xs
xsm
sm
md
lg

ลอรีอัลเชิดชู 4 “สตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปีที่ 11

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 นักวิจัยหญิงผู้ได้รับรางวัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (ซ้ายไปขวา) ผศ.ทพญ.ดร. ศรันยา ตันเจริญ, ดร. ศรชล โยริยะ, ดร.จิตติมา พิริยะพงศา และ ดร.ธริดาพร บัวเจริญ
บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) - ลอรีอัล เปิดตัว 4 นักวิจัยสตรี “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2556 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนบทบาทสตรีไทยในวงการวิทยาศาสตร์ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2556 และถือเป็นปีที่ 11 ที่ได้ดำเนินการมอบทุนวิจัยและร่วมยกย่องบทบาทสตรีในวงการวิทยาศาสตร์ไทยในการสร้างผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งเพื่อสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ไทยพัฒนาก้าวไปข้างหน้า

ในปีนี้ คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านสายงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศของโครงการฯ ได้ทำการคัดเลือกและมอบทุนวิจัยให้แก่ 4 นักวิจัยสตรี จากทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี และสาขาวัสดุศาสตร์ จำนวน 250,000 บาทต่อทุน โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากคุณค่าของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นกับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ จริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และการเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย
 
ใน สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มีนักวิทยาศาสตร์สตรีได้รับทุนในสาขานี้ 2 ท่าน ได้แก่ ผศ.ทพญ.ดร. ศรัณยา ตันเจริญ  จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากงานวิจัยหัวข้อ “การผลิตโมโนโคลนอล แอนติบอดีที่จำเพาะกับเปปไทต์ขนาดเล็กสำหรับรักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดลุกลาม”  และ ดร.จิตติมา พิริยะพงศา จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับงานวิจัยหัวข้อ “การใช้เทคนิคชีวสารสนเทศในการศึกษาบทบาทและกลไกใหม่ของไมโครอาร์เอ็นเอในการจับกับตำแหน่งเป้าหมายบนยีนส์โปรโมเตอร์”

ส่วน สาขาวิทยาศาสตร์เคมี ได้แก่ ดร. ธริดาพร บัวเจริญ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับทุนจากงานวิจัยหัวข้อ “การค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์ที่พบในประเทศไทย” และ สาขาวัสดุศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์สตรีที่ได้รับทุน คือ ดร.ศรชล โยริยะ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับงานวิจัยหัวข้อ “โครงการการขึ้นรูปฟิล์มท่อนาโนไทเทเนียและการประยุกต์ใช้งานด้านชีวการแพทย์”
ผศ.ทพญ.ดร. ศรัณยา ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวถึงงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ว่า ผู้หญิงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีอุบัติการณ์การเกิดโรคปริทันต์อักเสบถึง 80% โดยปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคนี้ จึงทำให้งานวิจัยมุ่งเน้นไปที่การผลิต “โมโนโคลนอล แอนติบอดี” ที่จำเพาะกับเปปไทต์ขนาดเล็กสำหรับรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบชนิดลุกลาม

“ดิฉันมีความตั้งใจที่จะพัฒนาและผลิตแอนติบอดีสำหรับใช้รักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดลุกลามต่อไปให้สำเร็จเพื่อป้องกันและยับยั้งการดำเนินของโรคในผู้ป่วยเหล่านี้ได้โดยตรงในอนาคต เป็นการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศในการส่งเสริมทันตสุขภาพ และอาจนำมาสู่การพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่เพื่อป้องกันการเกิดโรคปริทันต์อักเสบต่อไป” ผศ.ทพญ.ดร. ศรัณยากล่าว
 
ด้าน ดร.จิตติมา ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กล่าวว่า การวิจัยของเธอใช้เทคนิคชีวสารสนเทศ คือ การนำเอาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาและคอมพิวเตอร์มาใช้ร่วมกัน เพื่อทำนายหาตำแหน่งเป้าหมายของ “ไมโครอาร์เอ็นเอ” ที่อยู่บนลำดับเบส “โปรโมเตอร์” ของยีนกว่าสามหมื่นยีนในจีโนมคน และจัดตั้งฐานข้อมูลของข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าศึกษาและใช้งานได้ฟรี

