดร.สุภาพรรณ กล่าวว่าผู้หญิงยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่ แม้แต่ในอเมริกาที่ดูมีเสรีภาพ ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากอคติจากการอบรมสั่งสอน โดยผู้หญิงถูกสอนให้เป็นเด็กผู้หญิงที่น่ารัก ไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาด ขณะที่การขึ้นเป็นผู้บริหารนั้นจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด
“ในสหรัฐฯ และไทยมีประเด็นที่ไม่เหมือนกัน ในไทยอาจมีอาจารย์เคมีหญิงมากกว่าชาย แต่มีหญิงกี่คนในไทยที่เป็นอธิการบดี หรือผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนในสหรัฐฯ หญิงที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ต้องเก่งมากกว่าชาย 4-8 เท่า เมืองไทยก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงดึงขึ้นมาถกเถียง ซึ่งในการอบรมเราจะให้มีการถกเถียงในเรื่องเหล่านั้น” ศ.ดร.สุภาพรรณกล่าว
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.สุภาพรรณ ยังกล่าวถึงภาระของผู้หญิงที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและหน้าที่การงาน ซึ่งนอกจากต้องสร้างความก้าวหน้าในอาชีพแล้ว ยังต้องดูแลครอบครัว และหลายครั้งเมื่อต้องเลือกระหว่างงานและครอบครัว ผู้หญิงหลายคนจะเลือกครอบครัว แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าต้องการโอกาสก้าวหน้าในการทำงานด้วย
สำหรับการอบรม 3 วัน โดยวิทยากรจากกลุ่ม COACh for Scientists นั้น แย่งเป็นการอบรมภาษาอังกฤษในสองวันแรก และวันสุดท้ายเป็นการอบรมภาษาไทยที่เปิดโอกาสแก่อาจารย์และนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดการสมัครและค่าใช้จ่ายได้ที่ http://www.mtec.or.th/COAChThai หรือสอบถามได้ที่ โทร. 0-2564-6500 ต่อ 4676