นักวิจัยสกว.แนะแนวทาง 5 ข้อป้องกันภัยตึกถล่มระหว่างก่อสร้าง จากบทเรียนครั้งล่าสุดคอนโด 6 ชั้นถล่มจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
รองศาสตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัย สกว. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองเลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากเหตุอาคาร 6 ชั้น ที่กําลังก่อสร้างในซอยรังสิต คลอง 6 พังถล่มลงมาทั้งอาคารโดยเริ่มถล่มจากชั้น 6 แล้วพื้นยุบตัวลงมาทั้ง 6 ชั้น ทับคนงานที่กําลังทํางานอยู่ จนทําให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย ว่า อาคารดังกล่าวก่อสร้างด้วยระบบพื้นไร้คานชนิดอัดแรงทีหลัง หรือพื้นโพสต์ ซึ่งมีการเสริมลวดอัดแรงเพื่อเพิ่มกําลังรับน้ำหนักของพื้น
การพังถล่มของอาคารหลังนี้เป็นการวิบัติแบบที่เรียกว่า Pancake collapse ซึ่งหมายถึงการวิบัติเริ่มเกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่งของอาคารแล้วลามไปทั่วอาคาร จนทําให้พังถล่มทั้งหลัง โดยสังเกตจากพื้นทั้ง 5 ชั้นถล่มลงมากองซ้อนกันที่พื้นดิน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการพังถล่มและตําแหน่งแรกที่เกิดการวิบัติยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากยังขาดข้อมูลแบบก่อสร้าง และบันทึกการก่อสร้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงเร่งสรุปสาเหตุที่แน่ชัดในไม่ช้านี้
เหตุการณ์ตึกถล่มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ได้เกิดมาแล้วหลายครั้งในอดีต เช่น เหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2536 ทําให้มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาบางพลี ได้พังถล่มลงมาทับคนงานเสียชีวิต
รองศาสตราจารย์ ดร. อมร ระบุว่าอาคารทั่วไปในช่วงที่กําลังก่อสร้างนั้น ถือว่ามีความอ่อนแอมาก เนื่องจากคอนกรีตยังไม่ได้อายุ และการก่อสร้างชิ้นส่วนต่าง ๆ ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยทั่วไปการถล่มของตึกในระหว่างการก่อสร้างอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1) ขั้นตอนการก่อสร้างไม่ถูกต้องหรือไม่มีแผนการก่อสร้าง เช่น การใช้ค้ำายันไม่เพียงพอหรือทําไม่ถูกต้องหรืออาจถอดค้ำยันเร็วเกิ นไป ในขณะที่พื้นคอนกรีตที่เพิ่งเทยังไม่แข็งตัวพอ หรือการเทคอนกรีตกองที่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไปจนเพิ่มน้ำหนัก ที่บริเวณนั้นมากผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการไม่ได้ดึงลวดอัดแรงในพื้นชั้นล่างก่อนที่จะทํา ค้ำยันเพื่อรองรับน้ําหนักพื้น ชั้นที่กําลังก่อสร้างอยู่ทําให้พื้นชั้นล่างไม่แข็งแรงที่จะรองรับน้ำหนักพื้นที่กําลังเทคอนก รีตอยู่ จนเป็นสาเหตุให้เกิดการพังถล่ม
2) การก่อสร้างที่เร่งรีบเกินไป เช่น คอนกรีตในพื้นชั้นล่างยังไม่ได้อายุ จึงยังมีกําลังรับน้ําหนักไม่เพียงพอ แต่กลับเร่งการก่อสร้างพื้นในชั้นถัดไป เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้น ทั้งที่คอนกรีตในพื้นชั้นล่างยังไม่แข็งแรงพอ จึงไม่สามารถรองรับน้ําหนักของพื้นชั้นบนได้ เป็นสาเหตุให้พื้นถล่มลงมา
3) การเสริมเหล็กที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอ เช่นการเสริมเหล็กระหว่างพื้นและเสา หรือระหว่างพื้นและกําแพงปล่องลิฟต์ หากทําไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอก็อาจทําให้โครงสร้างปราศจากการยึดรั้งระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ จนเป็นสาเหตุให้ ชิ้นส่วนต่างๆ หลุดแยกจากกัน แล้วทําให้โครงสร้างพังถล่มลงมาได้
4) การใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น คอนกรีตกําลังต่ํา เหล็กเสริมหรือลวดอัดแรงที่ด้อยคุณภาพ
5) ฐานรากวิบัติ บ่อยครั้งที่โครงสร้างถล่มมีสาเหตุมาจาก การวิบัติของฐานราก เช่น เสาเข็มหัก หรือเสาเข็มหนีศูนย์ ในลักษณะเช่นนี้ อาจสังเกตพบอาคารทรุดตัวหรือทรุดเอียงด้วย
“การป้องกันตึกถล่มระหว่างก่อสร้างจะต้องคํานึงถึงปัจจัยทั้ง 5 ข้อข้างต้นสําหรับการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่3 ชั้นขึ้นไป ถือว่าเป็นงานวิศวกรรมควบคุม การออกแบบและการก่อสร้างจะต้องมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งออกโดยสภาวิศวกร และวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างจะต้องประจําอยู่ ณ สถานที่ก่อสร้างตลอดเวลา” รองศาสตราจารย์ ดร.อมรกล่าวทิ้งท้าย
*******************************
*******************************