“ถือว่าเป็นฐานข้อมูลแบบบูรณาการแห่งแรกของข้อมูลตำแหน่งเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งช่วยในการศึกษากลไกการทำงานของไมโครอาร์เอ็นเอ  นอกจากนี้การทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นอาจจะทำได้ไม่เร็วมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น นักวิจัยสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้เพื่อคัดกรองตำแหน่งเป้าหมายและโฟกัสยีนที่สนใจได้ทันที ก่อนที่จะนำมาศึกษาต่อไปในเชิงลึก ซึ่งสามารถช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการดำเนินวิจัยอีกด้วย” ดร.จิตติมากล่าว
 
ส่วน ดร.ธริดาพร บัวเจริญ ผู้ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรชีวภาพรวมถึงจุลินทรีย์สูง ซึ่งสารออกฤทธิ์ของจุลินทรีย์บางชนิดมีประโยชน์ทั้งทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และสิ่งแวดล้อม เช่น สารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียก่อโรค หรือใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร เช่น สารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคในพืช เช่น โรคใบไหม้ในข้าว โรคแอนแทรคโนสในพริก เป็นต้น

“เป้าหมายของงานวิจัยนี้ คือ ต้องการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อนำไปพัฒนาต่อสำหรับเป็นยารักษาโรค หรือใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับจุลินทรีย์และทรัพยากรชีวภาพของไทยอีกด้วย” ดร.ธริดาพร
 
สุดท้าย ดร.ศรชล โยริยะ ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวัสดุศาสตร์ กล่าวว่า การวิจัยขึ้นรูปฟิล์มท่อนาโนไทเทเนียด้วยกรรมวิธีทางไฟฟ้าเคมีแบบแอโนไดเซชันในสารละลายอิเล็กโทรไลต์อินทรีย์ คือการศึกษาคุณสมบัติของท่อนาโนไทเทเนียและออกแบบโครงสร้าง ขนาด รูปร่าง ให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้งานทางด้านชีวการแพทย์ เช่น ใช้เป็นวัสดุในการนำส่งตัวยา วัสดุห้ามเลือด และทำโครงร่างรองรับเซลล์ในวิศวกรรมเนื้อเยื่อและกระดูก เป็นต้น

“ทั้งนี้ ฟิล์มท่อที่ค้นพบนี้มีคุณสมบัติความเข้ากันได้กับเลือดและร่างกายมนุษย์ และมีความสามารถในการส่งผ่านโมเลกุลยาหรือโปรตีนผ่านตัวท่อได้เป็นอย่างดี ซึ่งทำให้การนำส่งตัวยามีประสิทธิภาพมากขึ้น” ดร.ศรชลกล่าว
 
ส่วน นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท ลอรีอัล ได้จัดโครงการ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เพื่อมอบทุนให้แก่นักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดยมีนักวิจัยสตรีกว่า 1,500 ท่าน จาก 108 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการยกย่องและสนับสนุนภายใต้โครงการนี้ และมีนักวิจัยสตรีของลอรีอัลที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 คนด้วยกัน

“ลอรีอัลมีความตั้งใจในการสนับสนุนบทบาทนักวิทยาศาสตร์สตรี ในการค้นคว้างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคม ที่สอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้น” นางสดับพิณกล่าว
 
สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2545 ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ลอรีอัล ประเทศไทยได้สานต่อโครงการฯ ในปีนี้เป็นปีที่ 11 มีการมอบทุนให้แก่นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี รวมแล้วทั้งสิ้น 44 คน
 ดร.ธริดาพร บัวเจริญ
 ผศ.ทพญ.ดร. ศรันยา ตันเจริญ
ดร.จิตติมา พิริยะพงศา
ดร. ศรชล โยริยะ






กำลังโหลดความคิดเห็น